“พิพิธภัณฑ์วิทย์ของเขาล้ำจริงๆ นะ” ห้วงความคิดหนึ่งขณะทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์กำลังก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ในตึกทรงดอกบัวของสิงคโปร์ ซึ่งกำลังจัดแสดง “นิทรรศการโนเบล : ความคิดเปลี่ยนโลก” จากสวีเดนแบบครบครัน
สิงคโปร์เป็นอีกประเทศหนึ่งที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เพราะสิงคโปร์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม, มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ทันสมัย อีกทั้งยังใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 2 ชั่วโมงจากประเทศไทย ทว่าน้อยคนนักที่ตั้งใจไปสัมผัสพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของแดนลอดชอง ทั้งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง
ในโอกาสที่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เดินทางไปเยือนสิงคโปร์ เราจึงไม่พลาดที่เก็บภาพบรรยากาศและความรู้จากพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ (ART SCIENCE MUSEUM) ของสิงคโปร์มาฝาก ซึ่งพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวจัดแสดงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ควบคู่กับความงามทางสถาปัตยกรรม สอดคล้องกับคำนิยมของพิพิธภัณฑ์ประโยคหนึ่งที่เขียนไว้ว่า “วิทยาศาสตร์และศิลปะเป็น 2 สิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง”
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของสิงคโปร์ตั้งอยู่ในอาคารทรงดอกบัวสีขาวนวลดูล้ำสมัย เจ้าหน้าที่พร้อมให้ข้อมูลแก่ทุกคนที่เดินทางเข้าไปเยือน โดยมีค่าบัตรเข้าชมอยู่ที่ 15 สิงคโปร์ดอลลาร์หรือราวๆ 400 บาท และช่วงที่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้เยี่ยมชมนั้นมีนิทรรศการพิเศษเรื่อง “ความคิดเปลี่ยนโลก” (The Nobel Prize: Idea Changing the World) จัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์หลัก
ก่อนเข้าชมพิพิธภัณฑ์มีเจ้าหน้าที่ตรวจตั๋วเข้าชม พร้อมแนะนำรายละเอียดต่างๆ ก่อนจะส่งเราเข้าสู่ห้องมืดเพื่อความดื่มด่ำในรสแห่งวิทยาศาสตร์ ก่อนที่แสงสว่างบนหน้าจอฉายภาพจะดึงดูดให้เราเดินเข้าไป ส่วนแรกที่เราได้ชมเป็นส่วน “ความหวังของโนเบล” หรือ นายอัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) นักวิทยาศาสตร์ผู้ริเริ่มการมอบรางวัลให้แก่นัก วิทยาศาสตร์ผู้ทรงความสามารถในรูปแบบของ “รางวัลโนเบล”
นิทรรศการถ่ายทอดความเป็นมาของรางวัลโนเบลแบบคร่าวๆ ผ่านสมุดจดบันทึกของนายโนเบลที่เขียนไว้ก่อนเสียชีวิตในปี ค.ศ.1896 ว่า อยากนำเงินที่เขาได้จากการลงทุนทางอุตสาหกรรมมอบให้แก่นักวิทยาศาสตร์ ที่คิดค้นเรื่องใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติ
ส่วนถัดมาเป็นส่วนของ “โนเบลในชีวิตประจำวัน” ที่ได้รวบรวมเอานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับรางวัลโนเบล ซึ่งถูกนำไปใช้เพื่อช่วยหรือเปลี่ยนชีวิตของชาวโลกนับล้านคนในชีวิตประจำวัน เช่น มุ้งป้องกันมาลาเรีย, สีย้อมกางเกงยีน, ถุงยังชีพ, ถุงให้เลือด, กระป๋องสเปรย์ ไปจนถึงนวัตกรรมทางอาหารที่ใช้หล่อเลี้ยงปากท้องประชากรโลกในปัจจุบัน เช่นเดียวกับห้องถัดไปที่ได้ยกตัวอย่างผลงานการศึกษาสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ รางวัลโนเลมาจัดแสดง
ยกตัวอย่างด้วยการศึกษาไรโบโซมของ เวนคาตรามัน รามาคริสซนัน และอาดา โยนาธ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 2009 จากการศึกษาโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของไรโบโซม โดยไรโบโซมเป็นโครงสร้างซับซ้อนที่อยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต มีหน้าที่สำคัญในการสร้างโปรตีน โดยเวลาที่ไรโบโซมต้องการสร้างโปรตีนมันจะทำตัวยุ่งเหยิงเพื่อจับกับกรดอะมิโนเพื่อสร้างโซ่ยาวสำหรับนำโปรตีนเข้าไปซ่อมแซมส่วนที่เสียหายและทำปฏิกิริยาเคมีโดยตรง
