xs
xsm
sm
md
lg

จะไปอย่างไรกันหลังผ่าทางตันแล้ว?

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ปกหน้าของ “AST ผู้จัดการสุดสัปดาห์” สะท้อนมุมมองของหลายวงการ นั่นคือ เมืองไทยเดินมาถึงทางตันและรัฐประหารได้ผ่าทางตันนั้นแล้ว อย่างไรก็ตาม วงการเหล่านั้นดูจะไม่เห็นพ้องต้องกันนักว่า ประเทศเดินมาถึงทางตันเพราะอะไร ยิ่งกว่านั้น ยังมักมองไม่ตรงกันอีกด้วยว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

ในฐานะผู้มีภูมิหลังทางด้านประวัติการพัฒนา ผมมองว่าการเดินมาถึงจุดนี้มีกระบวนการอันยาวนาน เหตุการณ์สำคัญทางการพัฒนาหลังประเทศเดินเข้าสู่คลื่นลูกที่ 3 แสดงอาการออกมาครั้งแรกเมื่อปี 2540 ในรูปของวิกฤตเศรษฐกิจ

คลื่นลูกที่ 3 เกิดจากการมีเทคโนโลยีดิจิตอลซึ่งทำให้โลกใบนี้มีสภาพไร้พรมแดนในหลายด้าน โดยเฉพาะการสื่อสารและการโยกย้ายเงินตราไปยังส่วนต่างๆ ของโลก ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ซึ่งเมืองไทยเป็นแหล่งเริ่มต้นหลังจากรัฐบาลประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวในเดือนกรกฎาคม ปัจจัยหลักที่ทำให้ภาวะนั้นเกิดขึ้นได้แก่การเปิดเสรีทางการเงินอันเป็นกลไกที่ทำให้คนไทยกู้ยืมเงินตราต่างประเทศได้จำนวนมากและรวดเร็ว

ความมักง่ายทำให้คนไทยกู้เงินตรามาเก็งกำไรกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากกิจการเหล่านั้นไม่ก่อให้เกิดรายได้ในรูปของเงินตราต่างประเทศ ตรงข้าม มันนำไปสู่การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการนำเข้าเพิ่มขึ้น กระบวนการนั้นก่อให้เกิดความไม่สมดุลร้ายแรงจนในที่สุดเมืองไทยขาดเงินตราที่จะนำมาชำระหนี้ ความล้มละลายทำให้ต้องลอยตัวค่าเงินบาทและเกิดวิกฤต

ต้นตอของปัญหามิได้มาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ หากมาจากความมักง่ายประกอบกับความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาที่นำไปสู่การกระทำความฉ้อฉลอย่างกว้างขวางรวมทั้งการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ดูแลภาคการเงิน

เศรษฐกิจฟื้นคืนชีพขึ้นมาหลังเวลาผ่านไปได้ชั่วระยะหนึ่ง แต่วิกฤตครั้งนั้นมิได้ทำให้ความมักง่ายและความฉ้อฉลลดลง ตรงข้าม มันกลับทวีขึ้นและนำไปสู่การเกิดรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งจากการใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย นโยบายของรัฐบาลในตอนนั้นเป็นการสมประโยชน์กันของนักการเมืองฉ้อฉลกับคนออกเสียงเลือกตั้งมักง่ายที่ขายเสียงเพียงเศษเงิน

นักการเมืองฉ้อฉลครองอำนาจมาจนถึงปี 2549 จึงถูกยึดอำนาจโดยรัฐประหาร การทำรัฐประหารครั้งนั้นเป็นการระงับการจะปะทะกันที่จะนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างแพร่หลายระหว่างประชาชนสองกลุ่มใหญ่ไม่ต่างกับในครั้งล่าสุดนี้ซึ่งชัย ราชวัตร สรุปได้ดีที่สุด

