xs
xsm
sm
md
lg

มองสงครามจิตวิทยาระหว่างอาร์เจนตินากับพ่อค้าเงินทุน

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา อาร์เจนตินาเป็นข่าวใหญ่อีกครั้งหลังข่าวการเข้าชิงถ้วยฟุตบอลโลกจางไปได้ไม่นาน การเข้าชิงถ้วยครั้งนั้น อาร์เจนตินาแพ้เยอรมนีแบบเฉียดฉิว เหตุการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ครั้งนี้มีลักษณะของสงครามจิตวิทยาที่ชาวอาร์เจนตินามีโอกาสแพ้และรับผลกรรมสูงกว่าครั้งนั้นมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งของอาวุธที่รัฐบาลใช้เป็นการจงใจชักดาบหนี้ที่ตนมีอยู่กับชาวต่างประเทศ แม้จะเป็นสงครามของพวกเขา แต่เราก็ควรมองดูเพื่อจะได้เรียนรู้ไว้บ้าง

รัฐบาลอาร์เจนตินางดชำระหนี้ที่ถึงกำหนดเวลาเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมหลังจากงดชำระไปครั้งหนึ่งเมื่อ 11 ปีที่แล้ว แต่การงดชำระหนี้ครั้งนี้ต่างกับเมื่อ 11 ปีก่อน ตอนนั้น อาร์เจนตินาไม่สามารถชำระหนี้ที่มีอยู่กว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ได้เพราะตกอยู่ในภาวะล้มละลายและไม่มีเงินตราต่างประเทศอยู่ในมือ ครั้งนี้ รัฐบาลมีเงินตราต่างประเทศมากพอแต่ตัดสินใจไม่จ่ายเพราะไม่พอใจพฤติกรรมของเจ้าหนี้ที่เป็นกองทุนเพื่อเก็งกำไรไม่กี่ราย หนี้ที่ถึงกำหนดชำระครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของหนี้ที่รัฐบาลอาร์เจนตินาไม่สามารถชำระได้ในครั้งนั้น หลังจากรัฐบาลไม่สามารถชำระหนี้ได้ในปี 2546 เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ตกลงปรับโครงสร้างหนี้ให้โดยลดจำนวนเงินต้นลงราว 70% พร้อมกับยืดกำหนดเวลาชำระออกไปเพื่อทำให้ภาระของการชำระหนี้ในแต่ละปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เจ้าหนี้ที่ไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ได้ขายหนี้ที่ตนมีอยู่ต่อไปให้แก่กองทุนเพื่อเก็งกำไรโดยลดราคาให้ในอัตราสูง ฉะนั้น กองทุนเพื่อเก็งกำไรจะทำกำไรได้อย่างงดงามหากตนสามารถตามเก็บหนี้นั้นได้ทั้งหมด อย่างไรก็ดี หากตามเก็บหนี้ไม่ได้ กองทุนเพื่อเก็งกำไรจะไม่ได้ทุนคืน พวกเขาประเมินแล้วว่าน่าจะเก็บได้ในระดับหนึ่งซึ่งจะส่งผลให้ได้ค่าตอบแทนสูงคุ้มค่ากับการกล้าเสี่ยง หลังจากเวลาผ่านไป ปรากฏว่าอาร์เจนตินาไม่ยอมชำระหนี้ส่วนนี้ให้แก่กองทุนเพื่อเก็งกำไรส่งผลให้พวกเขาฟ้องอาร์เจนตินาในศาลอเมริกัน พวกเขาทำเช่นนั้นได้เพราะในสัญญากู้เงิน อาร์เจนตินาทำข้อตกลงไว้ว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาเมื่อไร ทุกฝ่ายสามารถขอคำวินิจฉัยจากศาลอเมริกันได้และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยจะต้องยอมรับคำวินิจฉัยนั้น

ศาลอเมริกันใช้เวลานานหลายปีก่อนที่จะออกคำวินิจฉัยเมื่อปลายปีที่แล้วว่าอาร์เจนตินาต้องชำระหนี้ตามสัญญาให้แก่กองทุนเพื่อเก็งกำไรก่อนที่จะชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว อาร์เจนตินาพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางที่จะทำให้ศาลอเมริกันกลับคำวินิจฉัยนั้น แต่ศาลไม่ยอมเปลี่ยนใจส่งผลให้อาร์เจนตินาตัดสินใจไม่ชำระหนี้ทั้งหมดที่ถึงกำหนดชำระเมื่อปลายเดือนที่แล้ว เนื่องจากตอนนี้ อาร์เจนตินามีเงินตราต่างประเทศอยู่ในกำมือมากพอที่จะชำระหนี้ที่ถึงกำหนดเวลาได้ การไม่ชำระจึงมีค่าเท่ากับอาร์เจนตินาจงใจชักดาบ

