“ให้กินนิดหน่อยไม่เป็นไรหรอกน่า สงสารมัน” ประโยคคุ้นหูที่ใครปฏิเสธไม่ได้ว่าความใจดี มีเมตตา รักสัตว์ เป็นอุปนิสัยของคนไทย เราจึงเห็นภาพการให้อาหารหมา แมว นก ปลา เป็นเรื่องชินตา บ้างก็ว่าทำบุญ บ้างก็ให้เพราะสงสาร แต่เคยรู้หรือไม่ว่าพฤติกรรมใจบุญไม่เลือกที่เหล่านี้ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สัตว์เสียนิสัยจน “ผิดธรรมชาติ” อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศในวงกว้างแบบที่คาดไม่ถึง
จากกรณีที่ดีเจหนุ่มรายหนึ่งโพสต์ภาพขณะนำขนมปังให้ปลาในทะเล จนเกิดเป็นประเด็นถกเถียงบานปลายทางสื่อสังคมออนไลน์มาสักพัก ทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจและเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นทั้งในแง่ความเหมาะสมและหลักทางวิทยาศาสตร์ที่ควรจะเป็น
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงได้รวบรวมเอาคำแนะนำจากสัตวแพทย์ นักสัตววิทยา นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมวิทยาของสัตว์ ตลอดจนคำชี้แจงจากองค์กรที่เกี่ยวข้องต่างๆ มานำเสนอ ทั้งเรื่องราวของการให้อาหารปลาและสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่กำลังประสบปัญหาในภาวะใกล้เคียงกัน
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวชี้แจงบนเฟซบุ๊กของเขาว่า การให้อาหารปลาในแนวปะการังเป็นเรื่องไม่สมควร และมีการประกาศไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งในส่วนของกรมอุทยานที่มีการประกาศไม่อนุญาตให้ผู้ใดให้อาหารปลาในเขตปะการังมาตั้งแต่ปี 2555 และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้บอกชัดเจนว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่สมควร แต่ที่ยังบังคับใช้กับการให้อาหารปลาในแนวปะการังทั่วประเทศไม่ได้ เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมายังไม่มี พระพราชบัญญัติ (พรบ.) ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แต่ขณะนี้ พรบ.ดังกล่าวผ่านการอนุมัติแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมเพื่อบังคับใช้ทั่วประเทศ
ดร.ธรณ์ เผยว่า นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลหลายสถาบัน ได้ศึกษาวิจัยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการให้อาหารปลาในแนวปะการังหลายด้าน แต่ผลกระทบที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันหมดคือ จะทำให้ปลาเสียนิสัยและทำให้แนวปะการังเสียหาย เพราะปลาในทะเลหลายร้อยชนิดจะเป็นผู้ดูแลระบบนิเวศกันเองและมีแค่ปลาบางชนิดเท่านั้นที่กินขนมปัง
"หากประชาชนนำขนมปังไปให้อาหารปลามากขึ้น ปลาที่กินขนมปังก็จะเข้ามาในพื้นที่นั้นมากขึ้น จนปลาประจำถิ่นที่กินสาหร่ายเป็นอาหาร อย่างปลาเสือ หรือ ปลานกแก้ว โดนผลักดันออกจากพื้นที่ซึ่งเท่ากับเป็นการเร่งให้เกิดการสูญพันธุ์ เพราะไม่ใช่ปลาทุกชนิดที่จะปรับสภาพเพื่ออพยพไปอยู่ยังผืนน้ำอื่นได้ เพราะทุกที่ก็มีปลาเจ้าถิ่นเช่นกัน" ข้อความจาก ดร.ธรณ์เผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์
มากไปกว่านั้น ดร.ธรณ์ระบุว่าเมื่อปลากินสาหร่ายลดจำนวนลง สาหร่ายในแนวปะการังก็จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นจนทำลายแนวปะการัง และบดบังแสงอาทิตย์จนปะการังตายในที่สุด สวนทางกับแนวทางอนุรักษ์ปะการัง เพราะขณะนี้ปะการังของประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 23% และมีแนวโน้มที่จะลดลงปีละ 1% และถูกจัดให้อยู่ในภาวะเสื่อมโทรมอย่างมาก