ในตอนก่อนเกิดรัฐประหารทั้งในปี 2549 และในปี 2557 คนชั่วไม่มีสำนึกเป็นกลุ่มเดียวกัน ส่วนหนึ่งอยู่ในรัฐบาลและอีกส่วนหนึ่งเป็นกระบวนการสนับสนุน ทางด้านคนดีที่หมดความอดทนและออกมาต่อต้านรัฐบาลในปี 2548-2549 มีขนาดเล็กกว่ากลุ่มที่ออกมาในปี 2556-2557 และใช้ชื่อต่างกัน แต่โดยทั่วไปดูจะเป็นที่เข้าใจกันว่า คนดีที่ออกมาร่วมต่อต้านรัฐบาลครั้งแรกส่วนใหญ่ในนามของ พธม. ก็ออกมาร่วมในครั้งหลังที่นำโดย กปปส. และ คปท.

รัฐประหารในปี 2549 ประสบความสำเร็จในด้านการป้องกันมิให้เกิดการปะทะกันของกลุ่มที่อยู่ในกระบวนการสนับสนุนรัฐบาลฉ้อฉลกับคนดีที่หมดความอดทนแล้ว แต่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในด้านการป้องกันมิให้คนชั่วกลับมาคุมอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง ซ้ำร้ายดูจะไม่มีผู้ตระหนักมากนักว่าต้นตอของปัญหาคือความเสื่อมทรามทางศีลธรรมจรรยาที่นำไปสู่การกระทำความฉ้อฉลซึ่งเมื่อรวมกับความมักง่ายที่คนไทยส่วนใหญ่มีอยู่ในกระดูกดำทำให้เกิดพิษร้ายแรงยิ่ง

เหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมานี้บ่งชี้ว่า รัฐประหารปี 2557 ป้องกันมิให้สองฝ่ายปะทะกันครั้งใหญ่จนเสียเลือดเนื้ออีกครั้งและผ่าทางตันของการบริหารประเทศได้เมื่อขับไล่รัฐบาลรักษาการเป็ดง่อยที่ไม่มีแม้กระทั่งนายกรัฐมนตรีรักษาการแต่หน้าด้านยึดเก้าอี้แบบไม่มียางอาย ฉะนั้น ประเด็นสำคัญ ณ วันนี้จึงอยู่ที่ผู้มีอำนาจจะพาประเทศชาติไปไหนและไปอย่างไร

ตามที่ประกาศออกมา ผู้มีอำนาจจะพาประชาชนไปสู่ความสงบสุข นั่นเป็นเป้าหมายที่คงไม่มีใครแย้งยกเว้นจากผู้ที่สติไม่สมประดีเท่านั้น ประเด็นจึงเป็นเรื่องของการจะไปสู่เป้าหมายนั้นอย่างไร

หัวจักรหมายเลขหนึ่งซึ่งจะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้แก่กระบวนการทางการเมือง เนื่องจากบทความเรื่องนี้ไม่มีมุมมองทางการเมือง จึงไม่มีข้อเสนอว่าควรจะทำอย่างไร อย่างไรก็ดี มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเสนอทางเลือกไว้หลายทางแล้ว จากมุมมองของกระบวนการพัฒนา ไม่ว่าจะเลือกเดินทางไหน มันจะต้องได้กลุ่มคนดีที่มีความเชี่ยวชาญหลากหลายแต่ไม่มีความฉ้อฉลอยู่ในกมลสันดานเข้ามาบริหารบ้านเมืองซึ่งจะทำให้ความฉ้อฉลลดลงจากระดับที่เห็นเป็นที่ประจักษ์อยู่ในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นควรเป็นเรื่องโครงการรับจำนำข้าว ทั้งนี้เพราะข้าวเป็นหัวใจของชาติไทยและกำลังประสบปัญหาร้ายแรงมาก

โครงการรับจำนำข้าวเป็นนโยบายประชานิยมเลวร้ายที่กำลังทำลายภาคสำคัญยิ่งของประเทศ การขาดทุนมหาศาลจำนวนหลายแสนล้านบาทเกิดขึ้นแล้ว แต่นั่นเป็นเพียงด้านเดียวที่มักเป็นข่าวใหญ่ ยังมีความเสียหายอีกหลายด้านที่มีการพูดถึงน้อย เช่น ชาวนาที่ไม่ได้รับเงินจากโครงการทันเวลาต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้จ่ายและลงทุนต่อ เงินนอกระบบคิดอัตราดอกเบี้ยสูงมากจึงทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวได้ง่ายซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม การฆ่าตัวตายของชาวนาจำนวนมากเกิดจากปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว

