xs
xsm
sm
md
lg

วงในชี้ “เครื่องพิมพ์ 3D” ปริ้นท์ปืนไม่ง่ายอย่างที่กฎหมายกลัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศิริลักษณ์ สังวาลย์วรวุฒิ (ขวา) พร่อมปะการังเทียมจากเครื่องพิมพ์สามมิติ และ นายสุพัฒ สังวรวงษ์พนา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ร่วมทีม
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มเมกเกอร์และผู้สนใจเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติ เมื่อ ครม.เห็นชอบในหลักการของประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องการจัดระเบียบการนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ หวั่นจะทำให้เทคโนโลยีแพงขึ้นปิดกั้นนักเรียน-นักศึกษาเข้าถึงได้ยากขึ้น ชี้การปริ้นท์อาวุธปืนอย่างที่กังวลไม่สามารถทำได้ง่ายๆ

คณะรัฐมนตรีเพิ่งมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 23 ก.พ.59 ที่ผ่านมา หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีมติเมื่อวันที่ 29 ก.ค.57 ให้กระทรวงพาณิชย์ไปพิจารณาถึงความจำเป็นในการออกประกาศ ควบคุมการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อป้องกันการนำมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมนั้น

จากการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์เห็นว่า เครื่องพิมพืสามมิตินำไปใช้ได้ทั้งทางบวกและทางลบ โดยในทางบวกสามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิศวกรรมและการออกแบบผลิตภัณฑ์ ในทางลบมีผู้นำไปผลิตวัตถุที่ผิดกฎหมายและวัตถุอันตราย เช่น อาวุธปืน ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงต้องกำกับ ดูแล ติดตามปริมาณนำเข้าและป้องกัน มิให้มีการนำเครื่องพิมพ์สามมิติไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมและขัดต่อกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม หลังมติ ครม.ออกมา ได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงไม่เห็นด้วยต่อกำหมายดังกล่าว โดยส่วนหนึ่งมองว่าจะเป็นการชะลอโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติที่กำลังพัฒนาและคาดว่าจะมีราคาถูกลงเรื่อยๆ ของผู้มีรายได้น้อย เช่น นักเรียน นักศึกษา หรืออาจทำให้คนเข้าถึงเทคโนโลยีได้น้อยลง ต่างจากสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมให้มีการใช้งานลงไปจนถึงระดับประถมศึกษา

ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร ผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติ และสมาชิกกลุ่มวิจัยอิสระด้านการบินและอวกาศไทย (TSR) ให้ความเห็นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า สำหรับเครื่องพิมพ์ที่เขาซื้อมาแล้วอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่คาดว่าจะมีปัญหาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะนักศึกษาที่ต้องการเครื่องราคาถูกมาใช้งาน ต้องขออนุญาตนำเข้า และจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยยังไม่มีการผลิตเครื่องพิมพ์สามมิติออกมา และการใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติปัจจุบันมีมากขึ้นโดยเฉพาะในหน่วยงานวิจัย

