xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งพร้อมเสิร์ฟ "ไดออกซิน" ภัยร้ายจากหมอกควัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(Photo credit: REUTERS/ DAVID RYDER)
อะไรคือตัวการสำคัญก่อ "มะเร็ง" โรคร้ายที่พรากชีวิตคนไทยเป็นอันดับ 1 นำหน้าโรคเคยฮิตอย่างหัวใจ เบาหวาน ความดัน หลายคำตอบอย่างพันธุกรรม เหล้า บุหรี่ คือส่วนหนึ่ง แต่ที่น่าสะพรึงกว่าคือ "ไดออกซิน" เคมีที่มองไม่เห็น มัจจุราชร้ายจากหมอกและควัน

รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวในการอบรมวิทยาศาสตร์ทันโลกและภัยพิบัติในไทยว่า ตั้งแต่โลกก้าวเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม มีการขนส่งสินค้า มีการทำเหมืองแร่ มีอุตสาหกรรมทอผ้า มีรถจักรไอน้ำจากเชื้อเพลิงฟอสซิล โลกที่สะอาดก็ไม่เคยน่าอยู่อีกต่อไป โรคใหม่ๆ ก็อุบัติขึ้น และยังมีผู้ป่วยจากสารก่อพิษกลายพันธุ์จำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นเกิดจากการได้รับสารประกอบไดออกซิน

ไดออกซิน (dioxin) หรือ โพลีคลอริเนตเตท ไดเบนโซ่ พารา-ไดออกซิน (polychlorinated dibenzo-para-dioxins: PCDDs) คือ สารประกอบในคลอริเนตเตทอะโรมาติก (chlorinated aromatic compounds) ที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างพื้นฐานของ คาร์บอน, ไฮโดรเจน, ออกซิเจน และคลอรีน โดย 17 ชนิด จาก 210 ชนิด ของไดออกซินถูกกำหนดให้เป็นสารประกอบที่มีความเป็นพิษสูงสุด เป็นอันตรายเพราะสามารถละลายได้ดีในไขมันของมนุษย์และสัตว์ และยังสลายตัวยาก พบได้ทั้งในน้ำ ดิน อากาศ และอาหาร

รศ.ดร.ศิวัช อธิบายว่า ไดออกซินไม่ได้เป็นผลิตภัณฑ์หลักของอุตสาหกรรมหลักใด แต่เป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับสารคลอรีนในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น โรงงานกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตสารเคมี สารกำจัดแมลง โรงงานหลอมเหล็ก ถลุงแร่ ฟอกสีกระดาษ การเผาทุกชนิดทั้งในเตาเผาและกลางแจ้ง ที่มีการเผาไหม้สารเคมีด้วยอุณหภูมิต่ำกว่า 900 องศาเซลเซียส รวมไปถึงการสูบบุหรี่

ทว่ากว่า 70% ของไดออกซินที่ถูกปล่อยออกมาล้วน เกิดจากภัยธรรมชาติ อาทิ ไฟป่า และกิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ เช่น การฌาปนกิจศพ การเผาขยะ การเผาตอซังพืชผลทางการเกษตรหลังเก็บเกี่ยว แม้กระทั่งการจุดเตาเผาปิ้งย่างประกอบอาหาร ซึ่งจุดนี้ รศ.ดร.ศิวัจน์ระบุว่าเป็นพฤติกรรมที่เคยชินของคนในสังคมจนควบคุมได้ยาก

"ไดออกซินจะออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งของประเทศไทยกว่า 50% เกิดจากไฟป่าทางภาคเหนือ 20% มาจากการเผาขยะในชีวิตประจำวัน ที่เหลือจึงเป็นการปล่อยจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนของไฟป่าผมมองว่าอันตรายมาก เพราะบางทีหมอกควันที่มีไม่ได้เกิดจากภาคเหนือของเรา แต่เกิดจากควันไฟของประเทศเพื่อนบ้านลอยมา เป็นมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งความรู้วิทยาศาสตร์อย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ เพราะปัญหาหมอกควันจริงๆ แล้ว เกิดจากการทำไร่เลื่อนลอยและปลูกข้าวโพดซึ่งสะท้อนปัญหาของเศรษฐกิจ" รศ.ดร.ศิวัช แสดงทัศนะ

ไดออกซินสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทางทั้งการกิน การหายใจ และการดูดซึมทางผิวหนัง โดยจะเข้าสู่ร่างกายได้ดีที่สุดผ่านการกินอาหาร โดยเฉพาะปลา เนื้อ นมที่มีการปนเปื้อน เนื่องจากไดออกซินสามารถละลายได้ดีในไขมัน และความเป็นพิษของมันยังถูกส่งต่อไปได้เรื่อยๆ ภายในห่วงโซ่อาหาร แต่การสูดดมอากาศ เขม่าควัน หรือฝุ่นละอองที่มีไดออกซินก็เป็นอันตรายไม่แพ้กัน เพราะเสี่ยงกับการสูดดมซ้ำๆ ทำให้ปริมาณไดออกซินสะสมในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ส่วนวิธีดูดซึมทางผิวหนังมักเกิดจากการสัมผัสเครื่องสำอาง และเสื้อผ้าที่ส่วนผสมมีการปนเปื้อน