อนึ่ง ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกมากๆ ที่รัฐบาลตั้งไว้ทำให้ชาวนาเร่งผลิตข้าวแบบสุกเอาเผากิน การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้คุณภาพของข้าวไทยลดลงจนแพ้ของคู่แข่งแล้ว ยิ่งกว่านั้น โครงการนี้ยังทำลายระบบตลาดข้าวที่ทำงานได้ดีมาตลอดประวัติศาสตร์ มันกำลังก่อให้เกิดระบบผูกขาดที่จะมีผลร้ายต่อไปในวันข้างหน้า ปัญหาอีกด้านหนึ่งซึ่งร้ายแรงมากไม่น้อยกว่ากันได้แก่ความฉ้อฉลอย่างกว้างซึ่งดูจะมีหลักฐานชี้บ่งแบบเป็นที่ประจักษ์แล้ว เช่น การหายไปของข้าวในโกดังและการโกหกของรัฐบาลว่ามีการขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

ผู้มีอำนาจได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะเร่งหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการ นั่นเป็นมาตรการที่มีความเหมาะสมอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นโครงการนี้จะต้องถูกยกเลิกไปเพราะมันเป็นประชานิยมแล้วร้ายที่จะทำลายประเทศชาติแน่นอน ยิ่งกว่านั้น จะต้องมีมาตรการนำบุคคลที่มีส่วนร่วมทำความฉ้อฉลจนเกิดการขาดทุนมหาศาลมาลงโทษอย่างสาสมอันจะเป็นการส่งสัญญาณต่อสังคมว่าผู้มีอำนาจเข้าใจในกระบวนการพัฒนา ความฉ้อฉลเป็นอุปสรรคใหญ่และกลไกทางการเมืองจะต้องทำให้มันลดลง

จากมุมมองของวิวัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจ หลังเกิดวิกฤตเมื่อปี 2540 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสนอให้ใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแก้ปัญหา ในฐานะผู้มีประสบการณ์ยาวนานทางด้านการพัฒนาขอยืนยันว่า นอกจากจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้แล้ว แนวคิดนี้มีความเหมาะสมที่จะนำสังคมไทยไปสู่ความสงบสุขตามเป้าหมายที่ผู้มีอำนาจเพิ่งประกาศไว้ด้วย

อนึ่ง แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีความกว้างลึกที่จะต้องศึกษาจึงจะเข้าใจและนำไปปฏิบัติได้ทั้งในระดับบุคคลและสังคม เพื่อการนี้ มีหนังสือที่ดาวน์โหลดได้ฟรี 2 เล่มชื่อ สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของสโมสรหนอนหนังสือ www.bookishclub.com และเรื่อง ทางข้ามเหว : แนวคิดสำหรับแก้วิกฤติไทย ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.org

ทั้งที่แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมีความเหมาะสมทั้งแก่สังคมโลกปัจจุบัน และสังคมไทยดังที่อธิบายไว้ในหนังสือ 2 เล่มนั้น แต่ยังไม่มีรัฐบาลไหนให้ความใส่ใจที่จะนำมาใช้เป็นฐานของการพัฒนาประเทศอย่างจริงจังหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เนื่องจากผู้กุมอำนาจในปัจจุบันประกาศอย่างแจ้งชัดว่า จะเทิดทูนพระองค์ผู้ทรงเป็นต้นคิด จึงควรพิสูจน์ความจริงใจด้วยการนำแนวคิดของพระองค์มาใช้เป็นฐานของการปฏิรูปประเทศทุกด้านก่อนการเลือกตั้ง หรือการเดินทางหลังรัฐประหารผ่าทางตันสำเร็จแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น