"แปลว่าภายใน 20 ปีปะการังของประเทศไทยจะหมดไปซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่างเราเป็นห่วงมาก และมันจะกระทบกับการท่องเที่ยวด้วย เพราะถ้าให้พูดตรงๆ ไทยได้เงินจากการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาไทย 28.5 ล้านคน แล้ว70% ของต่างชาติที่มาไทย คือเขาอยากมาดูทะเล มาดูแนวปะการัง แล้วถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา ปล่อยให้มันค่อยๆ หมดไปอย่างนี้ อีกหน่อยคงไม่มีใครมาเที่ยวบ้านเรา ลำพังแค่โลกร้อนปะการังก็ฟอกขาวตายเยอะพออยู่แล้ว ถ้าจะซ้ำเติมด้วยขนมปังชิ้นเล็กๆ อีกมันคงแย่ อยากให้ทุกคนลองคิดดูดีๆ" ดร.ธรณ์ แสดงทัศนะ
นอกจากนี้ข้อมูลจากกรีนพีซยังระบุด้วยว่า การให้ขนมปังกับปลาเป็นอันตรายต่อสุขภาพปลาและทำให้เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหาร เพราะขนมปังที่นำมาใช้เป็นอาหารปลาส่วนใหญ่ เป็นขนมปังที่หมดอายุ ซึ่งอาจจะมีเชื้อราและสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งมีความเป็นพิษสูงปนเปื้อนอยู่ เมื่อปลากินเข้าไปก็จะไปสะสมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในที่สุด
เช่นเดียวกับการให้อาหารปลารอบๆ เรือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีคราบน้ำมันบริเวณผิวน้ำโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเรือท่องเที่ยวจอดรวมกัน โดยคราบน้ำมันจะซึมเข้าสู่อาหารที่ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เมื่อปลาตัวเล็กกินอาหารเหล่านี้เข้าไป สารพิษในน้ำมันก็จะสะสมในตัวปลาและส่งต่อสู่สายอาหารต่อกันไปเป็นทอดๆและผู้บริโภคสูงสุดในห่วงโซ่อาหารคือ "มนุษย์นั่นเอง"
พูดถึงปลาไปแล้ว สัตว์อีกชนิดที่คนไทยคุ้นชินกับการให้อาหารคงหนีไม่พ้น "ลิง" เจ้าจ๋อกินกล้วยที่ขยับมาอยู่ในบ้านและถนนแทนที่ป่า แถมยังออกลูกหลานบานตะไท จนเมืองลพบุรีขณะนี้เข้าขั้นวิกฤต
ศ.ดร.สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้อาหารลิงในธรรมชาติของมนุษย์ทำให้ลิงมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป สังเกตได้จากลิงตามสถานที่ท่องเที่ยวเช่น ศาลพระกาฬ จ.ลพบุรี, พระนครคีรี หรือ เขาวัง จ.เพชรบุรี ที่จะคอยมาขออาหารจากนักท่องเที่ยว
ศ.ดร.สุจินดา กล่าวว่า ปกติลิงจะหากินตามธรรมชาติ ตามฤดูกาลจึงรู้จักปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รู้จักเรียนรู้การใช้ชีวิตกับธรรมชาติและเรียนรู้การหาอาหาร การอยู่กันแบบสังคมเกื้อกูล เช่นแบ่งปันอาหารกัน ช่วยกันเฝ้าระวังผู้ล่าในขณะกินอาหาร หรือแม้กระทั่งการแก่งแย่งแข่งขันกันภายในระหว่างฝูง โดยเฉพาะในฝูงลิงที่มีการใช้เครื่องมือในการหาอาหาร เช่น ลิงชิมแปนซี อุรังอุตัง กอริลล่า ลิงคาปูชิน ลิงมาแคคหางยาว (Long-tailed macaque) ที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้และถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น
ทว่า เมื่อนักท่องเที่ยวให้อาหารมากขึ้นทั้งกล้วย ขนมปัง หรือผลไม้ต่างๆ ลิงจึงมานั่งรออาหารจากคนแทน ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไป นอกจากนี้ที่สัตว์ป่าอย่างลิงเปลี่ยนพฤติกรรมมาอยู่ใกล้คนมากๆ ยังเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งรังโรคที่นำเชื้อโรคจากสัตว์ป่ามาสู่คน (bidirectional zoonotic transmission) ที่อาจทำให้เกิดโรคระบาดอย่างอีโบลาเมื่อปีที่ผ่านมา
