ปิดฉากฟิสิกส์สัปประยุทธ์นานาชาติครั้งที่ 28 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรก "สิงคโปร์" ผงาดคว้าแชมป์ฟิสิกส์โลก เอาชนะจีน-โปแลนด์ขาดลอย บรรยากาศการแข่งขันสุดดุเดือด ไทยทำดีสุดคว้าอันดับ 24 จาก 27 ประเทศ มทส.จัดพิธีปิดสุดประทับใจก่อนส่งต่อให้รัสเซียเจ้าภาพปีหน้า
ปิดฉากลงไปแล้วอย่างสวยงามสำหรับการแข่งขันฟิสิกส์สัปประยุทธ์นานาชาติครั้งที่ 28 (The 28th International Young Physicists Tournament: IYPT 2015) ที่ในปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพครั้งแรก โดยการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ระหว่างวันที่ 27 มิ.ย. - 4 ก.ค.58 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา
การแข่งขันฟิสิกส์สัปประยุทธ์นานาชาติครั้งที่ 28 เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาสุดยอดเยาวชนฟิสิกส์ระดับนานาชาติ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผู้เข้าร่วม 27 ประเทศทั่วโลกได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลารุส บราซิล บัลแกเรีย จีน สาธารณรัฐเช็ก เยอรมนี ฮังการี อิหร่าน เคนยา เกาหลีใต้ มาเก๊า นิวซีแลนด์ ไนจีเรีย โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย สิงคโปร์ สโลวาเกีย สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ยูเครน สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และไทย
การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์เป็นการแข่งขันคล้ายการโต้วาทีทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์ มีโจทย์ปัญหาปลายเปิด 17 ข้อ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน มีคำตอบและแนวทางที่หลากหลาย สามารถอธิบายได้ด้วยหลักการทางฟิสิกส์ แต่ละทีมจะมีผู้เข้าแข่งขันจาก แต่ละประเทศจำนวน 5 คน แต่ละรอบการแข่งขันบนเวที 3 ทีม ผลัดกันทำหน้าที่เป็นผู้นำเสนอ ผู้ซักค้าน ผู้วิพากษ์ ที่เป็นการหาคำตอบด้วยหลักกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างเป็นระบบ
ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย ถึง 1 ก.ค. ที่ผ่านมา จากการแข่งขันรวม 5 รอบ คณะกรรมการได้เรียงลำดับคะแนนจากผู้เข้าแข่งขัน 27 ประเทศให้เหลือเพียง 3 ประเทศคือ จีน โปแลนด์และสิงคโปร์ เพื่อทำการแข่งขันสัประยุทธ์ในรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 3 ก.ค.2558 ณ ห้องวิทยพัฒน์ อาคารเรียนรวม 1 มทส. จ.นครราชสีมา ซึ่งในโอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสได้เข้าร่วมชมการแข่งขันด้วย
บรรยากาศการแข่งขันอลังการสมเป็นเวทีระดับนานาชาติ เยาวชน 3 ประเทศสุดท้ายถูกจัดให้นั่งประจัญหน้ากันอยู่บนเวที ท่ามกลางการจับตามองจากผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอื่นและผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์กว่า 700 คนภายในห้องวิทยพัฒน์ มทส. ที่มีลักษณะที่นั่งลดหลั่นกันไปเหมือนห้องชมภาพยนต์ด้วยบรรยากาศเงียบกริบ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนสมาธิแก่ผู้เข้าแข่งขัน โดยมี นายอลัน อัลลินสัน (Mr.Alan Allinson) ประธานจัดการแข่งขันฯ เป็นผู้ควบคุมการดำเนินงานบนเวที
เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น เยาวชนจากประเทศจีนซึ่งเป็นชายล้วนจำนวน 5 คนในชุดสูทสีดำเป็นผู้เริ่มการนำเสนอ (reporter) ก่อนกับหัวข้อคำถาม "สร้างฟิล์มสบู่เหนือโครงลักษณะแบนราบ ให้สนามไฟฟ้าในทิศขนานกับฟิล์มผิว จากนั้นจึงปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านตัวฟิล์ม ฟิล์มจะหมุนในระนาบของมันเอง จงสืบเสาะและอธิบายปรากฏการณ์" โดยหนึ่งในสมาชิกได้หยิบหลักการของแรงดึงดูดระหว่างขั้วและทอร์กทางฟิสิกส์มาใช้ในการอธิบายเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว
ก่อนที่ฝ่ายซักค้าน (opponent) อย่างประเทศโปแลนด์จะหาจุดอ่อนเพื่อซักถาม ซึ่งในส่วนนี้เยาวชนแต่ละประเทศได้ใช้ความคิดสดๆ เพื่ออธิบายงานของตัวเองให้แก่ผู้ต่อสู้ได้ฟัง ทั้งการเปิดสไลด์นำเสนอที่ได้จัดเตรียมไว้และการเขียนบนกระดานอัจฉริยะเพื่อแสดงภาพให้ผู้ฟังเข้าใจ ด้วยกริยาท่าทางแบบดุเด็ดเผ็ดมันไม่มีใครยอมใคร จนผู้ชมบางรายถึงกับนั่งไม่ติดเก้าอี้
หลังจากนั้นทีมจากสิงคโปร์จะเป็นผู้สรุปภาพรวม (reviewer) ของคำถามข้อนั้นๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจเพิ่มขึ้น ก่อนที่คณะกรรมการซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์จากประเทศต่างๆ กว่า 11 คนจะยกป้ายให้คะแนนแบบให้เห็นกันจะๆ โดยแต่ละคนจะมีคะแนนเต็มคนละ 10 คะแนน ซึ่งจะมีการวิจารณ์ผลงานและผู้พูดแต่ละคนอย่างละเอียดด้วยว่า เหตุใดจึงได้คะแนนเท่านั้น โดยจะผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่ โดยในคำถามรอบที่ 2 และ 3 โปแลนด์และสิงคโปร์จะเป็นผู้เริ่มนำเสนอบ้าง
ผลการแข่งขันทีมเยาวชนจากประเทศสิงคโปร์ คว้ารางวัลชนะเลิศด้วยคะแนนรวมสูงสุด 46.8 คะแนนทิ้งห่างประเทศคู่แข่ง โดยประเทศโปแลนด์ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 42.9 คะแนน ส่วนจีนได้รับรองรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้วยคะแนน 34.4 คะแนน
โก จิน มิง (Mr.Koh Jin Ming) หัวหน้าทีมเยาวชนจากประเทศสิงคโปร์เผยกับทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจมากที่ได้เป็นแชมป์ เพราะเขาคือตัวแทนของประเทศ ซึ่งกว่าจะได้มาร่วมแข่งขันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการคัดเลือกหลายขั้นตอน จนได้เป็นตัวแทนประเทศ 5 คนตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อได้รับโจทย์จึงเตรียมตัวอย่างดีรวมเวลาแล้วนานกว่า 9 เดือน และนี่คือการมาเยือนประเทศไทยครั้งแรกของเขา
ด้านแอนนา เวลด์ (Miss Anna Wald) ตัวแทนจากประเทศโปแลนด์ เผยว่า รู้สึกผิดหวังที่ได้ที่ 2 เพราะเตรียมตัวมาเต็มที่หวังชิงที่ 1 จากแชมป์เจ้าประจำอย่างสิงคโปร์แต่ก็ไม่เสียใจ เพราะการแข่งขันครั้งนี้ทำให้เธอได้ทบทวนความรู้ฟิสิกส์อย่างเต็มที่ เพราะต้องประชุมกับเพื่อนในทีมจนถึง 23.00 น.ทุกวัน แต่ที่มากไปกว่านั้นคือเธอได้พบกับปรมาจารย์ด้านฟิสิกส์ระดับโลก และเธอจะนำประกาศนียบัตรจากการแข่งขันในครั้งนี้ ไปใช้กับการสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร
ส่วนคอง กวงฮี (Mr.Cong Guanghe) ตัวแทนเยาวชนจากประเทศจีน กล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มายืนบนเวทีนี้ แม้จะได้ที่ 3 แต่ก็พอใจมาก เขาใช้เวลาเตรียมตัวนาน 8 เดือนสำหรับการแข่งขันแต่รู้สึกว่ายังไม่ดีพอ ปีหน้าหากมีโอกาสอีกก็อยากมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องๆ ในปีหน้า เพราะฟิสิกส์สัประยุทธ์เป็นการแข่งขันที่ต้องใช้ทักษะหลายอย่างทั้งการคิด วิเคราะห์และนำเสนอ โดยส่วนตัวเขาชอบประเทศไทยมากเพราะทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส แม้บางครั้งจะสื่อสารกันไม่ค่อยเข้าใจก็ตาม
