xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยแนะวิธีสังเกตก่อนไปเที่ยวแดนภูเขาไฟ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ภาสกร
นักวิจัย สกว.ให้ข้อสังเกตก่อนภูเขาไฟปะทุ แนะก่อนเดินทางไปยังประเทศที่มีภูเขาไฟสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง ชี้อันตรายต่อสุขภาพหากสูดดมเถ้าภูเขาไฟและยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงน้ำป่า-ดินถล่มได้

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า จากกรณีภูเขาไฟปะทุที่ประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมานั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะปัจจุบันมีการบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเคยเกิดการปะทุ ของภูเขาไฟอยู่ประมาณ 600 แห่ง โดยในรอบ 10,000 ปี จะมีมากถึง 1,500 แห่ง แต่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่นอนของภูเขาไฟใต้ทะเล

"โดยมากภูเขาไฟมักพบอยู่บริเวณแนวรอยต่อที่มีการชนกันหรือแยกออกจากกันของแผ่นธรณีภาคหรือแผ่นเปลือกโลกทั้งบนบกและในทะเล จากการศึกษาพบว่าจำนวนการเกิดการปะทุของภูเขาไฟในปัจจุบันไม่ได้สูงกว่าในอดีตแต่อย่างใด โดยนักวิทยาศาสตร์ได้พบว่า ณ เวลา ขณะใด ๆ จะมีภูเขาไฟปะทุประมาณ 10-20 แห่งทั่วโลกโดยเฉลี่ย และอาจมีมากถึง 30-50 ครั้งในบางช่วงเวลา แต่ที่ประชาชนรู้สึกว่ามีภูเขาไฟปะทุบ่อยอาจเกิดจากเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รู้สึกว่าภูเขาไฟเกิดการปะทุเกิดขึ้นบ่อย" ผศ.ดร.ภาสกร

แม้ภูเขาไฟจะมีอันตรายน้อยกว่าภัยพิบัติอื่นๆ เพราะมักแจ้งเตือนได้ล่วงหน้า และโดยทั่วไปการปะทุมักจะกินบริเวณไม่มากนัก แต่ ผศ.ดร.ภาสกรระบุว่าภูเขาไฟก็ทำให้เกิดอันตรายได้อย่างมาก เช่น ลาวาที่ไหลออกมาเมื่อถูกบ้านเรือนจะทำให้เกิดไฟไหม้ดังที่เกิดประจำที่มลรัฐฮาวาย แต่ที่อันตรายและน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ เถ้าภูเขาไฟ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับผงขี้เถ้าที่ร้อนมากผสมกับเศษหินและมีก๊าซหลายชนิดปนอยู่ เมื่อถูกพ่นออกมาจากภูเขาไฟด้วยความเร็วสูงมากกว่าร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง (pyroclastic flow) จะสามารถแพร่กระจายอยู่ในอากาศได้อย่างรวดเร็ว หากสูดดมเข้าไปอาจเกิดอันตรายต่อปอดและหายใจไม่ออก หรืออันตรายจากเศษหินภูเขาไฟที่พุ่งเข้าใส่ด้วยความเร็วสูง เช่นเดียวกับการถูกหินปาใส่กระจกหน้ารถที่ขับมาด้วยความเร็ว

ทั้งนี้หากเกิดการปะทุครั้งใหญ่มาก เถ้าภูเขาไฟเหล่านี้จะถูกพ่นออกไปในชั้นบรรยาการศปกคลุมพื้นโลกเป็นบริเวณกว้างอย่างยาวนาน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างมาก เช่น บดบังแสงอาทิตย์ในบริเวณนั้น เกิดฝนกรด หรือเป็นอุปสรรคในการเดินทางของอากาศยาน เป็นต้น นอกจากนี้ภูเขาไฟที่อยู่ในเขตเมืองหนาวที่มีหิมะปกคลุมอยู่ เมื่อเกิดการปะทุขึ้นความร้อนสามารถทำให้หิมะละลายเกิดเป็นเถ้าลาวา เศษหิน และน้ำผสมกันไหลเข้าสู่บริเวณพื้นที่ด้านล่างในลักษณะเดียวกับน้ำป่าและดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนประชาชนได้

