xs
xsm
sm
md
lg

นักธรณีคลายปม “กระดูกพญานาค” น่าจะเป็น “ยิปซัม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลึกดังกล่าวถูกอ้างว่าเป็นกระดูกและทรัพย์สินของพญานาค (ภาพจากแฟ้มข่าวภูมิภาคผู้จัดการออนไลน์)
นักธรณีวิทยาคาด “กระดูกและทรัพย์สินพญานาค” ที่พบในบ่อน้ำแล้งนครพนม น่าจะเป็น “แร่ยิปซัม” ที่ตกผลึกตามธรรมชาติเพราะน้ำแล้งจัด พร้อมฟันธงทันทีหากส่งมาให้ตรวจพิสูจน์ วอนคนไทยมองมุมวิทย์ แนะระวังคนขายโก่งราคา เพราะราคายิปซัมกิโลกรัมละ 50 สตางค์

จากกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ อ.ปลาปาก จ.นครพนม พบวัตถุประหลาดกลางอ่างเก็บน้ำ มีรูปร่างกลมมีแฉกออกมาลักษณะคล้ายกระดูก ซึ่งลือกันว่าเป็นกระดูกและทรัพย์สมบัติของพญานาคจนมีชาวบ้านหลายคนนำธูปเทียนมาจุดบูชาเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ติดต่อไปยังนักธรณีวิทยาจากหลากหลายสถาบันให้ช่วยไขข้อข้องใจถึงสิ่งที่พบ ว่าแท้จริงแล้วน่าจะเป็นวัตถุชนิดใด

 รศ.ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหินและอัญมณี เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า จากก้อนที่พบซึ่งสังเกตได้ไม่ชัดเจนนักนั้น เบื้องต้นสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแร่ยิปซัม เนื่องจากผลึกมีขนาดเล็ก ส่วนลักษณะแปลกตาที่เป็นเป็นเหมือนหนามงอกจากแนวรัศมีเกิดจากการตกผลึกตามธรรมชาติ เนื่องจากน้ำในบ่อแห้ง ซึ่งเดิมทีบริเวณก้นบ่ออาจจะมีการสะสมพวกสารประกอบแคลเซียมซัลเฟตอยู่มาก เมื่อน้ำลดลงจากความแล้งจึงค่อยๆ ตกผลึกจนเผยให้เห็นผลึกดังกล่าว ส่วนสีส้มเหลืองที่ปรากฎให้เห็นน่าจะเป็นมลทินจากเหล็กออกไซต์

“เมื่อสังเกตดีๆ ปรับความเปรียบต่างของภาพมากๆ ทำให้ผมค่อนข้างเทใจไปที่ แร่ยิปซัม (Gypsum variety Selenite) เพราะมีรูปฝลึกในระบบหนึ่งแกนเอียง (Monoclinic system) ที่เกิดได้ในสภาพแห้งแล้ง เพราะน้ำหรือสารละลายที่มีอนุมูลของซัลเฟตและแคลเซียมไอออนอยู่สูง เมื่อน้ำแห้งลงย่อมทำให้ความเข้มข้นของสารละลายสูงขึ้นจนตกผลึกออกมา ไม่ใช่เรื่องแปลก”  รศ.ดร.เสรีวัฒน์ อธิบาย