อะไรจะเกิดขึ้นหลังการชักดาบครั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด ผู้สันทัดกรณีจำนวนหนึ่งคาดว่า อาร์เจนตินาจะหาข้อตกลงกับบรรดากองทุนเพื่อเก็งกำไรได้ก่อนที่ปัญหาร้ายแรงจะเกิดขึ้นโดยอาร์เจนตินาจะไม่ต้องจ่ายหนี้ทั้งหมด หากตกลงกันไม่ได้ เจ้าหนี้อาจใช้วิธียึดทรัพย์ของอาร์เจนตินาที่ตนสามารถเข้าถึง เมื่อปีที่แล้ว กองทุนเพื่อเก็งกำไรแห่งหนึ่งขอให้ศาลในประเทศกานาสั่งอายัดเรือของอาร์เจนตินาที่กำลังเทียบท่าอยู่ที่กานา ปรากฏว่าศาลยินยอม แต่ก่อนที่เจ้าหนี้จะทำอะไรต่อไป อาร์เจนตินานำเรื่องไปฟ้ององค์การสหประชาชาติซึ่งวินิจฉัยให้กานาปล่อยเรือลำนั้นเนื่องจากมันมิใช่เรือสินค้า หากเป็นเรือของกองทัพเรือเพื่อใช้ในการฝึกทหาร กองทุนเพื่อเก็งกำไรจะพยายามทำอะไรในแนวนั้นอีกหรือไม่ยังไม่มีใครฟันธง พวกเขาอาจหาทางอายัดเงินในบัญชีที่อาร์เจนตินามีอยู่กับธนาคารต่างประเทศก็ได้

ผู้สัดทัดกรณีบางคนมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นการประลองเชิงในสงครามจิตวิทยา หรือการชิงไหวชิงพริบกันระหว่างอาร์เจนตินากับกองทุนเพื่อเก็งกำไร อาร์เจนตินาพยายามใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์กดดันกองทุนเหล่านั้นอย่างหนักซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่งเนื่องจากตอนนี้มีนักการเงินและสื่อบางแห่งเรียกกองทุนว่า “อีแร้ง” แล้ว

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ยังทำสงครามจิตวิทยากันอยู่ ความเดือดร้อนมิได้ตกอยู่กับกองทุนเพื่อเก็งกำไรเพราะพวกเขาได้คำนวณไว้ล่วงหน้าแล้วว่าผลกำไรจะไม่ถูกกระทบมากนัก หากตามเก็บหนี้ส่วนนี้ไม่ได้ แต่ไปตกอยู่กับชาวอาร์เจนตินาเมื่อรัฐบาลไม่สามารถออกพันธบัตร หรือกู้ยืมเงินในตลาดโลกได้และการลงทุนต้องลดลงส่งผลให้การจ้างงานลดลงด้วย ความซบเซา หรือถดถอยจะตามมาจากปฏิกิริยาลูกโซ่ที่เกิดขึ้น

เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวของอาร์เจนตินายืดเยื้อมาหลายสิบปี ต้นตอสำคัญของปัญหาเป็นนโยบายประชานิยมชนิดเลวร้ายที่รัฐบาลเริ่มนำเข้าไปใช้ตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มขึ้นครบรอบร้อยปีเมื่อปลายเดือนที่แล้ว ความมั่งคั่งของอาร์เจนตินาเอื้อให้สามารถใช้นโยบายเลวร้ายนั้นได้จนกระทั่งปี 2499 เมื่อประเทศแบกภาระหนี้ต่อไปไม่ได้ส่งผลให้ต้องล้มละลายและไปขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ หลังจากนั้นมา เศรษฐกิจของอาร์เจนตินาก็ล้มลุกคลุกคลานเมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศสและแคนาดา ร้ายยิ่งกว่านั้น ทหารยึดอำนาจหลายครั้ง แต่รัฐบาลทหารก็ยังใช้นโยบายประชานิยมและก่อให้เกิดการฆ่าฟันกันอย่างแพร่หลายจนชาวอาร์เจนตินาล้มตายและสูญหายไปหลายหมื่นคน

เป็นเวลากว่าสิบปี ผมพยายามชี้ให้เห็นความเลวร้ายของนโยบายประชานิยมในอาร์เจนตินาหลังเมืองไทยนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ทรชนขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 รวมทั้งได้เขียนหนังสือชื่อ ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย? ไว้ด้วย หลังเวลาผ่านไปได้ชั่วระยะหนึ่ง หนังสือเล่มนั้นวิวัฒน์มาเป็น ประชานิยม : ทางสู่ความหายนะ แม้จะพยายามมากสักเท่าไร แต่ดูจะไม่ค่อยมีคนไทยมองเห็นความเลวร้ายของนโยบายประชานิยม

