กระทรวงวิทย์ฯ จับมือสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ โชว์ความพร้อมการจัดการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับเยาวชนในกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งแรก ระหว่างวันที่ 5-11 ก.ค. คาดมีตัวแทนเยาวชนพร้อมครูจาก 7 ประเทศกว่า 200 ชีวิตเข้าร่วม
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวความพร้อมการจัด กิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 1 (The First ASEAN Student Science Project Competition เพื่อเฟ้นหาสุดยอดแชมป์โครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนอาเซียนระดับมัธยมศึกษา ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 5-11 ก.ค.58 ณ อพวช. คลองห้า จ.ปทุมธานี
นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รักษาการผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช.เป็นหน่วยงานที่มีจุดมุ่งหมายในการสร้างเสริมความตระหนักทางวิทยาศาตร์ให้กับเยาวชนและประชาชนชาวไทยผ่านการจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ มาเป็นเวลากว่า 15 ปี แต่ในช่วงปลายปี 2558 ที่จะถึงนี้ ประเทศในภูมิภาคอาเซียนจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเปิดประชาคมเสรี กิจกรรมใหม่ที่ อพวช.จัดทำขึ้นจึงต้องอยู่ในรูปแบบวิชาการที่เอื้อประโยชน์และเป็นเวทีแสดงความสามารถของเด็กไทยออกสู่สายตาประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งการนำเสนอความรู้วิทยาศาสตร์ในรูปแบบโครงงานเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ
การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์เยาวชนกลุ่มประเทศอาเซียนครั้งที่ 1 (The First ASEAN Student Science Project Competition) จึงถูกริเริ่มขึ้นจัดขึ้นโดย อพวช. โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีประสบการณ์ส่งเยาวชนไปแข่งขันโครงงานระดับประเทศมากว่า 50 ปี โดยประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพประจำเพื่อให้เวทีการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์นี้เป็นสัญลักษณ์ทางการศึกษาของอาเซียนที่ไทยเป็นผู้ริเริ่ม เช่นเดียวกับการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เวทีใหญ่ที่มีในสหรัฐฯ, ไต้หวัน และฮ่องกงที่เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศเข้าสู่สังคมวิทยาศาสตร์ได้อย่างรวดเร็ว
“อพวช.มีความพร้อมในการจัดกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยจัดแข่งขันโครงงานระดับนานาชาติ จึงมองหาพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ที่อยู่เบื้องหลังการส่งเยาวชนไปแข่งขันโครงงานอยู่ตลอด ซึ่งการจัดแข่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและจะมีครั้งต่อๆไปโดยไทยเป็นเจ้าภาพ เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้เด็กไทยและเด็กในอาเซียนมีความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์แล้ว เราจะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นสัญลักษณ์การแสดงออกทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งของไทยในอาเซียนด้วย ซึ่งขณะนี้มีเยาวชนจากประเทศต่างๆ ตอบรับมาเข้าแข่งขันมากพอสมควร" นายสาครเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้ กิจกรรมจะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 5-11 ก.ค.58 ณ อพวช. คลองห้า ซึ่งนอกจากการนำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์แล้ว เยาวชนยังจะได้ร่วมทำกิจกรรมทั้งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การฟังบรรยายจากนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของไทย การทัศนศึกษาในแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ด้วยซึ่งนายสาคร ระบุว่ากิจกรรมทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่เยาวชนต่อไป
ด้าน รศ.ดร.ทิพาพร ลิมปเสนีย์ อุปนายกฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เผยว่าในฐานะที่สมาคมฯ มีประสบการณ์การส่งเยาวชนไปร่วมแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์มาก่อน การแข่งขันครั้งนี้ สมาคมฯ จึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ในส่วนของการประสานไปยังประเทศต่างๆ เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนส่งนักเรียนมาร่วมแข่งขัน ซึ่งจนถึงขณะนี้มีประเทศที่ตอบรับเข้าร่วมแล้วมากถึง 180 คนจาก 7 ประเทศอาเซียน ยกเว้นบรูไน พม่า และกัมพูชา
