นอกจากวันที่ 31 ก.ค.จะเป็นวันเข้าพรรษาแล้ว ยังเป็นวันที่เกิดปรากฏการณ์พิเศษ "บลูมูน" ที่นานๆ จะเกิดขึ้น
"บลูมูน" (Blue Moon) เป็นปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือน โดยเฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 2.72 ปีต่อครั้ง หรือประมาณ 3% ของการเกิดจันทร์เต็มดวง
จันทร์ที่ปรากฏไม่ใช่สีน้ำเงินตามความหมายภาษาอังกฤษ ซึ่งโอกาสจะเห็นจันทร์เป็นสีน้ำเงินได้เมื่อในชั้นบรรยากาศมีฝุ่นหนาแน่น เช่น เกิดภูเขาไฟปะทุ
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) อธิบายว่าปรากฏการณ์บลูมูนเกิดขึ้นเนื่องจากใน 1 ปีมี 12 เดือนและบางเดือนมี 30 วัน บางเดือนมี 31 วัน แต่ว่ารอบของดวงจันทร์มีเพียง 29.53059 วันต่อเดือน
สำหรับเดือน ก.ค.58 เกิดจันทร์เต็มดวงครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 ก.ค.และครั้งที่สองในวันที่ 31 ก.ค. ส่วนบลูมูนครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.61
นอกจากนี้ยังโอกาสเกิดบลูมูนปีละ 2 ครั้งในทุกๆ 19 ปี ซึ่งปีล่าสุดที่เกิดบลูมูน 2 ครั้งซ้อนในหนึ่งปี (Double Blue Moons) คือปี พ.ศ. 2542 และถัดไปคือปี พ.ศ. 2561
ขณะที่ นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สดร. ระบุว่า บลูมูนไม่ใช่ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ แต่เป็นเพียงการนิยามเดือนและวันที่เท่านั้น ซึ่งดวงจันทร์และโลกต่างโคจรไปรอบๆศูนย์กลางมวลตามกฎแรงโน้มถ่วง