ผศ.ดร.ภาสกรกล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่หรืออยู่ใกล้ชุมชนมักจะมีการศึกษาโอกาสในการเกิดการปะทุครั้งต่อไปโดยประเมินจากวงรอบการปะทุที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต ร่วมกับการติดตามตรวจสอบการปะทุอยู่ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง ถ้าปะทุจากส่วนที่ลึกลงไปของภูเขาไฟก่อนเกิดเหตุจะมีการเคลื่อนที่ของมวลหินหนืดหรือแมกมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ตัวภูเขาไฟ เช่น การสั่นไหวขนาดเล็ก การเปลี่ยนแปลงรูปร่าง เช่น บวมขึ้น หรือมีก๊าซบางชนิดพุ่งออกมา

ดังนั้น การตรวจวัดเฝ้าระวังภูเขาไฟปะทุจึงสามารถทำได้โดยติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดแผ่นดินไหวเพื่อวัดการสั่นสะเทือนขนาดเล็กที่มักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนเกิดการปะทุเครื่องวัดพิกัดภูมิศาสตร์ หรือใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงรูปร่างหรือขนาดของภูเขาไฟ หรือเครื่องวัดอุณหภูมิและวัดองค์ประกอบของก๊าซบางชนิดที่มักเกิดก่อนหรือร่วมกับการปะทุของภูเขาไฟ เป็นต้น เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันการณ์

อย่างไรก็ตามการปะทุบางลักษณะจะเกิดขึ้นทันทีไม่สามารถแจ้งเตือนได้เนื่องจากไม่มีลางบอกเหตุล่วงหน้า ดังเช่นเหตุการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งคร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไปหลายสิบคน จากการศึกษาของนักภูเขาไฟวิทยาพบว่า เป็นการปะทุในระดับตื้นมากซึ่งเกิดจากการที่น้ำใต้ดินไหลลงไปในรอยแตกของภูเขาไฟที่ร้อนจัดหรืออาจไหลไปพบกับหินหนืดข้างใน ทำให้เกิดการระเบิดอย่างเฉียบพลันและรุนแรงมาก (phreatic eruption) แม้จะไม่มีลาวาพุ่งออกมาแต่กลับกลายเป็นเถ้าร้อนจัดผสมกับก๊าซจากภูเขาไฟและไอน้ำเดือด รวมถึงเศษหินภูเขาไฟ(pyroclastic flow) พุ่งออกมาด้วยความเร็วสูงมาก ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถหนีได้ทัน และเสียชีวิตในที่สุด

“แม้ภูเขาไฟปะทุจะดูน่ากลัวแต่ก็มีโอกาสเกิดไม่บ่อยนัก จึงไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ในประเทศไทยก็ไม่มีภูเขาไฟที่สามารถทำให้เกิดการปะทุได้หลงเหลืออยู่อีกแล้วในปัจจุบัน ภูเขาไฟปะทุจึงเป็นภัยธรรมชาติที่ค่อนข้างไกลตัวคนไทยในปัจจุบัน สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยหรือผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีภูเขาไฟ สามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง เช่น เว็บไซต์ของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (เจเอ็มเอ) ที่จะมีการประกาศเตือนภัยหากเกิดภูเขาไฟปะทุ หรือสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://volcanoes.usgs.gov/ และ http://www.volcanodiscovery.com/erupting_volcanoes.html ซึ่งแสดงการปะทุของภูเขาไฟทั่วโลกอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง” ผศ.ดร.ภาสกรกล่าวสรุป







แม่คำนาง ศรีสะอาด ชาวบ้านในพื้นที่บ้านคำปลาหลาย จ.ขอนแก่น ปรับตัวรับแล้งด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ดาวเรือง มะลิ รัก มะนาว พริก แทนการปลูกข้าว สร้างรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท โดยใช้น้ำจากสระเก็บกักในหมู่บ้าน หน้าแล้งนี้จึงไม่มีอดตาย อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #savewater #adtvscience #kohkhean #thailand #farmer #water #crisis #flower #garden

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น