สำหรับตัวแทนของประเทศไทยอย่าง น.ส.ชนาธิป ธนสารตั้งเจริญ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสตรีศรีน่าน เผยว่า ทำดีที่สุดแล้วสำหรับการแข่งขันครั้งนี้ แม้จะได้ที่ 24 ก็ไม่เสียใจ เพราะได้เจอกับคู่แข่งที่มีความสามารถสูงอย่างจีน และรัสเซียในรอบแรก แต่ก็ได้ความรู้กลับไปค่อนข้างมากเพราะกว่าจะได้เป็นตัวแทนประเทศต้องผ่านการคัดเลือกจากเยาวชนไทยกว่า 3,000 คนให้เหลือเพียงแค่ 35 คนในรอบแรกก่อนจะเข้าค่ายวิชาการและคัดเลือกอีก 3 ครั้งจนเหลือตัวแทนประเทศเข้าแข่งขันจำนวน 5 คน
ด้านนาย ปณิธาน จิรสุวรรณกุล นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนร้อยเอ็ดวิทยาลัย เผยด้วยท่าทีเหนียมอายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ยังคงตื่นเต้นไม่หาย แต่ก็รู้สึกโล่งอกที่การแข่งขันจบไปแล้ว เพราะที่ผ่านมาต้องทำการบ้านอย่างหนักมาตลอด ส่วนคำถามที่ว่ายากก็ไม่ได้ยากเกินไปเพราะเป็นปัญหาที่เราเจอในชีวิตประจำวัน แต่ที่ยากอยู่ตรงที่การจะอธิบายให้คนอื่นเข้าใจว่าที่ถูกต้องคืออะไร
"ถ้าบรรยากาศการเรียนฟิสิกส์ในประเทศ เป็นแบบฟิสิกส์สัประยุทธ์ได้จะดีมาก เพราะทุกครั้งเราเรียนกันแต่ในห้องเรียน ไม่เคยมีการพิสูจน์หรือทดลองให้เกิดความเข้าใจ และที่สำคัญคือเราไม่เคยได้เปิดให้มีการซักถามหรือคัดค้านกันตามแบบที่ควรจะเป็น แต่การมาแข่งขันในฐานะตัวแทนประเทศครั้งนี้หนูภูมิใจมาก เป็นเหมือนการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ และถึงแม้ว่าการแข่งขันจะดูดุเดือดต่างคนต่างงัดของดีมาใส่กัน หนูก็ยังได้เห็นมิตรภาพ อย่างทีมจีนแข่งกับไนจีเรียซึ่งเป็นรองกว่ามาก จีนก็จะพยายามอธิบายไนจีเรีย ว่าแบบนี้เข้าใจไหม ไม่มีการไล่บี้ให้อายบนเวที เหมือนพี่สอนน้อง มันเป็นสิ่งที่หนูประทับใจมากค่ะ" ชนาธิป เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ท้ายสุด นายอลัน อัลลินสัน ประธานการแข่งขันกล่าวแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า รู้สึกขอบคุณและไม่ผิดหวังที่เลือกประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ งานในภาพรวมออกมาดี ทั้งในส่วนของสถานที่ใน มทส. รวมไปถึงอาหารและการนำเที่ยวใน จ.นครราชสีมา ส่วนตัวเขาเห็นพัฒนาการในเด็กแต่ละรุ่นโดยเฉพาะสิงคโปร์ ที่คว้าแชมป์ฟิสิกส์สัประยุทธ์มาแล้วถึง 3 ครั้ง นั่นเป็นการแสดงออกอย่างเห็นได้ชัดว่า วิชาการฟิสิกส์ในประเทศภูมิภาคเอเชียพัฒนาไปไม่แพ้กว่าประเทศตะวันตก และคนทั่วโลกต้องหันมาจับตาสิงคโปร์มากขึ้น
"ฟิสิกส์สัประยุทธ์มีเสน่ห์อยู่ตรงที่เราไม่ใช่การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย เราเป็นเวทีแสดงออกทางความรู้ผ่านการอธิบายและวิพากษ์ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างมีเหตุผล ผ่านคำถามที่ท้าทายความสามารถ แต่ไม่ยากจนเกินไปหากเพื่อแก้ปัญหา และหวังว่าการมาจัดการแข่งขันที่ประเทศไทยในครั้งนี้จะทำให้เด็กไทยสนใจฟิสิกส์มากขึ้น และอยากให้เข้าใจใหม่ว่าฟิสิกส์ไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อแต่ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาเพราะถ้าเรียนเฉพาะแต่ในห้องเรียน ฟิสิกส์จะเป็นเรื่องน่าเบื่อมากเหมือนที่คนทั้งโลกรู้สึก" ประธานการแข่งขันกล่าว
*******************************