หากร่างกายได้รับไดออกซินในปริมาณสูงๆ ระยะแรกจะทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน คือ เกิดโรคผิวหนัง (chloracne) ทำให้ผิวหนังไหม้ดำและเป็นผื่น เยื่อบุตาอักเสบ มีอาการปวดศรีษะ อ่อนเพลีย ปลายประสาทผิดปกติ เช่นกรณีของประธานาธบดียูเชนโกของประเทศยูเครน ที่ถูกคนร้ายวางยาซึ่งภายหลังตรวจวินิจฉัยได้ว่าเป็นสารปนเปื้อนจากไดออกซินปริมาณมาก ทำให้ใบหน้าของเขาเสียโฉม เกิดร่องรอยตะปุ่มตะป่ำคล้ายเม็ดสิวดำคล้ำเต็มใบหน้าและลำคอ และยังทำให้ระบบการย่อยอาหาร ระบบสมอง ระบบประสาท และระบบสืบพันธุ์ผิดปกติจนไม่สามารถกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม จนชื่อของไดออกซินกลายเป็นที่รู้จักของคนทั้งโลกอีกครั้ง

ถ้าได้รับไดออกซินเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมในร่างกาย จนก่อให้เกิดความผิดปกติต่อระบบภูมิคุ้มกันทำให้คนๆ นั้นป่วยง่าย ความผิดปกติต่อระบบประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ รวมถึงมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งต่อมหมวกไต มะเร็งตับ ประกอบกับงานวิจัยทางการแพทย์สนับสนุนอีกมากมาย องค์กรวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research Cancer: IARC) จึงจัดสารไดออกซินเป็นสารก่อมะเร็งในกลุ่มที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์อย่างแน่นอน (Known human carcinogen)

"ที่ร้ายแรงไปกว่านั้น ไดออกซินยังทำให้ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ โดยในเพศชายผู้ที่ได้รับไดออกซินนานๆ อัณฑะจะมีรูปร่างผิดปกติ มีการสร้างเชื้ออสุจิลดลง และอสุจิส่วนมากเกิดการผิดรูป กลายพันธุ์ ส่วนเพศหญิง จะเกิดอาการรังไข่ผิดปกติ แท้งลูกง่าย และยังทำให้ทารกที่เกิดมาเสี่ยงกับการมีรูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด เอ๋อ มีสติปัญญาล่าช้า" รศ.ดร.ศิวัชระบุ

ดังที่เคยเกิดขึ้นกับประชาชนเวียดนาม ภายหลังสงครามเวียดนาม ที่ทหารสหรัฐฯ ใช้เครื่องบินโปรยสารเคมีที่เชื่อว่าเป็นสารทำลายพืช หวังให้ประชาชนเวียดนามเกิดความอดอยาก ขาดแคลนอาหารจากพืชผลการเกษตรที่เสียหาย แต่สารเคมีเหล่านั้นกลับทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นสารประเภทเดียวกับไดออกซิน

เด็กรุ่นถัดมาจากพ่อแม่ที่ได้รับสารไดออกซินก็กลายเป็นเด็กพิการ ไร้แขน ไร้ขาแต่กำเนิด จนถึงทุกวันนี้คนในรุ่นนั้นก็มีปรากฏให้ได้เห็นอยู่ ซึ่ง รศ.ดร.ศิวัช อธิบายว่า ความพิการดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติจากระบบสืบพันธุ์ของหญิงที่ได้รับไดออกซิน ทำให้ตัวอ่อนถูกก่อกวนการเจริญเติบโต เพราะพัฒนาการของเด็กในครรภ์จะถูกควบคุมโดยฮอร์โมน แต่เมื่อแม่มีไดออกซินในร่างกาย ซึ่งโครงสร้างของไดออกซินหน้าตาคล้ายคลึงกับฮอร์โมนมาก ไดออกซินจึงออกฤทธิ์แทนทำให้เด็กในครรภ์ผิดปกติ เด็กบางคนจึงไม่มีแขนขา บางคนช่วงอกติดกัน และบางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ซึ่งลักษณะบุคลลพิการดังกล่าวจนถึงตอนนี้ก็ยังพบได้ในเวียดนาม

