xs
xsm
sm
md
lg

ชวนใช้ความต่างสร้างนวัตกรรมเพิ่มคุณค่า "ข้าวไทย"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ดร.ขวัญใจ โกเมศ, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ และน.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์
สนช. จับมือ มูลนิธิข้าวไทย- สอว. ชวนประกวดนวัตกรรมเพิ่มคุณค่าข้าวไทยรับ AEC ผอ.สนช.ชี้ อยากเห็นนวัตกรรมข้าวไทยเป็นได้มากกว่าอาหาร ชวนสร้าง “ความแตกต่าง” ด้วยการผลิตยา-เครื่องสำอาง-ผลิตภัณฑ์ย่อยสลายที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้หลายสิบเท่า เปิดรับสมัครถึง 1 เม.ย. ถึง 31 ก.ค. นี้

มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) จัดแถลงข่าว “การจัดประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2559” ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ “ข้าวไทย” เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 59 ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ถ.พระราม 6 กรุงเทพฯ

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิข้าวไทยฯ และสนช. ได้ร่วมกันจัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันก้าวสู่ปีที่ 10 เพื่อคัดเลือกผลงานนวัตกรรมข้าวไทยที่มีความโดดเด่นและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ นับจนถึงปัจจุบันมีผู้ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 340 ผลงาน และมีผลงานที่ได้รับรางวัล 43 ผลงาน แบ่งเป็นผลงานด้านอาหารจำนวน 25 ผลงาน และผลงานที่ไม่ใช่อาหารจำนวน 18 ผลงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนไทยสนใจสร้างผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าข้าวในประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะปัจจุบันภายใต้การแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่สูงขึ้นเราจะหวังส่งออกข้าวในรูปแบบวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอาศัยการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าประเทศจึงจะอยู่รอด

“แรกๆ ของการประกวด นวัตกรรมส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของกินหมดซึ่งก็ดีทำให้เราได้เห็นข้าวในรูปแบบที่เปลี่ยนไป จนมาช่วง 5-7 ปีหลังที่ได้เห็นนวัตกรรมแปลกๆ เช่น เอาข้าวมาผลิตเป็นแผ่นซับเลือดในการผ่าตัดที่สามารถเย็บปิดในร่างกายคนแล้วจะย่อยสลายไปเอง หรือแม้แต่เครื่องสำอางจากข้าว อันนี้เราตื่นเต้นมากเพราะมันเป็นการพิสูจน์ว่าข้าวไปได้อีกไกล ซึ่งผมก็อยากสนับสนุนการทำนวัตกรรมในรูปแบบนี้ให้มากๆ เพราะช่วยเพิ่มมูลค่าข้าวจากได้อีกมหาศาล และนอกจากเราจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ดีๆ แล้ว ชาวนาก็จะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์เต็มๆ ในปีนี้ก็เป็นที่น่ายินดีที่เราได้พันธมิตรใหม่อย่าง สอว.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐในภาคการศึกษาเข้ามาช่วยอีก ผมจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีที่ 10 ของเวทีนวัตกรรมข้าวไทยเราจะได้เห็นของน่าสนใจที่เกิดจากการนำข้าวมาเพิ่มคุณค่าด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์” ดร.สุเมธ กล่าว

ด้าน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมาของการจัดประกวด สนช.ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ทำนวัตกรรมจากข้าวไปแล้วมากกว่า 50 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนประมาณ 50 ล้านบาท ที่ก่อให้เกิดการลงทุนรวมกว่า 390 ล้านบาท ซึ่งนอกจากเม็ดเงินการลงทุนที่เป็นรูปธรรมแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ สนช.สร้าง คือความเข้าใจในบริบทของนวัตกรรมที่ค่อยๆ แทรกซึมเข้ามาในสังคมจนในช่วง 10 ปีหลัง คำว่านวัตกรรม ไม่ใช่คำใหม่อีกต่อไปและยังมีบทบาทในสังคมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปีนี้ สนช.ได้ตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับนวัตกรรมข้าวในรูปแบบใหม่ จากเดิมที่เป็น “การเพิ่มมูลค่าข้าว” เป็น “การสร้างคุณค่าข้าว”เพราะเล็งเห็นว่านวัตกรรมหนึ่งจะอยู่ในสังคมได้อย่างยั่งยืนต้องอยู่ด้วยความมีคุณค่า จึงต้องการที่จะเห็นนวัตกรรมข้าวในรูปแบบใหม่ๆ ที่มีคุณค่าในตัวเอง, มีการสร้างมูลค่าเพิ่ม และที่สำคัญมีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่เชิงพาณิชย์