ส่วนที่มาของอนุมูลดังกล่าว รศ.ดร.เสรีวัฒน์ ระบุว่า ต้องศึกษาสภาพธรณีบริเวณนั้นอีกครั้งว่า ละลายมาจากชั้นเกลือจืด (gypsum) หรือไม่ แต่ทางที่ดีที่สุดคือ การนำผลึกดังกล่าวมาตรวจสอบในห้องปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ชนิดอีกครั้ง ด้วยเครื่องตรวจเลเซอร์และเครื่องตรวจวัดความถ่วงจำเพาะความแม่นยำสูงที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่า ผลึกดังกล่าวคือผลึกชนิดใด ส่วนก้อนดินรูปร่างกลมคล้ายไข่ สีเหลือง หลากหลายขนาดที่กระจายอยู่ตามพื้นท้องน้ำเรียกว่า “มวลสารพอก” ซึ่งเกิดจากการผสมรวมกันของมวลสารหลายประเภทที่ละลายอยู่ในน้ำเมื่อตอนยังมีน้ำอยู่
นักธรณีวิทยาเผยว่า ผลึกดังกล่าวคือ ยิปซัม  (ภาพจากแฟ้มข่าวภูมิภาคผู้จัดการออนไลน์)
เช่นเดียวกับ นายบุญทวี ศรีประเสริฐ นักวิชาการชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรธรณี ที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จากภาพที่เห็นน่าจะเป็นผลึกที่มีองค์ประกอบของแคลเซียมเป็นหลัก ทั้งในส่วนของยิปซัม หรือแร่เกลือจืด ที่เกิดจากสารประกอบแคลเซียมซัลเฟต และแคลไซต์ หรือแร่ฟันหมา ที่เป็นสารประกอบของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต ซึ่งเป็นแร่ที่พบในดินละหินเป็นปกติไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ถ้าหากจะให้ระบุลงลึกไปมากกว่านี้ต้องนำมาตรวจสอบด้วยวิธีทางธรณีวิทยา

ด้าน ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา  เผยว่า เมื่อเห็นภาพข่าวตอนแรกก็ไม่มั่นใจนักเพราะไม่ได้เห็นของจริงแต่เมื่อสืบค้นข้อมูลทางธรณีวิทยาอ้างอิงจากข้อมูลของธรณีวิทยาจังหวัดนครพนมและแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยา, เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ความรู้ธรณีวิทยา ทรัพยากรธรณีและธรณีพิบัติภัย สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี มกราคม 2555เพิ่มก็พบว่า พื้นที่พบผลึกมีความสัมพันธ์กับกลุ่มหินตะกอนที่ราบสูงโคราช ซึ่งมักมีแร่เกลือหินในกลุ่มของแร่เฮไลต์ ซิลไวต์ ยิปซัม และแอนไฮไดรต์ ปะปนอยู่

โดยชั้นหินในบริเวณอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับหมวดหินมหาสารคาม ในกลุ่มหินโคราช ซึ่งประกอบด้วยหินโคลน หินดินดาน หินทรายแป้ง และหินทรายเนื้อละเอียด สีแดงและสีน้ำตาลแดง มีแร่เกลือหิน ยิปซัมและแอนไฮไดรต์ จึงมีความเป็นไปได้ที่บริเวณพื้นอ่างเก็บน้ำหนองไข่นก ในพื้นที ต.กุกาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม จะมีผลึกแร่ดังกล่าว

“แต่เมื่อพิจารณาจากรูปของผลึกแร่ที่มีการเผยแพร่ในสื่อด้วยประสบการณ์ส่วนตัวประกอบกับข้อมูลธรณีวิทยาในบริเวณดังกล่าว ทำให้คาดว่าผลึกแร่ที่พบน่าจะเป็นผลึกแร่ "ยิปซัม" ค่อนข้างแน่นอน ดร.ภูวดลกล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์

แร่ยิปซัมมีสูตรเคมีคือ CaSO4.2H2O มีรูปผลึกในระบบโมโนคลีนิค ความแข็ง 2 ตามมาตรวัดความแข็งของโมห์ (Moh's scale)* ซึ่งสามารถใช้เล็บขูดเข้า มีค่าความถ่วงจำเพาะ 2.33 สามารถพบแร่ยิปซัมได้สามรูปแบบคือ เซเลไนต์ (selenite) จะเป็นผลึกใสและมีลักษณะเหมือนใบมีด ซาตินสปาร์ (Satin spar) จะมีลักษณะเป็นเส้นใยมีสีคล้ายไข่มุก และอลาบัสเตอร์ (Alabaster) จะมีเนื้อเป็นเม็ดละเอียดเกาะกันเป็นก้อน สามารถละลายได้ในกรดเกลือ (HCl) และละลายน้ำได้บ้าง
ภาพจากแฟ้มข่าวภูมิภาคผู้จัดการออนไลน์
"การเกิดของยิปซัมโดยทั่วไปมีลักษณะเหมือนการเกิดของหินเกลือ โดยจะเกิดจาการระเหยของน้ำทะเลทำให้มีความเข้มข้นขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำทะเลสูงหรือแหล่งน้ำจืดที่มีความเข้มข้นขององค์ประกอบทางเคมีสูง โดยเฉพาะในกลุ่มของซัลเฟต จึงตกตะกอนแร่เกลือหินบริเวณพื้นที่นั้น มักพบร่วมกับชั้นหินตะกอน มีลักษณะเป็นชั้นๆ หรืออาจถูกแปรสภาพจากแร่แอนไฮไดรต์หรือเกิดร่วมกับน้ำพุร้อน" ดร.ภูวดล ไล่เรียง

