สนช.จับมือ กสท.และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย ใช้ไอทีนำร่องสร้าง "ราชเทวีดิสทริค" เป็นนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของกรุงเทพฯ ยกตึกสนช.เป็นศูนย์กลาง พร้อมยกระดับพื้นที่ 1 กม.รอบข้างเป็นศูนย์กลางเมืองสุขภาพอัจฉริยะ
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสมาคมสมองกลฝังตัวไทย แถลงข่าวความร่วมมือพร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ “IOT City Innovation Center” เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things (IOT) เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2559 ณ อาคารอุทยานนวัตกรรม สนช. ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในพิธี
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ เป็นโครงการที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างสมดุลเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งเน้นการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงพื้นที่ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาเป็นตัวขับเคลื่อนแนวทางการบริหารจัดการเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่ความเป็นเมืองเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์และบริการของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ (Startups)
เพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน สนช.จึงริเริ่มโครงการ “ศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ” ขึ้นโดยได้รับความร่วมมือกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และสมาคมสมองกลฝังตัวไทยในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เช่น เทคโนโลยี Internet of Things (IOT), เทคโนโลยีระบบประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) และเทคโนโลยีการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการนวัตกรรมรายใหม่ในอุตสาหกรรม ที่ถือเป็นฟันเฟืองหลักที่จะทำให้เมืองเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยในโครงการนี้ได้กำหนดให้อาคารอุทยานนวัตกรรมเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะที่จะขยายผลไปสู่การสร้างเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของกรุงเทพฯ อย่าง “ราชเทวีดิสทริก” (Ratchathewe District) หรือบริเวณพื้นที่รอบๆ อาคารอุทยานนวัตกรรมในระยะรัศมี 1 ตารางกิโลเมตร โดยมุ่งเน้นให้เมืองมีคุณลักษณะ 3 หลักได้แก่ เมืองสุขภาพอัจฉริยะเพราะรอบข้างแวดล้อมไปด้วยสถานพยาบาลและศูนย์สุขภาพกว่า 10 แห่ง, เมืองอินเทอร์เน็ตอัจฉริยะด้วยการสนับสนุนอินเทอร์เน็ต ไวไฟ ระบบสื่อสาร ระบบกริดความเร็วสูง และระบบรัฐบาลอัจฉริยะเพราะรอบข้างแวดล้อมไปด้วยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ โดยจะเน้นหนักไปที่ด้านสุขภาพมากที่สุด ผ่านส่งเสริมให้เกิดการจัดระบบลงทะเบียนรักษาพยาบาลแบบออนไลน์, ส่งเสริมให้มีการถ่ายโอนข้อมูลทางการแพทย์ระหว่างประเทศด้วยอินเทอร์เน็ตควมเร็วสูง ไปจนถึงการวิจัยร่วมกันระหว่างแพทย์แWละนักวิจัยของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
สำหรับรูปแบบความร่วมมือ ดร.พันธุ์อาจ เผยว่า สนช.มีหน้าที่สนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีรายใหม่ที่พิจารณาแล้วว่าธุรกิจมีประสิทธิภาพและสามารถเติมเต็มเมืองอัจฉริยะได้จำนวน 50 ราย โดยจะดูแลตั้งแต่การให้ความรู้ การวางแผนธุรกิจ การให้เงินทุนสนับสนุน ซึ่งในส่วนนี้ สนช.มีงบประมาณสนับสนุนประมาณ 200 ล้านบาท
และสนับสนุนพื้นที่อาคารอุทยานนวัตกรรมเพื่อจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (IOT City Innovation Center) ที่ทำหน้าที่คล้ายศูนย์บ่มเพาะธุรกิจให้กับบรรดาผู้ประกอบการขั้นต้น โดยจะเปิดพื้นที่บริเวณชั้น 2 และ 3 ของอาคารอุทยานนวัตกรรมให้เหล่าผู้ประกอบการเริ่มต้นหรือผู้ที่สนใจมาลงทะเบียนเพื่อขอใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือวางแผนธุรกิจได้ด้วย หรือหากต้องการคำแนะนำก็สามารถติดต่อนักวิชาการจากหน่วยงานพันธมิตรที่ประจำอยู่ในศูนย์เพื่อขอคำแนะนำได้ โดยคาดว่าใน 1 ปีแรก จะมีผู้ใช้บริการ 6,000 คน และมีผู้เข้าอบรมกว่า 1,000 คน
ด้าน พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัท และรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กสท. จะสนับสนุนศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะโดยการเชื่อมต่อโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศเสถียรภาพสูง ทั้งระบบอินเทอร์เน็ตไวไฟ สำหรับ 100 Users, ระบบประชุมผ่านเว็บจำนวน 10 คู่สัญญา, ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง, ระบบความปลอดภัยไอที รวมไปถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับ 30 โครงการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะฯ แบบครบวงจรซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการดำเนินงานในเมืองอัจฉริยะ เพื่อให้สามารถรองรับการทำงานของกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมมูลค่าการสนับสนุน 15 ล้านบาทต่อปี ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี
ในส่วนของ ดร. วีระเชษฐ์ ขันเงิน นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ TESA กล่าวว่า สมาคมสมองกลฝังตัวไทยมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และไอซีที ทั้งด้านพัฒนาบุคลากรจากภาคการศึกษาเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาด้านเทคโนโลยีระบบสมองกลฝังตัวและเทคโนโลยี Internet of Things (IOT) อยู่แล้ว ความร่วมมือในครั้งนี้สมาคมจึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนการบ่มเพาะธุรกิจนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการนวัตกรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ผ่านการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีเชิงลึกในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐานสากลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันกับต่างประเทศ
"โครงการนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะที่ราชเทวีดิสทริกไม่ใช่ที่แรก เพราะก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน ก็ได้มีการนำร่องทำในพื้นที่ อ.บางแสน จ.ชลบุรี ในแง่เมืองสุขภาพและเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะแล้ว ซึ่งขณะกำลังไปได้สวยและกำลังจะขยายผลต่อไปในพื้นที่พัทยา เราจึงค่อนข้างมั่นใจว่าการดำเนินงานที่ราชเทวีดิสทริกจะประสบความสำเร็จ โดยในช่วงปีแรกจะเป็นการเจรจากับเจ้าของพื้นที่ ประชาสัมพันธ์โครงการแก่ประชาชน สอบถามความต้องการของเมืองว่าต้องการโซลูชั่นอะไรมาช่วยแก้ไขปัญหา และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ได้มานำเสนอนวัตกรรมหรือโซลูชั่นที่สอดคล้องกันสำหรับพัฒนาเมือง โดยคาดว่าจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี" ผอ.สนช.กล่าวทิ้งท้าย