"ที่น่ากลัวกว่าคือ เมื่อลิงมีแหล่งอาหารไม่ต้องหาอาหารเอง เวลาสำหรับการสืบพันธุ์จึงมีมากขึ้น ทำให้มีจำนวนประชากรที่มากเกินไป และเมื่อมีประชากรมากความต้องการอาหารก็มากขึ้น หากอาหารที่คนให้ไม่เพียงพอ ลิงจะเข้ามากวนคน เข้าบ้านคน หรือเข้าไปทำลายเรือกสวนไร่นา ปัญหาที่ตามมาคือ คนโกรธลิง ฆ่าลิง ยิงลิง จับลิงมาทำหมัน ย้ายลิงไปที่อื่น ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาที่ใหม่ ขยายวงไปอีกเรื่อยๆ และที่เห็นบ่อยคือคนมักจะชอบแหย่ ยื้ออาหารที่จะให้ลิงไปมา ลิงเลยเรียนรู้ว่า เมื่อเห็นอาหารต้องรีบแย่ง กลายเป็นก้าวร้าว กัดคน ทุบรถคน กระชากเสื้อผ้า ดึงผมคน จนเป็นปัญหาใหม่อีก ฉะนั้นการให้อาหารลิง ไม่ใช่การเมตตาสัตว์ แต่เป็นการทำร้ายลิงทางอ้อม " ศ.ดร.สุจินดาชี้ปัญหา
ด้าน สพ.ญ.ดร.อุตรา จามีกร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตปศุสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การให้อาหารสัตว์ตามธรรมชาติ นอกจากจะทำให้สัตว์เสียพฤติกรรม และเสียสุขภาพแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดสัตว์จรจัดเพิ่มมากขึ้น
สพ.ญ.ดร.อุตรา เผยว่า สัตว์ตามธรรมชาติมีสัญชาตญาณการหาอาหารและเอาตัวรอด หากคนให้อาหารสัตว์ตัวนั้นบ่อยๆ จะทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าที่นี่มีอาหารไม่ต้องไปหาเอง จนในที่สุดสัญชาติญาณที่มีในสัตว์ตัวนั้นๆ จะลดน้อยลง มากไปกว่านั้นหากคนให้อาหารแบบไม่มีการศึกษาว่าสัตว์แต่ละชนิดมีพฤติกรรมอย่างไร กินอะไร ยังจะทำให้สัตว์ขาดสารอาหาร หรือป่วยตายได้ด้วย
สำหรับสัตว์ในสวนสัตว์ที่มีการเปิดให้ผู้เข้าชมให้อาหารได้นั้น สพ.ญ.ดร.อุตรเผยว่า ไม่น่าเป็นห่วงเหมือนสัตว์ตามธรรมชาติ เพราะเจ้าหน้าที่สวนสัตว์จะระบุชนิดอาหาร และรู้ขอบเขตว่าสัตว์ตัวไหนควรกิน และสัตว์ตัวไหนควรหยุด ในขณะที่สัตว์ตามธรรมชาติจะกินตลอดเวลาและกินไม่เลือก หากมีคนมาให้อาหารทั้งวัน แถมยังมีแนวโน้มดุร้ายและก้าวร้าวขึ้นหากไม่ได้อาหารเหมือนที่เคยได้
"ส่วนตัวไม่แนะนำให้คนให้อาหารกับสัตว์ในธรรมชาติ รู้ค่ะว่าใจบุญ แต่ความจริงแล้วมันเป็นการสร้างบาป เป็นการผลักภาระให้ผู้อื่น ต้องคิดไปถึงธรรมชาติและระบบนิเวศของเขาด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฉันเป็นคนดี ฉันรักสัตว์อย่างเดียว การปล่อยนก ปล่อยปลาแบบไม่มีความรู้ก็เช่นกัน" สพ.ญ.ดร.อุตรา กล่าวแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
สพ.ญ.ดร.อุตรา เผยว่า นอกจากการให้อาหารสัตว์ในธรรมชาติแล้ว การปล่อยสัตว์ออกสู่ธรรมชาติก็เป็นอีกสิ่งที่ควรระวัง เช่น การปล่อยปลา ปล่อยนก ปล่อยเต่า พิธีสะเดาะเคราะห์ยอดฮิตของชาวพุธ ที่สัตวแพทย์อย่างเธอเห็นแล้วต้องถอนหายใจเพราะ ส่วนใหญ่สัตว์ที่ถูกปล่อยเหล่านั้น มักไม่รอดและมีความเสี่ยงสูงกับการถูกจับซ้ำ การทำบุญลักษณะนี้จึงเหมือนไม่ได้บุญ แต่ได้บาป ซ้ำยังเสียเงินให้กับพ่อค้าแม่ค้าอีกด้วย
"คนเรามักจะปล่อยปลา เพราะเชื่อว่าการปล่อยเป็นการปล่อยทุกข์ปล่อยโศก แต่ไม่ได้นึกว่าปลาที่เราปล่อยมันจะทุกข์หรือสุข เพราะทุกที่มีปลาประจำถิ่น แล้วปลาที่เราปล่อย ส่วนมากก็เป็นปลาตัวเล็ก แน่นอนกลายเป็นอาหารชั้นดีให้ปลาใหญ่ เหมือนปล่อยปลาไปตาย ถ้าจะปล่อยให้หาตัวใหญ่ๆ ที่มันเหมาะกับสภาพแหล่งน้ำที่เราจะไปปล่อย ค้นหาอินเทอร์เน็ตก็ได้ ข้อมูลมีครบ ส่วนเต่าก็เหมือนกันบางคนไม่รู้ ซื้อเต่าบกไปปล่อยแม่น้ำ ตายแน่นอน เหมือนเอาคนไปล่อยกลางทะเล มันจะว่ายน้ำได้ยังไงในเมื่อตีนมันไม่มีพังผืด จะทำบุญทั้งทีอยากให้รอบคอบ ศึกษาก่อนสักนิด มิฉะนั้นจะได้บาปแทน" สพ.ญ.ดร.อุตรา ฝากผ่านทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์