“ในแต่ละปีมีผู้ส่งผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทุกปีโดยสัดส่วนของนวัตกรรมที่เป็นอาหารจะลดลงเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีคู่แข่งมากและสร้างมูลค่าเพิ่มได้น้อย ทำให้ผมค่อนข้างเชียร์การนำข้าวมาสร้างคุณค่าด้วยการนำมาผลิตเป็นวัสดุย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ หรือเพิ่มมูลค่าไปอีกขั้นเลยด้วยการทำเป็นเครื่องสำอางและยา โดยเฉพาะเครื่องสำอางผมเห็นเทรนด์กำลังมาแรงมาก เพราะสวนหนึ่งคนก็เริ่มหันมารักสุขภาพ รักตัวเองมากขึ้น ในขณะที่ข้าวของเราก็มีสรรพคุณหลากหลาย และตลาดเครื่องสำอางในประเทศก็ค่อนข้างใหญ่มีมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว อย่างไรก็ดีเราเปิดรับทุกความคิดทุกนวัตกรมเกี่ยวกับข้าวขอเพียงแค่ส่งเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มผู้เริ่มทำธุรกิจใหม่ผลงานของใครที่เข้าท่าเราพร้อมสนับสนุน แล้วก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารางวัลนวัตกรรมข้าวไทยจะเป็นรางวัลใหญ่ที่น่าจับตามองในงานสัปดาห์นวัตกรรมแห่งชาติ ที่จะจัดขึ้นในเดือน ต.ค. ที่จะถึง และวันนี้เรายังได้นำเอาผลงานนวัตกรรมข้าวไทยบางส่วนจากปีที่แล้วมาจัดแสดงให้ได้ชมด้วย” ผอ.สนช. กล่าว

ในส่วนของ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.). กล่าวว่า สอว. เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีบทบาทและภารกิจในการหลักในการสนับสนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการวิจัยรวมถึงการสร้างผู้ประกอบการฐานวิทยาศาสตร์ให้สามารถผลักดันงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยปัจจุบันมีเครือข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคจำนวน 13 มหาวิทยาลัย และมีแผนงานการมุ่งเน้นงานวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมข้าวตลอดห่วงโซ่มูลค่าเพิ่ม การเข้าร่วมในการสนับสนุนการประกวดฯ ครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้รู้จักกับ สอว. และเข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ซึ่ง สอว.ก็มีศักยภาพพร้อมให้บริการ ทั้งในส่วนของห้องปฎิบัติการ บุคลกรที่มีความรู้ความสามารถ เครื่องไม้เครื่องมือ หรือแม้กระทั่งการออกแบบทรัพย์สินภูมิปัญญา

“สอว.ทำงานกับผู้ประกอบการอยู่แล้ว ทั้งภาคเหนือ, อีสานและใต้ใน 13 มหาวิทยาลัย เราสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 40 ราย โดยเฉพาะวิสาหกิจทางภาคเหนือและอีสานกว่า 30% ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ข้าว การเข้าร่วมครั้งนี้เราจึงเป็นทั้งผู้ชักนำให้ผู้ประกอบการนำผลงานมาเข้าประกวด และยังเป็นการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักกับอุทยานวิทยาศาสตร์มากขึ้น สำหรับความเป็นไปได้ของนวัตกรรมข้าวส่วนตัวมองว่าไม่ว่าจะเป็นของกิน หรือของอื่นๆ ก็มีโอกาสเติบโตได้หมด อยู่ที่การสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมอาหารจะออกขายได้ง่ายกว่า เพราะทุกคนต้องกิน แต่ก็ต้องแข็งแรงมาก มีความเป็นเอกลักษณ์มากจึงจะอยู่รอด ฉะนั้นการจะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาสักชิ้น จึงต้องเริ่มจากการสำรวจตลาดไม่ใช่การสร้างจากความคิดส่วนตัว แล้วจึงนำมาพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ให้ได้มาตรฐาน ซึ่งเรายินดีที่จะให้คำแนะนำ” ผอ.สอว. กล่าวทิ้งท้าย

***สำหรับผู้สนใจส่งผลงานนวัตกรรมข้าวเข้าประกวด ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.thairice.org และส่งใบสมัครพร้อมเอกสารประกอบไปที่

มูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อาคารวิจัยและพัฒนา ชั้น 3 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. 10900
โทร.0-2942-7620, 0-2942-7626 โทรสาร.0-2942 7621
e-mail: rireffoundthailand@thairice.org ภายในที่ 31 ก.ค.59

ทั้งนี้รางวัลจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรม และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน โดยใช้เกณฑ์การตัดสินความเป็นนวัตกรรมของผลงาน การสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวไทย และศักยภาพในการพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท
รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และอันดับสองได้เงินรางวัล 40,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ และรางวัลชมเชยจำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท
สำหรับในปีนี้ จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่ 1 เม.ย.- 31 ก.ค. 59
ดร.ขวัญใจ โกเมศ, ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล, ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ และ น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์
ตรีมบำรุงผิวหน้าจากข้าว
น้ำนมข้าว
อุพร้อมดื่ม
เอแคลร์และแป้งทำขนมจากข้าวไรซ์เบอร์รี่
โฟมล้างหน้าและครีมทาหน้าจากข้าว
นวัตกรรมแป้งข้าวไฮโดรโฟบิค
สีผ้าบาติกแบบอัดเม็ด
นวัตกรรมจากข้าวที่นำมาจัดแสดง
นวัตกรรมจากข้าวที่นำมาจัดแสดง







เพิ่มมูลค่าพลอยเกรดต่ำด้วย "ลำไอออน" เทคโนโลยีอนุภาคความร้อนต่ำพลังงานสูงทางเลือกใหม่เอาใจคนรักอัญมณี ให้ประสิทธิภาพดีกว่าการเผา "ใสกว่า-สีสดกว่า-ทุ่นเวลา-ไม่ทำให้พลอยแตก" เพิ่มราคาเศษพลอยไร้ค่าได้ 10 เท่า อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #mgrscience #manageronline #jewelry #ion #chiangmai #university

A photo posted by AstvScience (@astvscience) on



กำลังโหลดความคิดเห็น