"เมื่อก่อนเครื่องหลายแสน ปัจจุบันหลักหมื่น สมมติเราต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ หรือ ชิ้นส่วนกลไก การเอาแบบที่เขียนมาดูจริงจัง ก็ใช้พลาสติกปริ้นท์ออกมาก่อนครับ ก่อนที่จะไปทำกับโลหะ ลองนึกถึงเมื่อก่อนมีใช้แค่ในโรงงานรถยนต์ แต่ปัจจุบันเด็กๆ มีของสิ่งเดียวกันใช้ จะสร้างสรรค์อะไรได้มากแค่ไหนครับ คือผมว่าคนที่จะเอาไปทำผิด เค้าไม่ถูกควบคุมหรอกครับ คนที่จะถูกควบคุมมีแต่คนดีๆ แล้วที่ว่าทำปืนได้ เหมือนประเด็นที่ไม่เข้าใจเอง ว่ามันต้องมีชิ้นส่วนโลหะผสมครับ พลาสติกอะไรจะทำปืนได้ 100% อีกอย่างกระสุนปืน ก็ไม่ได้หาง่ายๆ มีกฏหมายควบคุมอยู่แล้ว” ณัฐพงษ์กล่าว
เสาอากาศจากเครื่องพิมพ์สามมิติ
ในฐานะผู้ใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติ ณัฐพงษ์ยืนยันว่าพลาสติกที่พิมพ์ขึ้นนั้นไม่สามารถใช้งานแทนโลหะได้ ซึ่งการผลิตปืนจำเป็นต้องมีชิ้นส่วนที่เป็นโลหะ อีกทั้งเมื่อเทียบกับพลาสติกด้วยกันเองแล้ว พลาสติกที่ได้จากการพิมพ์มีความแข็งแรงน้อยกว่า จากประสบการณ์นั้นชิ้นส่วนที่ใช้งานจริงต้องแก้ไขการออกแบบซ้ำไปซ้ำมา กว่าจะได้ผลงานที่แข็งแรงพอใช้ได้ ส่วนการพิมพ์กระสุนยิ่งเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ปืนปากกาหาได้ง่ายกว่าแค่ใช้เครื่องกลึงทั่วไปก็ทำได้ โดยไม่ได้ต้องผ่านการเขียนแบบ CAD

นอกจากการพิมพ์ปืนแล้วเขานึกไม่ออกว่ายังใช้เครื่องพิมพ์ทำเรื่องไม่ดีอย่างอื่นอะไรได้อีก แต่ได้ยกตัวอย่างการใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อาทิ การพิมพ์ปากกาใช้เอง การผลิตแขนกล การผลิตหุ่นยนต์ การผลิตแขนเทียมและมือเทียม และเมื่อ 2 ปีก่อนเขาเคยนำเครื่องพิมพ์ไปให้เด็กในค่ายของสำนักงานด้านอวกาศแห่งหนึ่งของไทยใช้งาน โดยกำหนดโจทย์ให้ออกแบบยานอวกาศที่ไม่อันตรายกับวงจรภายใน ซึ่งเด็กๆ ใช้เวลาเพียง 1 คนพิมพ์ตัวยานออกมา หากเทียบกับเมื่อก่อนแล้วต้องใช้เวลาสร้างแบบและหล่อเรซิ่นกันนานเป็นสัปดาห์

"อ้อ ในวงการอาหารก็เริ่มเอามาใช้แต่งหน้าเค้กแล้วนะครับ ทางการแพทย์นี่ มีคนคิดปริ๊นอวัยวะ หรือเนื้อเยื่อกันแล้วด้วย คือถ้ารัฐจะออกกฎหมายคุม ผมกลัวอีกเรื่องคือก้าวไม่ทันเทคโนโลยีแล้วจะดักเราไว้ อย่างเรื่องคลื่นความถี่ของเราช้ากว่าคนอื่นเขา ส่วนหนึ่งเพราะกฏหมายที่มันไม่เอื้ออำนวยด้วย แต่กฎหมายก็มีสาระอยู่ว่านำเข้าต้องแจ้ง แจกจ่าย ขายไปไหน ต้องแจ้ง ใครครอบครอง แล้วก็ต้องแจ้งก่อนนำเข้าด้วย หรือว่าเค้าจะกระตุ้นให้คนไทย ทำเอง ใช้เอง?” ณัฐพงษ์ทิ้งท้ายด้วยคำถามถึงด้านดีของกฎหมาย

ทางด้าน ทศพร เวชศิริ ซึ่งประกอบธุรกิจส่วนตัวและเป็นหนึ่งใน “เมกเกอร์” หรือกลุ่มคนที่ชอบประดิษฐ์สิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ให้ความเห็นต่อระเบียบดังกล่าวว่า หลังจากลองอ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าเป็นฉบับจริงหรือไม่ แต่ก็มองได้ 2 มุม มุมหนึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคาเครื่องพิมพ์สูงขึ้นจนกลุ่มคนที่สนใจการพิมพ์สามมิติลดลงหรือเลิกเล่นไปเลย และคนขายน้อยลง อีกมุมหากกฎหมายไม่หยุ่มหยิ่มเกินไป ก็คิดว่าผู้ประกอบการในไทยก็น่าจะขายเครื่องพิมพ์ได้บ้าง