"สารหนู ไซยาไนด์ กินแล้วตาย ว่าน่ากลัวแล้ว แต่ไดออกซินกลับน่ากลัวกว่าเพราะมันส่งผลไปถึงลูก สืบตระกูลต่อไปหากมีการปฏิสนธิกันระหว่างเซลล์สืบพันธุ์ของพ่อและแม่ที่ได้รับไดออกซินปริมาณสูงๆ เพื่อไม่ให้โลกเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเราจึงต้องส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวขึ้น เพราะไดออกซินเมื่อถูกปล่อยออกมาครั้งหนึ่ง จะคงอยู่บนโลกได้ยาวนานเป็นสิบถึงร้อยปี เพราะเป็นสารเคมีสลายตัวยาก ขึ้นอยู่กับแสงอาทิตย์ อากาศและแบคทีเรียย่อยสลาย" รศ.ดร.ศิวัช ไล่เรียงแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์

ด้วยความอันตรายและผลกระทบที่เกิดกับวงกว้างในระยะยาว องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมสหประชาชาติ หรือ ยูนิโด (United Nations Industrial Development Organization : UNIDO) จึงเข้ามาดูแลจัดการการปลดปล่อยไดออกซินที่ควบคุมได้จากส่วนอุตสาหกรรม โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้หม้อต้มไอน้ำเพื่อควบคุมการปล่อยไดออกซินสู่ธรรมชาติ ผ่านการลงนามความร่วมมือใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด

รศ.ดร.ศิวัช ขยายความว่า เทคโนโลยีที่ดีที่สุด หรือ BAT (Best Available Techniques) ของภาคอุตสาหกรรม คือ การลดการปลดปล่อยสารมลพิษที่ตกค้างยาวนานจากหม้อต้มน้ำอุตสาหกรรม ผ่านการออกแบบและเดินเครื่องในสภาวะที่ไม่ก่อให้เกิดการก่อตัว และปลดปล่อยไดออกซิน เช่น การเปลี่ยนมาใช้หม้อต้มไอน้ำที่ได้มาตรฐานมีตัวดูดจับไดออกซิน การควบคุมลักษณะเชื้อเพลิง การควบคุมอุณหภูมิ ออกซิเจนที่มากเกินพอสำหรับการเผาไหม้ การแยกฝุ่นละอองไดออกซินก่อนปล่อยสู่บรรยากาศ

ส่วนแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด หรือ BEP (Best Environmental Practises) ก็ทำได้หลายวิธี เช่น การทำความสะอาดหม้อต้มไอน้ำ ใช้การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ใช้ระบบติดตามตรวจสอบค่าการปลดปล่อยไดออกซินในน้ำ กากของเสีย และอากาศ ไม่ให้อยู่ในค่าที่สูงเกินเกณฑ์ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดการปลดปล่อยไดออกซินให้ลดลงจากอดีตได้มาก ซึ่งขณะนี้ประเทศไทย และอีกหลายประเทศได้นำแนวปฏิบัติของยูนิโด้ไปใช้กับโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแล้ว

"ที่ยูนิโดทำกฎเกณฑ์ขึ้นมาใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมเป็นระบบเดียวที่ควบคุมได้ แม้จะมีปริมาณการปล่อยไดออกซินไม่ถึง 20% ก็ตาม แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ทุกคนต้องช่วยกันลดการเผา ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดไฟป่าให้ได้ ไดออกซินที่ออกสู่บรรยากาศก็จะน้อยลง แต่คงไม่มีทางหมด เรายังต้องเจอกับมันทุกวัน"

รศ.ดร.ศิวัช กล่าวว่าทางที่ดีหากใครที่อยู่อาศัยในบริเวณที่มีรถดีเซล รถบรรทุกผ่านบ่อยครั้ง ให้พยายามหาผ้าปิดปากปิดจมูก เพราะไดออกซินจากควันเสียรถก็มีมากไม่แพ้กัน และการอยู่ในอาคารที่มีการกรองจากเครื่องปรับอากาศก็ช่วยลดไดออกซินได้ในระดับหนึ่ง แต่ทางที่ดีที่สุดคือการอยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง ห่างไกลมลพิษ
รศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ  คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์






*******************************

แม่คำนาง ศรีสะอาด ชาวบ้านในพื้นที่บ้านคำปลาหลาย จ.ขอนแก่น ปรับตัวรับแล้งด้วยการปลูกพืชใช้น้ำน้อย เช่น ดาวเรือง มะลิ รัก มะนาว พริก แทนการปลูกข้าว สร้างรายได้เดือนละ 4 หมื่นบาท โดยใช้น้ำจากสระเก็บกักในหมู่บ้าน หน้าแล้งนี้จึงไม่มีอดตาย อ่านต่อเพิ่มเติม www.manager.co.th/science #sciencenews #savewater #adtvscience #kohkhean #thailand #farmer #water #crisis #flower #garden

รูปภาพที่โพสต์โดย AstvScience (@astvscience) เมื่อ



กำลังโหลดความคิดเห็น