xs
xsm
sm
md
lg

ประชากรล้นโลกตามแนวคิด Thomas Malthus/สุทัศน์ ยกส้าน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ชาวอินเดียมาร่วมพิธีบูชาเทพเจ้า (STRDEL / AFP)
นักปรัชญาจีน Han Fei-Tzu ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล เคยเขียนบันทึกว่า ในสมัยโบราณประชากรจีนมีจำนวนไม่มาก และคนส่วนใหญ่มีฐานะดี จึงไม่มีใครเดือดร้อน นอกจากนี้ผู้คนก็มักคิดว่าการมีลูกชาย 5 คนยังนับว่าไม่มาก เพราะพ่อ-แม่สามารถเลี้ยงได้ แต่ถ้าลูกชายทุกคนมีลูก 5 คน จำนวนหลานของปู่-ย่าก็จะมีมากถึง 25 คน ปากท้องที่อดอยากก็มากขึ้น ทุกคนจึงต้องทำงานหนัก เพื่อหาเงินมาเลี้ยงสมาชิกทุกคน แต่ถ้าได้ผลตอบแทนน้อย ฐานะของทุกคนก็จะยากจน Han Fei-Tzu ได้กล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า คุณภาพชีวิตของผู้คนในชาติจึงขึ้นกับว่าประเทศมีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอหรือไม่ หาได้ขึ้นกับจำนวนประชากรไม่

นี่คือความคิดของปราชญ์จีนคนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องปริมาณการผลิตอาหาร และอัตราการเพิ่มจำนวนประชากร ซึ่งได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของจีน ในสมัยก่อนนั้นปราชญ์กรีก Aristotle ก็ได้เคยย้ำว่า มนุษย์จำต้องผลิตอาหารให้เพียงพอกับจำนวนคนในสังคม ดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่ชาติหนึ่งๆ จะมีเกษตรกรมากพอ เพราะถ้ามีกรรมกรหรือนายช่างมากจนเกินไป ทุพภิกขภัยก็จะมาเยือนชาตินั้นทันที

ความคิดของเหล่าปราชญ์โบราณนี้มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เพราะเมื่อ 10,000 ปีก่อนคริสตกาล ประชากรโลกมีเพียง 3 ล้านคน แต่เมื่อเริ่มปีคริสตศักราช ประชากรโลกได้เพิ่มเป็น 250 ล้านคน ในเวลาต่อมานักประชากรศาสตร์ก็ได้ประเมินว่า กราฟจำนวนประชากรกับเวลาได้ตั้งชันขึ้นๆ อย่างน่ากังวล เช่น ในปี 1800, 1930, 1960, 1974, 1987, 1999, 2011 และ 2024 จำนวนประชากรโลกมีมากเท่ากับ 1 พันล้าน, 2 พันล้าน, 3 พันล้าน, 4 พันล้าน, 5 พันล้าน, 6 พันล้าน, 7 พันล้าน และจะมากถึง 8 พันล้าน ตามลำดับ ถึงแม้เราไม่มีสถิติที่สมบูรณ์ของปริมาณการผลิตอาหาร แต่ก็รู้แก่ใจว่าปริมาณอาหารที่โลกผลิตได้ มิได้เพิ่มในอัตราเดียวกับจำนวนประชากร

อย่างไรก็ตามในอังกฤษ เมื่อ 200 ปีก่อนมีปราชญ์คนหนึ่งที่ได้ชี้นำให้โลกตระหนักในภัยที่จะบังเกิด ถ้าโลกมีเหตุการณ์ประชากรล้นโลก เขาชื่อ Thomas Malthus

Thomas Robert Malthus เกิดที่หมู่บ้าน Rookery แห่งเมือง Wotton ในแคว้น Surrey ของอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1766 (ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) บิดาเป็นเพื่อนสนิทของนักปรัชญาผู้มีชื่อเสียงชื่อ David Hume และ Jean Jacques Rousseau เพราะบิดาไม่พอใจวิธีสอนหนังสือของครูโรงเรียนในสมัยนั้น จึงจ้างครูมาสอนลูกชายเป็นการส่วนตัวที่บ้าน จนกระทั่ง Malthus อายุ 18 ปีจึงได้ไปเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่ Jesus College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยม

หลังจากที่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยสำคัญหลายชิ้น Malthus ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น Fellow ของวิทยาลัย จนกระทั่งอายุ 38 ปี ก็ได้เข้าพิธีสมรสกับ Harriet Eckersall ครอบครัว Malthus มีทายาท 3 คน

ในปี 1798 Malthus วัย 32 ปี ได้เสนอผลงานเขียนชื่อ “Essay on the Principle of Population” โดยไม่ได้ใช้ชื่อจริง แต่ใช้นามแฝง อีก 9 ปีต่อมาก็ได้เสนอรายงานประเด็นเดียวกันนี้เพิ่มเติม โดยมีข้อมูลกับรายละเอียดมากขึ้น และได้ปรับข้อมูล รวมทั้งแก้ไขแนวคิดเดิมที่ผิดพลาดทุกครั้ง รายงานทั้งหมดมี 6 ชิ้น โดยชิ้นสุดท้ายได้ปรากฏในปี 1826 และมีทั้งหมด 23 บท ครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น การเช่าที่ดิน การทำเกษตรกรรรม กฎหมาย กำไรขาดทุน ค่าของเงินตรา และสถานการณ์การเมือง ฯลฯ

ผลงานทั้งชุดนี้ทำให้ Malthus มีชื่อเสียงโด่งดังมาก เพราะความคิดของ Malthus ขัดแย้งกับความคิดของนักปรัชญาชื่อดังเช่น Jean Jacques Rousseau และ William Godwin โดย Malthus อ้างว่าข้อสรุปของสองปราชญ์เรื่องประชากรไม่มีข้อมูลพื้นฐานใดๆ สนับสนุน และคนทั้งสองมองโลกในแง่ดีจนเกินไป Malthus คิดว่า จำนวนประชากรโลกมีแนวโน้มจะเพิ่มอย่างรวดเร็วกว่าปริมาณอาหารที่โลกจะผลิตได้ เพราะการผลิตอาหารจะเพิ่มปริมาณอย่างช้าๆ ในลักษณะอนุกรมเลขคณิต คือ 1, 2, 3, 4, 5 ... แต่จำนวนประชากรโลกเพิ่มแบบอนุกรมเรขาคณิต คือ 1, 2, 4, 8, 16, 32 ..... ดังนั้นในที่สุดโลกจะไม่สามารถผลิตอาหารให้ทุกคนบริโภคได้ ผลที่ตามมาคือ ประชาชนจำนวนมากจะใช้ชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น เพราะขาดอาหาร และอายุขัยของผู้คนจะสั้น และในที่สุดประชาชนจะทำสงครามสู้รบกัน และคนจำนวนมากจะเสียชีวิต เพราะโรคระบาดร้ายแรง ทำให้จำนวนประชากรของโลกลด แต่ถ้าประชากรไม่ล้นโลก ภาวะทุพภิกขภัยก็จะไม่บังเกิด และโลกก็จะปลอดสงครามเพราะผู้คนไม่แย่งอาหารกัน
นักเรียนอินเดียระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน (NARINDER NANU / AFP)
ที่มาของความคิดต่างๆ ที่ Malthus นำไปเขียนในหนังสือ เป็นประเด็นที่ได้มาจากการวิเคราะห์ถกเถียงกับบิดาของ Malthus เรื่องความสุขและความทุกข์ของผู้คนในสังคม บิดาเห็นพ้องกับ Condorcet และ Godwin ผู้เชื่อว่า โลกจะไม่มีวันประสบปัญหาใดๆ แต่ Malthus กลับมีความคิดเห็นตรงกันข้าม เพราะเขายืนยันว่า สังคมจะเป็นทุกข์ ถ้าโลกไม่มีการควบคุมจำนวนประชากร หลังจากที่ได้ยินและได้ฟังความคิดเห็นของลูกชาย บิดารู้สึกประทับใจในเหตุผลของ Malthus มาก จึงขอให้เรียบเรียงความคิดทั้งหมดลงเป็นบทความรวมเล่ม เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ ในที่สุดหนังสือ “Essay on the Principle of Population as it Affects the Future Improvement of Society” ที่มีชื่อจริงของ Malthus เป็นผู้เขียนก็ได้ทำให้คนอังกฤษทั้งประเทศรู้จัก Malthus เพราะลีลาการเขียนที่กระชับและแจ่มชัด ได้สร้างความฮือฮาและความตื่นเต้นในบรรดาคนอ่าน เมื่อทุกคนเริ่มตระหนักว่า ถ้าไม่มีการควบคุมจำนวนประชากร สังคมโลกก็จะไปไม่รอด หลายคนรู้สึกตกใจกลัวเรื่องนี้มาก บางคนได้บริภาษ Malthus อย่างสาดเสียเทเสียว่าทำให้ผู้คนกังวล และตกใจกลัวโดยใช่เหตุ