ในฐานะเมกเกอร์เขามองว่าเครื่องพิมพ์สามมิตินั้นเป็นของคู่กันกับเมกเกอร์ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ โดยเฉพาะการสร้างต้นแบบ ซึ่งเหมาะกับธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นและมีขนาดเล็ก ช่วยให้ไม่ต้องพึ่งการสร้างต้นแบบจากโรงงานใหญ่ๆ แต่ในมุมส่วนตัวเขาไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ เพราะไม่แน่ใจว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำไปใช้โดยเจ้าหน้าที่เพื่อสนองผลประโยชน์ของตัวเองหรือไม่

ส่วน ศิริลักษณ์ สังวาลย์วรวุฒิ นักศึกษาปี 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียนนักศึกษา โครงการประกวดออกแบบผลงานจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ Enjoy Science: Let's Print the World ให้ความเห็นแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า แนวโน้มเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติน่าจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะถูกลง แต่ระเบียบที่ออกมาน่าจะทำให้เทคโนโลยีแพงขึ้น นักเรียนนักศึกษาก็จะเข้าถึงยาก

ศิริลักษณ์บอกว่าเครื่องพิมพ์สามมิติช่วยการเรียนสถาปัตย์ได้มาก โดยเฉพาะงานบางอย่างที่การทำมือทำได้ไม่ละเอียดพอ ซึ่งนักศึกษาปี 5 ไปจนถึงปริญญาโทใช้งานเครื่องพิมพ์สามมิติกันเป็นเรื่องปกติ หรือแม้แต่เธอเองก็ยังใช้งานในกรณีที่งานทำมือแพงกว่าหรือละเอียดไม่พอ อีกทั้งยัวช่วยให้ต้นทุนบางอย่าง เช่น ต้นแบบมีราคาถูกลง ถ้าทำออกมาไม่ดีก็เพียงแค่แก้แบบแล้วสั่งพิมพ์ใหม่ แต่ระเบียบที่จะออกมานี้คาดว่าจะทำให้ราคาสูงขึ้น แล้วส่งผลกระทบไปด้านอื่นๆ

พร้อมกันนี้กลุ่มเมกเกอร์ยังได้นัดรวมตัวกันครั้งแรก ณ ห้องประชุม Auditorium CO-113 ชั้น 1 อาคารสำนักงานกลาง สวทช. (รังสิต) ในชื่อ MAKERHOLIC : Maker Meetup #1 วันที่ 25 พ.ย.59 เวลา 09.30-16.30 น. พร้อมทั้งการเสวนาอภิปรายถงผลกระทบจากการจัดระเบียบเครื่องพิมพ์สามมิติด้วย
ณัฐพงษ์ วงศ์เฟื่องฟูถาวร
////////////////////////////////////////////
ตัวอย่างผลงานพิมพ์สามมิติ
http://www.thingiverse.com/thing:539127

ในส่วนสาระสำคัญของร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์นั้น กำหนดคำนิยามของ “เครื่องพิมพ์สามมิติ” และกำหนดให้เครื่องพิมพ์สามมิติเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนี้

1.ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติไว้กับกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่กรมการค้าต่างประเทศมอบหมาย

2.จดแจ้งการนำเข้าก่อนวันที่นำเข้าก่อนวันที่นำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติไว้กับกรมการค้าต่างประเทศหรือหน่วยงานอื่นที่กรมการค้าต่างประเทศมอบหมาย และนำแบบรับจดแจ้งไปแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบการนำเข้ามาในราชอาณาจักร

3.รายงานการนำเข้า การครอบครอง และการจำหน่ายจ่ายโอนเครื่องพิมพ์สามมิติต่อกรมการค้าต่างประเทศ








เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น