อย่างไรก็ดี ณ วันนี้เป็นที่น่ายินดีว่า คสช.ได้ยกเลิกบางโครงการที่รัฐบาลก่อนๆ เริ่มไว้ไปบ้างแล้วโดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าวซึ่งสร้างความเสียหายร้ายแรงมากนอกจากทางด้านการเงินนับแสนล้านบาทแล้ว ยังเป็นด้านการทำลายคุณภาพของข้าวไทยและด้านกลไกตลาดเสรีที่เมืองไทยใช้ซื้อขายข้าวมาตลอดประวัติศาสตร์อีกด้วย หวังว่า คสช.จะพิจารณายกเลิกโครงการจำพวกนี้ต่อไป และไม่ยอมรับโครงการประชานิยมใหม่ๆ ซึ่งกำลังถูกบางฝ่ายกดดันให้ทำ การกดดันเช่นนี้มีต่อรัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาซึ่งในที่สุดทนไม่ไหวต้องเอาใจพวกกลุ่มคนเห็นแก่ตัวชั้นเลวร้าย ผลสุดท้าย แทนที่จะช่วยแก้ปัญหา รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินากลับเพิ่มโครงการประชานิยมเข้าไปอีก

ตอนนี้เริ่มมีความกังขาเกิดขึ้นแล้วว่า คสช.จะยึดมั่นในหลักการที่จะไม่ใช้นโยบายประชานิยมไปได้นานแค่ไหน เนื่องจากได้ประกาศขึ้นเบี้ยหวัดให้แก่ผู้รับบำนาญและขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการไปแล้ว ประชานิยมแนวนี้มีเกิดขึ้นในกรีซซึ่งล้มละลายไปเมื่อปีก่อน ตอนนี้มีความกดดันเรื่องราคาพลังงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อีกไม่นานก็คงจะมีความกดดันเรื่องราคาข้าวเมื่อฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปีใกล้เข้ามา ยิ่งกว่านั้น ยังจะมีความกดดันจากเรื่องราคาพืชผลเกษตรต่างๆ อย่างอื่นอีกด้วย เรื่องปัญหาของชาวนาและราคาพืชผลเกษตรคงแก้ไขไม่ได้มาก หากไม่มีการปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังดังที่มีการเสนอไว้ในรายงานของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดก่อนที่อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน

ต้นตอของความกังขาเริ่มมีมาตั้งแต่การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 10 คนหลังการยึดอำนาจซึ่งคอลัมน์นี้ชี้ไว้ในบทความประจำวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา การแต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในโอกาสต่อมามิได้ทำให้ความกังขานั้นลดลง ตรงข้ามมันทำให้เพิ่มขึ้นเพราะอัตราของสมาชิกแทบไม่ต่างกับอัตราของคณะที่ปรึกษาและมีความเป็นมาในแนว “มีวันนี้เพราะพี่ให้” มากกว่าหลักการใช้คนตรงความสามารถเนื่องจากมีทหารและตำรวจกว่าครึ่ง หลายคนเป็นเครือญาติกัน บางคนมีประวัติขุ่นมัวและหลายคนเป็นเศรษฐีที่ดิน ฉะนั้น ถ้าจะให้ฟันธง คงต้องฟันว่า การปฏิรูปที่ดินอย่างจริงจังดังที่กระบวนการพัฒนาที่เหมาะสมต้องการจะไม่มีทางเกิดขึ้นในรัฐบาลที่จะมาถึง


ประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่า รัฐบาลทหารของอาร์เจนตินาเป็นผู้ร่วมสร้างปัญหาโดยการใช้นโยบายประชานิยมเช่นเดียวกับนักการเมืองเลวๆ ทั่วไป และปัญหาได้ยืดเยื้อมาจนกระทั่งทุกวันนี้โดยมีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวรวมอยู่ด้วย หวังว่ารัฐบาลที่มีทหารเป็นหัวจักรของไทยจะได้บทเรียนและไม่ทำตามเขา ในอีกสิบปีหรือยี่สิบปีข้างหน้า เราจะได้ไม่ต้องมองย้อนกลับไปแล้วสรุปอย่างเศร้าใจว่า คสช.ก็ร่วมสร้างปัญหายืดเยื้อให้แก่เมืองไทยไม่ต่างกับรัฐบาลทหารของอาร์เจนตินา

กำลังโหลดความคิดเห็น