พบโครงกระดูกมนุษย์ดึกดำบรรพ์พันธุ์ใหม่ในถ้ำลึกอันซับซ้อนที่แอฟริกาใต้ สร้างความแปลกใจแก่ผู้ค้นพบ พร้อมเติมช่องว่างวิวัฒนาการสู่มนุษย์ยุคใหม่
เอพีรายงานการค้นพบโครงกระดูกดึกดำบรรพ์โดยนักสำรวจถ้ำภายในถ้ำลึกที่แอฟริกาใต้ ซึ่งมีลักษณะผสมผสานระหว่างไพรเมทสองขายุคดึกดำบรรพ์และลักษณะคล้ายมนุษย์ โดยถูกจัดให้อยู่ในสกุลโฮโม (Homo) เช่นเดียวกับมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าเป็นลักษณะที่แปลกประหลาด
ฟอสซิลโบราณได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "โฮโมนาเลดี" (Homo naledi) ซึ่งสะท้อนถึงกลุ่มมนุษย์โฮโมที่มีวิวัฒนาการ ที่รวมถึงมนุษย์ปัจจุบันและญาติใกล้ชิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อีกทั้งยังหมายถึง "ดาว" ในความหมายท้องถิ่นสอดคล้องชื่อสถานที่พบฟอสซิล
แหล่งค้นพบในครั้งนี้คือถ้ำไรซิงสตาร์ (Rising Star cave) ซึ่งเป็นถ้ำซับซ้อนที่มีทางเดินแคบเพียง 17.5 นิ้วในเมืองมากาลีสเบิร์ก ที่อยู่ห่างจากเมืองโจฮันเนสเบิร์กไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ 48 กิโลเมตร โดยนับแต่ปี 2013 พบตัวอย่างราว 1,550 ชิ้นในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งน่าจะเป็นของมนุษย์โบราณอย่างน้อย 15 ราย
สตีเฟน ทัคเกอร์ (Steven Tucker) นักสำรวจถ้ำวัย 27 ปีในตอนนี้ พร้อมคู่หูได้สำรวจถ้ำดังกล่าวเมื่อเดือน ก.ย.2013 หลังพยายามอย่างไม่ลดละ และเบียดเอาตัวผ่านช่องทางแคบๆ จนลงไปถึงโถงที่อยู่ลึก 12 เมตร และด้านบนของโถงยังมีหินย้อยอันงดงาม เขาก็ได้ชิ้นส่วนกะโหลกโพล่ขึ้นจากพื้นดิน
"มันน่าตื่นเต้นที่ได้ค้นหาอะไรใหม่ๆ" ทัคเกอร์บอกแก่เอพีเพื่ออธิบายถึงเหตุผลที่ยอมเสี่ยง
การค้นพบครั้งนี้เผยถึงปริศนาสำคัญบางอย่าง เช่น อายุของกระดูก หรือมนุษย์เหล่านั้นเข้าไปภายในโถงของถ้ำได้อย่างไร ทั้งที่กว่าจะเข้าไปถึงต้องผ่านเส้นทางอันซับซ้อนและแคบเพียงไม่กี่นิ้ว
สิ่งมีชีวิตคล้ายมนุษย์ที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบในภายหลังว่าเป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ซึ่งเดินหลังตรงนั้น มีมือและเท้าเหมือนมนุษย์โฮโม แต่ไหล่และสมองขนาดเล็กนั้นคล้ายบรรพบุรุษคล้ายลิงเอปของมนุษย์โฮโม
นักวิจัยระบุว่ายังไม่ทราบอายุของฟอสซิลของมนุษย์โบราณนี้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณที่ขุดพบไม่มีลักษณะที่บ่งบอกอายุได้ชัดเจน แต่พวกเขายังพยายามหาคำตอบอยู่
ลี เบอร์เกอร์ (Lee Berger) ศาสตราจารย์ชาวอเมริกันจากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สตรานด์ (University of the Witwatersrand) ในโจฮันเนสเบิร์กหัวหน้าทีมศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่า กายวิภาคของนาเลดีบ่งบอกว่าเป็นสายพันธุ์ที่อุบัติมาจากต้นกำเนิดสาแหรกของสกุลโฮโมหรือช่วงวิวัฒนาการที่ใกล้เคียง นั่นหมายถึงมนุษย์โบราณนี้อยู่บนโลกแล้วเมื่อ 2.5-2.8 ล้านปีก่อน แม้ฟอสซิลที่พบจะอายุน้อยกว่านั้นมาก