ผลที่ตามมาคือ นักวิชาการหลายคนคิดว่าชื่อ Malthus ที่ผู้เขียนใช้เป็นชื่อแฝง เพราะถ้าใช้ชื่อจริง คนเขียนจะถูกสังคมรุมประณาม บ้างก็อ้างว่า Malthus เป็นคนที่ ไม่เห็นด้วยกับการสมรส (ซึ่งจะเพิ่มประชากร) บางคนคิดว่า Malthus เป็นคนจงเกลียดจงชังเด็ก จึงไม่ต้องการให้โลกมีเด็กๆ แต่ในความเป็นจริง Malthus มีลูกถึงสามคน ดังนั้นเขาจึงเป็นคนรักเด็ก

กระนั้นความคิดของ Malthus เรื่องภัยประชากรล้นโลกก็ได้มีอิทธิพลต่อทฤษฎี ในวิทยาการหลายแขนง เช่น เศรษฐศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ชีววิทยา และนิเวศวิทยา ฯลฯ เช่นเมื่อ Charles Darwin ได้อ่านบทความ “On Population” โดยบังเอิญ วิธีคิดของ Malthus ได้จุดประกายให้ Darwin สร้างทฤษฎีวิวัฒนาการขึ้นมา ซึ่งมีหลักการว่า เฉพาะสัตว์ที่สุขภาพสมบูรณ์และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี จึงจะมีโอกาสรอดชีวิตได้มากที่สุด

กวี Lord Byron เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ชื่นชมวิธีคิดเรื่องภัยประชากรระเบิดของ Malthus ในบทกวีชื่อ Don Juan ที่ Byron แต่งในปี 1813 มีการกล่าวถึง Malthus ถึง 4 ครั้ง

เมื่อมีคนรักมาก ก็ย่อมมีคนที่เกลียดมาก บุคคลที่มีชื่อเสียงและต่อต้าน Malthus สุดๆ ได้แก่ Carl Marx ซึ่งได้กล่าวประณาม Malthus ว่า เขาคือทาสของระบบนายทุน และเป็นคนสอพลอที่ชอบเอาอกเอาใจคนรวย

ด้าน James Currie ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวที่มีบทบาทมากในการเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเลิกทาส กลับเห็นว่า Malthus เป็นคนฉลาดที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล

ในด้านบุคลิกส่วนตัว เพื่อนๆ ของ Malthus มีความเห็นว่า เขาเป็นคนมีชีวิตชีวา คือ มีอารมณ์ขัน หัวเราะเสียงดัง ชอบดูละคร ชอบคริกเกต เล่นสเก็ต และชอบเป็นครู ในยามว่างจากงานประจำ Malthus ชอบเขียนบทความเผยแพร่ความรู้สู่สังคม รวมทั้งได้เป็นผู้จัดตั้งสมาคม Political Economy Club และสมาคม London Statistical Society ในอังกฤษด้วย
 หญิงชาวจีนในปักกิ่งและลูก (FRED DUFOUR / AFP)
การมีผลงานวิชาการมากมายทำให้ Malthus ได้ครองตำแหน่งศาสตราจารย์เศรษฐศาสตร์การเมืองแห่ง East India College และได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม Royal Society (F.R.S.) เมื่ออายุ 54 ปี ในเวลาต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกต่างชาติของ Royal Society of Literature, French Institute และ Prussian Royal Academy