สำหรับการแข่งขันโครงงาน จะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย กำหนดให้แต่ละประเทศส่งตัวแทนเข้าแข่งขันระดับละ 2 โครงงาน โครงงานละ 2 คน โดยการประกวดจะแบ่งออกเป็น 3 สาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ และนวัตกรรรมสร้างสรรค์ (วิทยาศาสตร์ประยุกต์) โดยจะใช้คณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและครูวิทยาศาสตร์จากหลายๆ ประเทศ ที่จะร่วมให้คะแนนผ่านการฟังการนำเสนอด้วยโปสเตอร์และปากเปล่าตามเกณฑ์มาตรฐานสากล โดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร
“สิ่งที่ยากที่สุดของการจัดโครงการนี้คือ การหาช่องทางติดต่อไปยังประเทศต่างๆ เพราะไทยยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพหลักในการแข่งขันโครงงานระดับเยาวชน แต่เราเคยส่งเยาวชนไปแข่งขันในประเทศต่างๆ เราจึงติดต่อไปยังประเทศที่เคยจัดการแข่งขันในลักษณะนี้เพื่อขอข้อมูลติดต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็ได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดี จนตอนนี้มี 7 ประเทศที่ตอบรับการเชิญมาแข่งขันของเรา และในส่วนของกรรมการเราจะใช้กรรมการที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงอาจารย์ที่เดินทางมากับเด็กจากประเทศต่างๆ ที่มาเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อให้ผลการตัดสินบริสุทธิ์ยุติธรรมเป็นไปตามเกณฑ์สากล ป้องกันการเกิดข้อครหา เพราะเราต้องการให้เวทีนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” รศ.ดร.ทิพาพร กล่าว
ในส่วนของตัวแทนจากประเทศไทย รศ.ดร.ทิพาพร เผยว่า ทางสมาคมฯ ได้คัดเลือกโครงการที่ผ่านการแข่งขันและได้รับรางวัลระดับประเทศมาเข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ประมาณ 10 ทีม เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและเป็นการพัฒนาทักษะทางภาษาซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของเด็กไทย
หนึ่งในนักเรียนที่ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเยาวชนไทยในการแข่งขันโครงงาน อย่าง น.ส.เยาวเรศ เณรศาสตร์ นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนสมุทรสาครบูรณะ หนึ่งในสมาชิกผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์แกะเปลือกหอยแมลงภู่แบบมือจับ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่ารู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่โครงงานของเธอได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในทีมตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขัน และรู้สึกกดดันในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะที่ผ่านมาเธอเคยแต่นำเสนอในรูปแบบภาษาไทย แต่ด้วยความรับผิดชอบที่ได้รับเธอและเพื่อนจึงฝึกซ้อมการนำเสนอและตอบคำถามเป็นภาษาอังกฤษทุกวัน จนทำให้ขณะนี้สามารถนำเสนอได้อย่างคล่องแคล่วและมีความมั่นใจในการแข่งขันระดับนานาชาติมากขึ้น
ผลงานการประดิษฐ์อุปกรณ์แกะเปลือกหอยแมลงภู่ของ น.ส.เยาวเรศและเพื่อน เริ่มต้นจากการมองปัญหาใกล้ตัว บ้านของพวกเราอยู่สมุทรสาครคนส่วนมากจะแกะหอยขายเพื่อไปทำเป็นหอยดอง พวกเขาจะใช้มีดในการแงะฝาหอยซึ่งมันอันตรายและค่อนข้างช้า พวกเธอจึงมองหาวิธีใหม่ที่จะทำให้แกะหอยง่ายๆ ด้วยเครื่องมือแงะที่ทำจากช้อนแสตนเลสสั้นที่เอาไว้กันข้าวธรรมดา 2 อันมาดัดรูปแบบประกบกันให้เป็นตัวบีบ ร่วมกับการทดลองเพื่อหาองค์ประกอบของเครื่องมือที่ดีที่สุดทั้งขนาดของสแตนเลส รูปแบบหัวงัด การวางจุดหมุนเพื่อผ่อนแรง รวมไปตำแหน่งของเปลือกหอยที่จะทำให้ง่ายต่อการเปิดที่สุด
"ทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ ม.2 จนตอนนี้อยู่ ม.4 ก็ได้เป็นอุปกรณ์แงะเปลือกหอยออกมาซึ่งช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ดีขึ้น จนได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากสมาคมวิทยาศาสตร์ฯ จนถูกติดต่อมาให้เข้าแข่งขันในระดับอาเซียนก็กดดันเล็กน้อย แต่จะทำให้ดีที่สุดเพราะผลงานนี้เราทำขึ้นเอง หากมีความมั่นใจในการสื่อสารและอธิบายถึงประโยชน์ต่อกรรมการได้ดี ก็น่าจะเป็นที่พอใจของหลายๆ คน” น.ส.ชนิฎา อิ่มอำไภย สมาชิกอีกคนกล่าวแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นอกจากโครงการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับอาเซียนจะเป็นการนำเสนอความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ระดับเยาวชนของแต่ละประเทศแล้ว การนำเยาวชนที่มีความใฝ่รู้ทางวิทยาศาสตร์จากแต่ละประเทศมาอยู่ร่วมกันถือเป็นการสร้างโอกาสที่ดี เพราะเด็กเหล่านี้จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ซึ่งอาจมีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ส่วนตัวรู้สึกมั่นใจในศักยภาพเด็กไทย แต่เป็นห่วงในเรื่องของภาษาอังกฤษแต่ก็นับเป็นสิ่งที่ดีเพราะนอกจากจะเป็นการฝึกให้เด็กมีความตื่นตัวทางวิทยาศาสตร์มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการพัฒนาทักษะทางภาษาไปโดยปริยายด้วย
*******************************