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้รับประกอบกับเหตุการณ์ภัยแล้งในปัจจุบัน ทำให้อ่างเก็บน้ำซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีการสะสมตัวของแร่ยิปซัมในชั้นหินที่รองรับอ่างเก็บน้ำ น้ำซึ่งระเหยออกไปมากจึงมีความเข้มข้นขององค์ประกอบทางเคมีในกลุ่มของซัลเฟตสูง ทำให้เกิดการตกตะกอนของแร่ยิปซั่มขึ้นที่พื้นท้องน้ำ สามารถสังเกตได้จากรูปผลึกแบบโมโนคลีนิค การเกิดเป็นผลึกที่จับกลุ่มเป็นก้อน และหากทดสอบโดยการใช้เล็บขูดและขูดเข้า จะสามารถสรุปได้ว่า ผลึกแร่ที่พบดังกล่าวเป็นผลึกของแร่ยิปซัม

นอกจากนี้ ดร.ภูวดล ยังเผยด้วยว่า การอ้างอิงข้อมูลที่เกี่ยวกับพญานาคทั้งกระดูกหรือไข่พญานาคยังมีมาให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจดีว่าเรื่องราวของพญานาคเป็นความเชื่อที่ฝังลึกในชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง แต่ที่อยากเตือนประชาชนไม่ให้หลงเชื่อ เป็นเพราะมักมีผู้ไม่หวังดีมักนำความเชื่อดังกล่าวมาใช้ในการประกอบการค้า โดยมักอ้างว่าผลึกแร่หรือพลอยที่นำมาให้หรือจำหน่ายเป็นไข่พญานาคหรือพลอยพญานาค และมักตั้งราคาขายที่ค่อนข้างสูง ด้วยการอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ ที่ในความเป็นจริงมักนำพลอยสังเคราะห์ในกลุ่มของคิวบิกเซอร์โคเนีย (CZ) ซึ่งมีความถ่วงจำเพาะสูง มีความวาวสูง และมีหลากหลายสี เป็นพลอยสังเคราะห์ที่หาซื้อได้ง่ายและมีราคาถูก

“พญานาคก็เป็นความเชื่อ ส่วนนี้ผมขอไม่พูดถึงก็แล้วกัน แต่สำหรับเรื่องแร่หรือพลอย ถ้ามีคนนำมาขายอยากให้คิดหนักๆ เพราะถ้าสมมติเป็นส่วนหนึ่งของพญานาค ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผู้ค้นพบหรือพิสูจน์ได้ คงจะเป็นสิ่งที่หายากมากๆ และคงไม่มีใครนำมาวางขายให้หาซื้อหากันได้ง่ายเหมือนในปัจจุบัน จึงอยากให้ผู้ที่ต้องการจะซื้อพลอยพญานาคจริง หากมีราคาสูง ควรนำไปตรวจสอบกับสถาบันอัญมณีฯ ซึ่งสามารถตรวจสอบพลอยสังเคราะห์ที่นำมาหลอกขายกัน เพื่อให้มั่นใจว่าได้พลอยที่มีชนิดและคุณภาพสมกับราคาที่ซื้อ และอยากให้ประชาชนให้วิจารณญาณมากๆ” ดร.ภูวดล กล่าวทิ้งท้ายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
 ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา
 รศ.ดร.เสรีวัฒน์ สมินทร์ปัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
* มาตรวัดความแข็งของแร่ที่ใช้ในปัจจุบัน






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น