Malthus เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ.1834 ที่เมือง Claverton ในอังกฤษ สิริอายุ 68 ปี

ในช่วงเวลาที่ Malthus มีชีวิตอยู่ ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในโลกมากมาย เช่น อเมริกาประกาศเอกราชไม่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษอีกต่อไป ฝรั่งเศสมีการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ที่มีการสำเร็จโทษกษัตริย์ ชาวอังกฤษได้อพยพไปตั้งรกรากที่ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก จักรพรรดิ Napoleon ทรงกรีธาทัพบุกยุโรป เหล่านี้เป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก แต่ Malthus มิได้ระแวดระวังว่า ยุคอุตสาหกรรมกำลังจะอุบัติในยุโรป การคมนาคมทางเรือกับทางรถไฟก็กำลังจะเปิดโลก การล่าอาณานิคมในทวีปแอฟริกาทำให้อังกฤษมีดินแดนใหม่ที่สามารถให้ผลิตผลทางเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น จนภาวะประชากรอังกฤษจะขาดอาหารนั้นไม่เกิด ผลก็คือคำทำนายต่างๆ ของ Malthus ผิดพลาดหลายเรื่อง แต่ก็มีบางคำทำนายที่ถูก เช่น ในปี 1842 ซึ่งเป็นเวลา 8 ปี หลังจากที่ Malthus เสียชีวิต ชาวไอร์แลนด์จำนวนนับหมื่นได้ล้มตาย เพราะขาดแคลนมันฝรั่งจะบริโภค

เมื่อถึงยุค 1960 นักเศรษฐศาสตร์ และนักนิเวศวิทยาหลายคนได้หวนกลับมาเห็นความสำคัญของความคิดของ Malthus อีกคำรบหนึ่งว่า ถ้ารัฐบาลของชาติใดไม่ควบคุมจำนวนประชากร ภาวการณ์ความวุ่นวายจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถึงวันนี้ทุกคนรู้ว่า แนวคิดของ Malthus นั้นสามารถใช้ได้เฉพาะกับสิ่งมีชีวิตที่มีข้อจำกัดในวิธีหาอาหาร แต่มนุษย์เรามีวิธีสร้างและปรุงอาหารได้หลายรูปแบบ เช่น ใช้ปุ๋ยเพิ่มผลิตภัณฑ์การเกษตร ตัดต่อพันธุกรรม GMO และผลิตอาหารสังเคราะห์ซึ่งสามารถลดความรุนแรงของภาวะอดอาหารตายได้ ภัยต่างๆ ที่ Malthus กล่าวเตือนจึงไม่บังเกิดในทุกประเทศ กระนั้นรัฐบาลในบางประเทศก็ยังยึดถือหลักของ Malthus คือจำกัดจำนวนประชากรด้วยวิธีคุมกำเนิด และบางประเทศสามารถควบคุมจำนวนประชากรได้ดีเกินไป จนต้องอนุญาตให้ชาวต่างชาติอพยพเข้าประเทศ เพื่อมาทำงานด้านบริการ ฯลฯ

จีนเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ยึดหลักการคุมกำเนิดของประชากรอย่างแข็งขัน โดยได้ประการใช้กฎหมายบังคับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 ให้คู่สมรสจีนมีทายาทได้เพียงคนเดียว และตลอดเวลา 40 ปีที่ผ่านมาจีนอ้างว่า ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดจากการใช้นโยบายนี้ เพราะได้จำกัดให้จำนวนประชากรน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 400 ล้านคน และรัฐบาลจีนถือว่าถ้าใครฝ่าฝืนกฎหมายเหล็กนี้ สตรีท้องก็ถูกบังคับให้ทำแท้ง ซึ่งการทำทารกฆาตนี้ได้ทำให้จิตใจของคนที่เป็นพ่อ-แม่สลายไปหลายร้อยล้านคนแล้ว

