โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
บุหรี่แต่ละมวนเปรียบได้กับยาพิษที่สูบได้ เพราะไม่ใช่แค่ตัวบุหรี่เท่านั้นที่เป็นพิษแต่ควันที่ไหม้คลุ้งออกมายังมีพิษยืดยาวเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ในวงกว้างอีก
เพียง 1 มวนก็คร่าชีวิตได้มากกว่า 1 แล้ว
ไม่ใช่แค่เฉพาะบุหรี่มีควันที่อันตรายแต่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าก็มีอันตรายต่อผู้เสพเช่นกัน
ในการสูบบุหรี่แต่ละครั้งนั้นมีพิษที่ชวนให้สั่งลาได้นับพันชนิด แถมในนั้นยังมีพิษเป็น “ปุ๋ยเร่งมะเร็ง” อีกกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งในแต่ละมวนนั้นจะทำให้ผู้สูบได้รับสิทธิ์เต็มๆดังต่อไปนี้ครับ
พิษมหากาฬในแต่ละมวน
ขอแบ่งเป็นกลุ่มง่ายๆ ให้เห็นชัดดังนี้ (อ้างอิง, American Lung Association and Cancer research, UK)
- ก๊าซพิษได้แก่คาร์บอนมอนอกไซด์,ไนโตรเจนออกไซด์,แอมโมเนียและไฮโดรเจนไซยาไนด์ซึ่งล้วนทำให้ตายได้ถ้าได้รับในปริมาณที่เป็นพิษ
- เคมีเร่งมะเร็งมีอยู่เพียบเป็นพิเศษเร่งมะเร็งได้ทั้งปาก,คอ,ทางเดินหายใจไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะ,ไต,ตับอ่อนและมะเร็งเม็ดเลือด(International Agency for Research on Cancer [IARC] 2004)
- ยาฆ่าแมลงคือไฮโดรเจนไซยาไนด์ ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้สังหารชาวยิวในค่ายกักกันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ทุกมวนเชิญชวนแขก
นานาสารพัดมะเร็ง, ถุงลมโป่งพัง (พังจริงๆ เพราะคืนดังเดิมไม่ได้), หอบหืด,ความดันสูง, ลูกน้อยในครรภ์ผิดปกติ, เซ็กส์เสื่อม,แก่เร็ว,อายุสั้นลงฯลฯ
ความเชื่อผิดๆ เรื่องบุหรี่
1) เลิกบุหรี่แล้วทำให้ไม่แข็งแรงเรื่องนี้ไม่จริงอย่างแรงครับท่านจะได้กำไรชีวิตในระยะยาวคุ้มกว่ามากแต่ช่วงแรกที่มีอาการเล็กน้อยนั้นมาจากพิษของ “นิโคติน” ที่ร่างกายเสพมานานดังนั้นการแข็งใจเลิกตั้งแต่ตอนนี้จึงดีที่สุดครับ
2) บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ องค์การอนามัยโลกประกาศว่าบุหรี่ไฟฟ้า “ไม่ใช่อุปกรณ์ช่วยเลิกบุหรี่” ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับโดยล่าสุดมีการศึกษาตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA ไม่นานนี้ชี้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้า(e-cigarette) ไม่ได้ทำให้อัตราการเลิกบุหรี่ลดลงหลังจาก 1 ปีแต่อย่างใดที่สำคัญในบุหรี่ไฟฟ้ามี “นิโคติน” ที่เข้มข้นซึ่งอันตรายต่อสุขภาพครับ
3) สูบแบบไม่สูดควันลงปอดไม่เป็นอะไรฟังดูโลกสวยแต่ไม่ใช่ทางช่วยหรือทางออกที่ดีเลยครับ เพราะบุหรี่มีเคมีพิษที่ฉาบอยู่บนฟันและเหงือกซึ่งเสียสุขภาพช่องปากเต็มๆ อีกอย่างคือไหนๆถ้าไม่สูดลงปอดแล้วเลิกสูบแล้วเคี้ยวหมากฝรั่งแทนไม่ดีกว่าหรือครับ