นักวิจัยยังประกาศการค้นพบนี้ในวารสารอีไลฟ์ (eLife) โดย ศ.เบอร์ เกอร์ระบุว่า ทีมวิจัยไม่ได้อ้างว่านาเลดีคือบรรพบุรุษสายตรงของมนุษย์ปัจจุบัน และยืนยันว่าไม่ใช่โฮโมอิเร็คตัส ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานวิจัยก็เชื่อว่าไม่ใช่บรรพบุรุษสายตรงเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ริค พอตส์ (Rick Potts) ผู้อำนวยการโครงการต้นกำเนิดมนุษย์ของพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาสถาบันสมิทโซเนียน ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยครั้งนี้ให้ความเห็นว่า การค้นพบโดยไม่ทราบอายุนั้น ทำให้เราไม่สามารถตัดสินความสำคัญในแง่วิวัฒนาการของการค้นพบนี้ได้
พอตส์กล่าวว่า ถ้าฟอสซิลกระดูกนี้เก่าแก่เท่ามนุษย์สกุลโฮโม จะให้เหตุผลว่านาเลดีเป็นภาพชั่วขณะของการพิสูจน์อย่างเป็นขั้นตอนในวิวัฒนาการที่ใกล้เข้าถึงต้นกำเนิดของมนุษย์โฮโม แต่หากฟอสซิลนี้อายุน้อยกว่านั้นมาก แสดงว่านาเลดีคงลักษณะรูปร่างดึกดำบรรพ์ไว้ยาวนานกว่าสิ่งมีชีวิตที่เรารู้จักมาก หรือมีวิวัฒนาการกลับอีกครั้ง
ส่วน อีริก เดลสัน (Eric Delson) จากวิทยาลัยเลห์มัน (Lehman College) ในนิวยอร์ก สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยด้วย เดาว่านาเลดีน่าจะอยู่ในกลุ่มมนุษย์โฮโมยุคแรกๆ เมื่อราว 2 ล้านปีก่อน
นอกจากอายุฟอสซิลกระดูกที่ยังเป็นปริศนา ความลึกลับอีกอย่างคือมนุษย์เหล่านั้นเข้าถึงพื้นที่ของถ้ำที่ยากจะเข้าถึงได้อย่างไร ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่า นาเลดีใช้ห้องดังกล่าวเป็นสถานที่ตายของตัวเอง หรืออีกทางอาจเป็นกับดักความตายสำหรับมนุษย์คนใดพยายามหาทางเข้าไป
ด้าน เบอร์นาร์ด วูด (Bernard Wood) จากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน (George Washington University) ในวอชิงตันดีซี สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมวิจัยอีกคน กล่าวการเข้าไปในถ้ำต้องมีแสงไฟประดิษฐ์ เช่น คบไฟ ซึ่งคนขุดถ้ำในยุโรปมีเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ไม่มีใครสงสัยถึงความสามารถเชิงความคิดในสิ่งที่มีสมองขนาดเล็กอย่างนาเลดี
มากกว่านั้นไม่ใช่ทุกคนที่เห็นพ้องว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบนี้เป็นสปีชีส์ใหม่ โดย ทิม ไวท์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ ระบุว่าการอ้างนั้นมีข้อสงสัยให้ถามได้ และฟันธงว่าฟอสซิลที่พบเป็นของโฮโมอิเร็คตัส มนุษย์ดึกดำบรรพ์อีกสายพันธุ์ที่ได้ชื่อเมื่อยุค 1800 แม้ ศ.เบอร์เกอร์จะยืนยันว่าไม่ใช่โฮโมอิเร็คตัสแน่นอน