สำหรับคนรักสัตว์การต้องอยู่ห่างไกลหรือทิ้งสัตว์เลี้ยงแสนรักไว้ที่เพียงลำพัง เป็นปัญหาใหญ่ที่นำความไม่สบายใจมาสู่ผู้เลี้ยงไม่ใช่น้อย ไหนจะต้องกังวลว่าสัตว์ของเราจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่ ไหนจะกังวลเรื่องอาหารการกิน หรือแม้แต่เรื่องของความสะอาด นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จึงได้สร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
นายเพิ่มทรัพย์ สุขแสงจันทร์ นิสิตปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ที่เขาทำขึ้นมีชื่อว่า “กรงเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะ” ที่ทำขึ้นตามโจทย์ปัญหาของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กาญจนบุรี ที่ต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการอภิบาลสัตว์ป่วยในโรงพยาบาล และตอบสนองวิถีชีวิตคนรักสัตว์ที่ไม่มีเวลาหรือต้องทิ้งสัตว์เลี้ยงแสนรักไว้เพียงลำพัง
“คนรักสัตว์เขาจะกังวลมากนะครับเวลาที่ไม่อยู่บ้านนานๆ ต้องทิ้งสัตว์ เช่น สุนัขไว้ตัวเดียว เพราะเขาไม่อาจรู้ได้เลยว่าขณะที่ไม่อยู่ หมาน้อยของเขาจะอยู่ดีมีสุขหรือไม่ อาหารการกินจะพอหรือเปล่า แล้วของเสียอย่างอึหรือฉี่จะต้องทำอย่างไร โรงพยาบาลสัตว์ ม.เกษตรซึ่งประสบปัญหานี้เช่นกัน จึงนำปัญหามาปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาของผม จนเกิดเป็นแนวคิดในการพัฒนานวัตกรรมสำหรับสัตว์เลี้ยงขึ้น” นายเพิ่มทรัพย์กล่าว
กว่าจะได้แนวคิดในการพัฒนากรงเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะ นายเพิ่มทรัพย์เล่าว่าเขาต้องลงพื้นที่ไปวิจัยพฤติกรรมสัตว์ที่โรงบาลสัตว์สัตว์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อยู่นานนับเดือน จนตกผลึกความคิดว่าจะต้องทำอย่างไร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับสัตว์ โดยที่ไม่ต้องใช้แรงงานมนุษย์มากเกินความจำเป็น จนได้ข้อสรุปในการพัฒนาให้กรงสัตว์เลี้ยงสเตนเลสธรรมดาๆ เปลี่ยนไปทำงานได้อัตโนมัติ 2 ประการ ได้แก่ เก็บเช็ดล้างสิ่งสกปรกและสามารถกำหนดเวลาให้อาหารเองได้
สำหรับการเก็บเช็ดล้างสิ่งสกปรกจำพวกปัสสาวะและอุจาระของสุนัขนายเพิ่มทรัพย์เผยว่า จะทำโดยการวิเคราะห์สีจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เขาพัฒนาขึ้น ให้สามารถแยกแยะได้ว่า ส่วนใดคือพื้น ส่วนใดคือสุนัข และส่วนใดคืออุจจาระด้วยเทคนิคการแยกแยะความเข้มสี โดยกล้องวิดิโอเว็บแคมที่ติดตั้งอยู่ด้านบนจะเป็นตัวบันทึกภาพและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบประมวลผล
"ถ้าโปรแกรมวิเคราะห์ได้ว่าขณะนั้นมีอุจจาระที่พื้นก็จะสั่งการไปยังพื้นของกรง ซึ่งมีการประยุกต์ให้เป็นสายพานค่อยๆ หมุนออกไปบริเวณด้านข้าง จนก้อนอุจจาระตกไปยังถาดเก็บด้านล่าง ซึ่งหลังจากนั้นระบบจะมีการฉีดน้ำและขัดถูบริเวณพื้นดังกล่าวเพื่อรักษาความสะอาดด้วย" นายเพิ่มทรัพย์อธิบาย
ส่วนการให้อาหารนายเพิ่มทรัพย์ กล่าวว่าตั้งค่าการให้ได้ถึง 2 วิธี วิธีแรกจะเป็นการตั้งค่ากับจอแท็บเล็ตที่ติดอยู่บริเวณหน้ากรงสัตว์ โดยตั้งค่าได้ว่าจะให้อาหารวันละกี่เวลา ให้เมื่อไรและให้ครั้งละเท่าไร ส่วนอีกวิธีคือการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันที่เขาพัฒนาขึ้น โดยคำสั่งทั้งหมดจะส่งตรงไปยังกล่องอาหารเม็ดที่ติดตั้งอยู่บนกรงที่เมื่อ ถึงเวลาจะปล่อยอาหารลงมาตามรางสู่ชามอาหารของสัตว์
“จุดเด่นของกรงอัจฉริยะคือพื้นของเราจะทำเป็นสายพาน 2 ฝั่ง แล้วก็จะหมุนนำอุจจาระไปทิ้งก็ต่อเมื่อสุนัขอยู่บนสายพานอีกฝั่งหนึ่ง ไม่เช่นนั้นมันคงกลัวแย่ โดยเมื่อหมุนไปทิ้งก็จะทำความสะอาดฉีดน้ำ มีแปรงขัดให้ด้วยเพื่อกำจัดสิ่งสกปรกที่อาจตกค้าง ส่วนการให้อาหารก็กำหนดได้ทั้งจากหน้ากรงและจากแอปพลิเคชัน และที่สำคัญคือเรามีกล้องเว็บแคมที่ทำให้เจ้าของสามารถเช็คดูสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ตลอดเวลา ซึ่งเหมาะมากกับผู้ที่ต้องทิ้งสัตว์ไว้ลำพังนานๆ อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนไม่มีเวลาเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว” เจ้าของผลงานกล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ก้าวต่อไปนายเพิ่มทรัพย์เผยว่าจะเป็นการส่งมอบให้โรงพยาบาลสัตว์ลองใช้และพัฒนาต่อยอด เพราะถึงแม้เครื่องต้นแบบจะเสร็จสิ้นแล้วแต่ก็ยังมีราคาสูงถึง 2 แสนบาท โดยอาจลดคุณภาพสแตนเลสให้เป็นเหล็กเคลือบกันสนิมธรรมดา และหันมาใช้แท็บเลตติดตั้งข้างกรงที่มีราคาถูกลงเพื่อให้เข้าถึงผู้ใช้ได้ง่ายยิ่งขึ้น
ด้าน ผศ.ดร.ดุสิต ธนเพทาย อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานของเพิ่มทรัพย์เผยว่า ผลงานกรงเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะเป็นผลงานที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มที่จะต่อยอด ไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้เพราะเป็นผลงานที่พัฒนาขึ้นจากปัญหาโดยตรงของโรงพยาบาลสัตว์ ซึ่งต้องการให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ผลิตนวัตรรมมาเพื่อแก้ปัญหา
นอกจากกรงเลี้ยงสัตว์อัจฉริยะแล้ว ผศ.ดร.ดุสิต กล่าวว่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.ยังมีผลงานอื่นมากมายที่ทำวิจัยร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ อาทิ เตียงผ่าตัดช้าง, อุปกรณ์เคลื่อนย้ายสัตว์, อุปกรณ์ป้องกันสัตว์ล้ม ตามโครงการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ต้องการให้มีงานวิจัยแบบบูรณาการ