อีกตัวอย่างรางวัลโนเบลที่คนทั่วโลกรู้จักกันดีอย่าง ยาเพนนิซิลลิน ก็ได้ถูกนำมาจัดแสดงให้ได้รู้จักด้วย ยาชนิดนี้เป็นผลงานการคิดค้นของ อเล็กซานเดอร์ เฟรมมิง ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ เมื่อปี 1945 โดยเขาได้ค้นพบยาเพนนิซิลลินเข้าโดยบังเอิญภายในห้องปฏิบัติการเล็กๆ ของเขา จากการเจริญของราที่เติบโตขึ้นในจานทดลองซึ่งสามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียโดยรอบได้ในทันที โดยในส่วนนี้ผู้ชมสามารถเลือกที่จะเดินเข้าไปชมพร้อมอ่านข้อมูลกำกับได้ที่ตู้กระจก หรือจะเลือกยืนอ่านผ่านจอคอมพิวเตอร์ที่ตั้งเรียงรายอยู่ก็ได้ เพราะภายในคอมพิวเตอร์มีโปรแกรมและการนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลโนเบลไว้อย่างทันสมัย สวยงาม น่าประทับใจ
เดินถัดไปเป็นส่วนแสดงดั่งหอเกียรติยศของนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งแนะนำให้เราได้รู้จักกับนักวิทยาศาสตร์ผู้ได้รับรางวัล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านจอภาพขนาดใหญ่ ที่จะเรียงหน้ากันเข้ามาทีละ 3 คน แต่ถ้าเราสนใจที่จะรู้จักประวัติส่วนตัว หรือผลงานของนักวิทยาศาสตร์คนใดเป็นพิเศษก็สามารถสัมผัสที่คอมพิวเตอร์เพื่ออ่านข้อมูลนั้นๆ ได้ ซึ่งในบริเวณเดียวกันนี้ยังได้จัดแสดงให้เรารู้จักกับ ซิดนีย์ เบรนเนอร์ (Sydney Brenner) ปรมาจารย์ด้านอณูชีววิทยา (Molecular Biology) ชาวแอฟริกาใต้เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ปี 2545 ผู้ศึกษาหนอนตัวกลมซีอิลลิแกนซ์ ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยทางชีววิทยาในประเทศสิงคโปร์และสร้างคุณูปการ จนทางการของประเทศสิงคโปร์แต่งตั้งให้เป็นผู้ทรงเกียรติและได้รับสัญชาติสิงคโปร์
ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการโนเบลความคิดเปลี่ยนโลก เป็นการนำเหรียญทองโนเบลของจริงมาจัดแสดงในตู้กระจก ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นของหาดูได้ยาก โดยภายในตู้ยังได้จัดแสดงสมุดบันทึกของโนเบลและข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างครบครัน แต่ด้วยลายมืออันแสนหวัดของโนเบลตั้งแต่เมื่อประมาณ 120 ปีก่อน ทีมข่าวจึงไม่สามารถอ่านเพื่อทำความเข้าใจ แต่ก็สัมผัสได้ว่าเป็นบันทึกที่รงคุณค่า อีกแล้วหนึ่งของโลกทีเดียว
แม้นิทรรศการนี้จะค่อนข้างเหมาะสำหรับผู้ใหญ่ และจัดแสดงเรื่องราวที่ค่อนข้างยากต่อการทำความเข้าใจอยู่พอสมควร แต่เมื่อเดินเข้าไปเรื่อยๆ เราจะได้พบกับโซนสดใสสำหรับเยาวชนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มาบอกเล่าจินตนาการของตัวเองลงบนกระดาษโพสอิท ว่ามีแนวความคิดอะไรที่อยากจะให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตบ้าง ซึ่งก็มีเด็กเล็กๆ รวมไปถึงผู้ใหญ่ร่วมแสดงแนวคิดลงบนกระดาษโพสอิทกันจนเต็มกำแพง ในส่วนเดียวกันยังมีมุมให้เด็กๆ ได้มานั่งวาดรูประบายสีตามจินตนาการด้วยแผ่นกระดาษและดินสอสีไม้ที่ พิพิธภัณฑ์จัดวางไว้ให้เล่นอย่างอิสระ หรือจะเลือก ต่อเลโก้เป็นจักรวาลของตัวเองตามจินตนาการก็ได้
สำหรับการเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ของสิงคโปร์นั้น แนะนำให้ใช้รถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีเบย์ฟรอนท์ (bayfront) และใช้ทางออก B, C และ D ซึ่งจะมีป้ายบอกทางไป “Art Science Museum” อยู่เป็นระยะ โดยตัวอาคารจะตั้งอยู่ด้านข้างร้านหลุยส์ วิตตอง สามารถสังเกตได้ง่ายตลอดแนวฝั่งมาริน่าเบย์