xs
xsm
sm
md
lg

อลังการล้านดวง...มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ปี 8

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รางวัลชนะเลิศ วิวธรรมชาติและดาราศาสตร์_นายวิรัช สวัสดี_ดาวนับล้านกับทางช้างเผือกที่ดอยค้ำฟ้า
เนบิวลาสามแฉก ดาวเคียงเดือน ดาวหางเลิฟจอย หมู่ดาวกับทางช้างเผือก แสงออโรรา ฝีมือคนไทย คว้ารางวัลชนะเลิศ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” ปีที่ 8 ด้าน สดร.หวังสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ดาราศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านภาพดาราศาสตร์

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่งจัดพิธีมอบรางวัล “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์” เมื่อวันที่ 22 พ.ย.58 ณ เวทีกลาง มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี 2558 อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี นนทบุรี มี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานพิธีมอบรางวัลฯ หวังสร้างบรรยากาศการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านการถ่ายภาพดาราศาสตร์

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดภาพถ่ายในปีนี้ กล่าวว่า สถาบันฯ ได้จัดการประกวดภาพถ่ายฯ ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์” มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตระหนักและความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยใช้ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์เป็นสื่อ ส่งเสริมกิจกรรมการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในประเทศไทย เสริมสร้างให้เกิดบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ผ่านการถ่ายภาพ รวมทั้งเป็นการสร้างนักดาราศาสตร์สมัครเล่นให้มีจำนวนมากขึ้นอีกด้วย

“ปีนี้นับเป็นปีที่ 8 ของการจัดประกวดฯ ที่ผ่านมามีผู้สนใจจากทั่วประเทศส่งภาพเข้าร่วมประกวดเพิ่มขึ้นทุกปี ในปีนี้มีผู้สนใจส่งเข้าประกวดมากกว่า 150 คน จำนวนภาพมากกว่า 350 ภาพ ดาราศาสตร์จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์เป็นจุดเริ่มต้นของความสงสัยใคร่รู้ ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าชวนให้เกิดการตั้งคำถาม วิทยาศาสตร์ช่วยในการหาคำตอบ ภาพที่สวยงามบนท้องฟ้า ไม่เพียงแต่ความตระการตาเท่านั้น แต่ยังแฝงไปด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เกิดการต่อยอดการเรียนรู้อีกมากมาย” ดร.ศรัณย์กล่าว

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลทุกท่าน กิจกรรรมนี้เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้สังคมไทยได้เข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น ภาพถ่ายเป็นเรื่องหนึ่ง ดาราศาสตร์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อนำทั้งสองมารวมกัน เราจะเห็นทั้งจินตนาการ ฝีมือ ที่แฝงไปด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์นับว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทุกประเทศในโลกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นให้เยาวชนเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และใช้วิทยาศาสตร์เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

ส่วนนายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ เจ้าของ 2 รางวัลชนะเลิศ จากผลงาน “เนบิวลาสามแฉก” (Trifid Nebula) ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก และ “ดาวหางเลิฟจอย” ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ กล่าวว่า ดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ ทำให้เด็กๆ เกิดคำถาม ว่าสิ่งที่เห็นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร การถ่ายภาพเป็นเรื่องสนุก การสังเกตปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ เราไม่ได้เห็นเพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังทำให้รู้ว่าบนท้องฟ้ายังมีอะไรให้ศึกษาอีกมากมาย

นอกจากนี้ นายกีรติ คำคงอยู่ เจ้าของผลงาน “ดาวเคียงเดือน” รางวัลชนะเลิศประเภทปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ และ “ความยิ่งใหญ่แห่งขั้วฟ้าใต้” รองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวัตถุในห้วงอวกาศลึก กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก เข้าร่วมรายการนี้เป็นปีที่ 4 แล้ว ภาพถ่ายเหล่านี้ทำให้เห็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ สามารถนำไปเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาหาความรู้เบื้องต้น เกี่ยวกับดาราศาสตร์ได้
รางวัลชนะเลิศ ปรากฎการณ์ที่เกิดในบรรยากาศโลก_นายภรัณยู พิทยรังสฤษฎ์_ELYSIUM(สรวงสวรรค์)
รางวัลชนะเลิศ วัตถุในระบบสุริยะ_นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์_Comet Lovejoy C 2014 Q2
นายกีรติ คำคงอยู่
นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์
/////

ผลการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์” ปี 2558 มีดังนี้
1. ประเภท Deep Sky Objects
รางวัลชนะเลิศ นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ชื่อภาพ “The Trifid Nebula”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “The Eta Carinae Nebula ความยิ่งใหญ่แห่งขั้วฟ้าใต้”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายบัญญัติ ช่วยคง ชื่อภาพ “Andromeda”
รางวัลชมเชย นายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “ใจกลางทางช้างเผือก”
2.ประเภทปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศ นายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “ดาวเคียงเดือน ณ วัดวิหารทอง พิษณุโลก”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายวิศว จงไพบูลย์ชื่อภาพ “Geminids Meteor Shower”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายนภดล อินทร์พินิจ ชื่อภาพ “จันทรุปราคาเหนือท้องฟ้าเมืองพิษณุโลก ปี 58”
รางวัลชมเชย นายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “Venus near Jupiter 2015”
3.ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ
รางวัลชนะเลิศ นายตระกูลจิตร จิตตไสยะพันธ์ ชื่อภาพ “Comet Lovejoy C/2014 Q2”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายสิทธิ์ สิตไทย ชื่อภาพ “Mars Orbit near Earth 2014”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายกีรติ คำคงอยู่ ชื่อภาพ “ดาวหาง Lovejoy Q2 2014 in Thailand”
รางวัลชมเชย นางสาวปิ่นรัตน์ พรรณประดิษฐ์ชื่อภาพ “Lunar Tycho Crater and the others.”
4.ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์
รางวัลชนะเลิศนายวิรัชสวัสดีชื่อภาพ “ดาวนับล้านกับทางช้างเผือกที่ดอยค้ำฟ้า”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายทศพร สหกูลชื่อภาพ “มรดกโลกล้ำเลิศ”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายอภิสิทธิ์ วิไลจิตต์ชื่อภาพ “ธารสวรรค์”
รางวัลชมเชย นายณัฐภูมิ วิทวัสชุติกุลชื่อภาพ “ยอยักษ์ยกช้าง”

5.ประเภทปรากฎการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก
รางวัลชนะเลิศนายภรัณยู พิทยรังสฤษฏ์ชื่อภาพ “Elysium (สรวงสวรรค์)”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 นายวิศว จงไพบูลย์ชื่อภาพ “Crepuscular rays”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นายประพนธ์ ลีนะกิตติชื่อภาพ “Moon Dog ที่แม่เหียะ”
รางวัลชมเชย นายสุรเวช สุธีธรชื่อภาพ “Going Home”

ติดตามภาพและรายละเอียดผลงานของผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ได้ที่ www.narit.or.th หรือ www.facebook.com/NARITpage












กำลังโหลดความคิดเห็น