4) บุหรี่แบบสลิมปลอดภัยกว่า ไม่จริงอย่างยิ่ง เพราะถ้าขึ้นชื่อว่าบุหรี่มียาสูบแล้วมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งสิ้น ซ้ำร้ายบุหรี่ที่ให้รสสัมผัสหอมเย็นอย่าง “เมนทอล” ยิ่งทำให้ผู้สูบ “ติด” ง่ายขึ้นกว่าบุหรี่ทั่วไปซึ่งผลลัพธ์คือได้ “นิโคติน” และ “น้ำมันดิน” ซึ่งเป็นอันตรายเหมือนกัน
5) สูบบุหรี่นอกปลอดภัย ข้อนี้อาจไม่จริงเสมอไปนะครับ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ดร่วมกับแผนกสุขภาพแมสสาชูเสตต์เผยว่าบุหรี่ยี่ห้อดังหลายแบรนด์มีปริมาณ “นิโคติน” เพิ่มขึ้นถึงราว 11%
6) บุหรี่ช่วยสมองแล่นคิดงานได้ ข้อนี้ที่จริงเกิดจากสิ่งที่เรา “คาดไว้” ในใจมากกว่าด้วยพิษของ “นิโคติน” ที่ส่งผลต่อสมองทำให้คนสูบคิดว่าได้ผลลัพธ์คือคลายเครียดเกิดไอเดียผลิตงานได้แต่จริงแล้วนี่คือ “ผลลวง(Placebo effect)” ที่ผู้เชี่ยวชาญท่านว่ามาที่เรา “มโน” ไว้ล่วงหน้าก่อน(Nicotine & Tobacco Research Volume 5, Number 5 (October 2003) 695-709)
7) บุหรี่มีแค่นิโคตินที่อันตรายจริงแล้วร้ายกว่านั้นมากโดยสิ่งที่อาจมีในบุหรี่ 1 มวนได้แก่ สารหนู,เคมีกลุ่มเดียวกับน้ำยาอาบศพ,ตะกั่ว,แอมโมเนีย,คาร์บอนมอนอกไซด์และพิษรุนแรงอย่าง “ไซยาไนด์” ที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ถ้ารับในปริมาณหนึ่ง
8) บุหรี่ให้ผลร้ายเฉพาะผู้สูบเรื่องนี้ไม่จริงเลยครับพบว่าเคมีตัวร้ายคือ “นิโคติน” ในบุหรี่พบได้ในอวัยวะต่างๆของร่างกายมันไปถึงสมองได้ภายใน 10 วินาทีและที่สำคัญคือพบใน “นมแม่” ได้ด้วยครับ(PEDIATRICS Vol. 120 No. 3 September 1, 2007 pp. 497 -502)
9) สูบบุหรี่มานานไม่เป็นอะไรไม่ต้องกลัวไม่จริงอย่างแน่นอนแม้สบายตอนนี้แต่ไปมีโรคเอาข้างหน้าได้มีการศึกษามากมายเผยว่าผลระยะยาวของบุหรี่นั้นมีอยู่มหาศาลพูดง่ายๆว่าไม่เป็นมะเร็งวันนี้แต่อีก 10 ปีนั้น “ไม่แน่” ครับนอกจากนั้นยังมีเรื่อง “จุดรับภาพตาเสื่อม(AMD)” อีกที่เป็นผลระยะยาวจากบุหรี่ด้วย(Archives of Ophthalmology)(Arch Ophthalmol. 2007;125(8):1089-1095)
10) สูบบุหรี่ดีกว่าดื่มเหล้าที่จริงแล้วน่าเศร้าทั้งคู่ครับหนำซ้ำบุหรี่ยังชวนให้เสี่ยงพาเหล้าเข้าปากมากขึ้นอีกลองสังเกตง่ายเวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สูบบุหรี่ก็ชวนให้รู้สึก “อยาก” และเพื่อไม่ให้เหงาปากเพิ่มก็มักมีเหล้ามาด้วยการศึกษาชี้ว่าถ้าเสพร่วมกันจะเพิ่มความเสี่ย “มะเร็ง” โดยเฉพาะช่องปากและคออย่าง “ทวีคูณ(Multiplicative effect)” ครับ
11) ไหนๆก็สูบแล้วก็ต้องสูบต่อไปมีการศึกษาชิ้นสำคัญชี้ว่าถ้าท่าน “เลิกบุหรี่” ได้จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจลงได้อย่างมหาศาลภายใน 1 ปีที่เลิกอมควันและถ้าเลิกได้นานถึง 5 ปีก็จะลดความเสี่ยงมะเร็งช่องปาก,คอ,หลอดอาหารและกระเพาะปัสสาวะลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง(U.S.Department of Health and Human Services)
เลิกสูบตอนนี้จึงยังไม่สายแน่ครับ