ครั้นเมื่อนโยบายนี้ถูกนำไปปฏิบัติ การฆ่าทารกเพศหญิงก็ได้เกิดขึ้นบ่อย เพราะครอบครัวจีนชอบมีบุตรชายไว้สืบสกุล
ชาวอินเดียเบียดเสียดกันขึ้นรถไฟ (PRAKASH SINGH / AFP)
ในเวลาต่อมารัฐบาลได้อนุญาตให้ครอบครัวที่อาศัยอยู่ตามชนบทมีทายาทได้ 2 คน ถ้าลูกคนแรกของครอบครัวนั้นเป็นผู้หญิง เพื่อให้ลูก (ชาย) ที่หวังว่าจะเกิดตามมาช่วยบิดามารดาทำงานได้

ปัจจุบันนี้ผลที่เกิดตามมาคือ ประชากรจีนจำนวน 1,370 ล้านคนกำลังเป็นประเทศของคนชรา และผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง การมีครอบครัว (ระหว่างชาย-หญิง) จึงไม่สมดุล และจำนวนคนวัยทำงานก็ลดน้อยลงทุกปี

เพื่อจะปฏิรูปสังคม ในปี 2013 รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้ชาย-หญิงที่แต่งงานกัน สามารถมีลูกได้ 2 คน ถ้าชาย-หญิงคู่นั้นต่างเป็นลูกโทนของพ่อแม่ แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะมีคนเพียงจำนวนน้อยที่ยินดียอมรับเกณฑ์นี้

มาบัดนี้ (ปี 2016) รัฐบาลจีนได้ออกกฎหมายตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2015 อนุญาตให้คู่สมรสทุกคู่มีลูกได้ 2 คนแล้ว โดยไม่จำกัดเพศ เพื่อแก้ปัญหาขาดกำลังงานและสังคมคนชราที่กำลังตามมา ซึ่งจะทำให้จีนมีปัญหามากในอนาคตอันใกล้นี้

อินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ผู้คนกำลังประสบปัญหาอาหารขาดแคลน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่เกิดในชนบท และพ่อแม่ยากจน รายงานของ UNICEF แสดงว่า เด็กอินเดียที่แคระแกร็นเพราะขาดสารอาหารมีมากกว่า 40 ล้านคน เด็กเหล่านี้เมื่อเติบใหญ่จะเตี้ย อ่อนแอ สมองเชื่องช้า และล้มป่วยบ่อย ตามปกติเวลาเด็กที่ขาดอาหารคลอดออกมาจากครรภ์มารดา หมอจะให้อาหารพิเศษเพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และเมื่อประชากรอินเดียกำลังเพิ่มอย่างรวดเร็ว สหประชาชาติจึงคาดการณ์ว่า ภายในปี 2022 อินเดียจะมีประชากรมากกว่าจีน

ดังนั้นเมื่อการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนยากจนในอินเดียกำลังมีปัญหา และสตรีส่วนใหญ่มีฐานะยากจน อีกทั้งไม่รู้หนังสือ และมีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ (ผอม แห้ง แรงน้อย) และไม่มีความรู้ด้านโภชนาการ มารดาที่มีฐานะยากจนเหล่านี้จึงหันไปให้นมวัว และนมควายแทนนมแม่แก่ลูกที่ยังเล็ก ลูกจึงล้มป่วยบ่อย และเป็นสารพัดโรค ครอบครัวคนเหล่านี้จึงลำบากยากจน และจะยากจนไปชั่วลูกชั่วหลาน ในลักษณะเวียนว่ายตายไม่เกิดตลอดชีวิต

โดยสรุปการขาดอาหารจึงกำลังสร้างปัญหาให้แก่คนจนในอินเดีย เพราะอาหารในประเทศมีในปริมาณที่ไม่สมดุลกับจำนวนคนจนที่กำลังเพิ่มตลอดเวลา เหตุการณ์นี้จึงเป็นไปตามหลักการของ Malthus ทุกประการ

อ่านเพิ่มเติมจาก Population Malthus, His Life and Times โดย Patricia James จัดพิมพ์โดย Routledge and Kegan Paul ปี 1979

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น