สดร.คาดเหตุการณ์ลำแสงสีขาวพาดผ่านเหนือฟ้าเมืองไทยในช่วงเช้าของวันที่ 2 ม.ค.59 เป็นขยะอวกาศจากชิ้นส่วนจรวดรัสเซีย ไม่มีอันตรายและผลกระทบต่อโลก และวันเดียวกันยังมีปรากฏการณ์ "เมฆหางเครื่องบิน" ซึ่งเป็นคนละเหตุการณ์
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่าในช่วงเช้าของวันที่ 2 ม.ค.59 ประชาชนสังเกตเห็นลำแสงสีขาวพาดผ่านท้องฟ้าเมืองไทย ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งเชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง พะเยา ตาก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ชัยนาท อยุธยา ศรีสะเกษ เลย หนองควาย มหาสารคาม ฯลฯ
ลำแสงดังกล่าวมีลักษณะเป็นลำฝุ่นสีขาวหางยาวๆ เคลื่อนที่อย่างช้าๆ มีประชาชนสามารถบันทึกภาพได้ ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และส่งต่อกันผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างแพร่หลาย
"จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นคาดว่าไม่ใช่ดาวตกเนื่องจากเคลื่อนที่อย่างๆช้า และไม่ใช่เครื่องบินเนื่องจากสามารถเห็นได้ในบริเวณกว้างมากๆ แสดงว่าอยู่สูงจากพื้นโลกค่อนข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้มากที่จะเป็นขยะอวกาศจากชิ้นส่วนจรวด SL-23 ที่ดีดตัวออกมาในขณะที่ส่งดาวเทียม Eletro-L2 ของประเทศรัสเซีย เคลื่อนที่ผ่านเหนือฟ้าประเทศไทย และคาดว่าจะตกลงในมหาสมุทรแปซิฟิก"
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด เป็นเหตุการณ์ที่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุและผลทางวิทยาศาสตร์ เนื่องจากในอวกาศมีเศษวัตถุหลายประเภทโคจรอยู่เป็นจำนวนนับล้านชิ้นจึงมีโอกาสที่เข้ามาในบรรยากาศโลกอยู่เสมอ
พร้อมกันนี้ในวันที่ 2 ม.ค.นั้น ประชาชนส่วนหนึ่งยังได้เห็นเมฆสีขาวเป็นทางยาวเหนือท้องฟ้า ซึ่ง สดร.ชี้แจงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นคนละเหตุการณ์กับแสงขาวจากขยะอวกาศ โดยเมฆสีขาวเป็นทางยาวเหนือฟ้านั้นในทางวิชาการเรียกว่า คอนเทรล (Contrail) หรือที่คนไทยเรียกกันว่า “เมฆหางเครื่องบิน” ซึ่งเป็นเมฆที่เกิดจากความร้อนของเครื่องบินไอพ่น เมื่อเครื่องบินไอพ่นบินในระดับสูง ไอน้ำจากความร้อนที่พ่นออกมาจากเครื่องยนต์ ปะทะกับอากาศเย็นซึ่งอยู่ภายนอกเกิดการควบแน่นเป็นหยดน้ำ จึงมองเห็นควันเมฆสีขาวถูกพ่นออกมาทางท้ายของเครื่องยนต์เป็นทางยาว
ดร.ศรัณย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงนี้ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ท้องฟ้าใส ทำให้เรามีโอกาสเห็นเมฆหางเครื่องบินกันได้บ่อยๆ เมฆหางเครื่องบินจัดเป็นเมฆชั้นสูง เกิดที่ระดับความสูงมากกว่า 16,500 ฟุต ซึ่งเป็นระดับที่เครื่องบินพาณิชย์เกือบทั้งหมดบิน ประชาชนจึงสามารถสังเกตเห็นเมฆหางเครื่องบินได้ง่าย
“ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ลูกไฟเหนือฟ้าเมืองไทย 2 ครั้งเมื่อปลายปี 2558 ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับปรากฏการณ์บนท้องฟ้าให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก ประกอบกับการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ทำให้คนไทยสนใจที่จะสังเกตท้องฟ้า และความเป็นไปของธรรมชาติรอบตัวมากยิ่งขึ้น นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่จะปลูกฝังเยาวชนให้มีกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์รู้จักสังเกต ตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบ อันจะเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ผมเชื่อมั่นว่า “วิทยาศาสตร์มีคำตอบ” ครับ” ดร.ศรัณย์กล่าว
ตื่นกันทั้งบาง!ลำแสงประหลาดโผล่กลางท้องฟ้าลำปางนานร่วม 5 นาที