นายกสมาคมวิทย์ชี้วิกฤตการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทยเกิดจากการเรียนการสอน "เนื้อหามากไป-เลคเชอร์อย่างเดียวทำเด็กเบื่อหน่าย" แนะเปลี่ยนวิธีเรียนรู้เพิ่ม "ถกเถียง-ปฏิบัติจริง" วอนศึกษาธิการปรับครูไทย เปลี่ยนวิธีการสอนก่อนเด็กวิทย์ไทยรั้งท้ายอาเซียน เพราะการสอนล้าหลัง
ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์มีโอกาสได้ฟังทัศนะของ ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ได้ชี้ถึงวิกฤตของระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทยและอาเซียนว่า ปัญหาหลักของระบบการศึกษาในประเทศไทยรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านเกิดจากวัฒนธรรมการสอน ที่มุ่งให้ความรู้ผ่านการถ่ายทอดโดยครูสู่เด็กนักเรียนเพียงอย่างเดียว ในขอบข่ายเนื้อหาวิชาที่มากจนเกินไป ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบฉาบฉวย เข้าใจเพียงหลักการผิวเผินโดยไม่เข้าใจเนื้อแท้ของวิทยาศาสตร์
ศ.ดร.สุพจน์ อธิบายว่า การเรียนการสอนแบบส่งผ่านความรู้ให้นักเรียน ที่ครูส่วนมากกำลังใช้อยู่เป็นสิ่งที่ดีในระยะสั้นแต่ส่งผลร้ายต่อการศึกษาในระยะยาว เพราะการไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้ความคิดหรือความสงสัยที่ตัวเองมี เป็นการปิดกั้นความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องถัดๆไป โดยเฉพาะการเรียนแบบวิชาวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ความเข้าใจในหลายๆ วิชาเข้ามาประกอบกัน รวมไปถึงเนื้อหาหลักสูตรที่มากเกินไปก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเรียนการสอนไม่มีประสิทธิภาพเพราะครูต้องเร่งสอนในขณะที่นักเรียนก็ต้องเรียนพร้อมๆ กันหลายวิชา
"ถ้าครูเอาแต่สอน ป้อนให้เด็กอย่างเดียวเด็กก็จะคิดว่าเขารู้แค่นี้ก็พอ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องขวนขวายเพิ่ม ซึ่งผิดอย่างมาก แต่ถ้าเราเปิดช่องให้เด็กได้ซักถาม ได้เอาเนื้อหาเด่นๆ ของเรื่องนั้นๆ มาถกเถียงกันเขาจะเกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ให้เขาได้ใช้ความซนที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กมาเป็นพลังงานที่ทำให้เขาคิดหาสิ่งใหม่ๆ เอาง่ายคือ เราต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนจากนั่งฟังบรรยายเต็มๆ ชั่วโมง ให้ลดลงเหลือครึ่งชั่วโมง นอกนั้นเป็นการแบ่งกลุ่มเพื่อให้นักเรียนนำเนื้อหาที่ครูสอนมาถกกัน แชร์กัน นี่คือสิ่งที่นักเรียนฝรั่งทำมานานและเราก็เห็นว่าการเรียนการสอนในประเทศเขาได้ผล" ศ.ดร.สุพจน์เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ทว่าการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนในไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งครูและนักเรียนยังยึดติดในรูปแบบการเรียนการสอนเดิม เช่นประสบการณ์ที่ ศ.ดร.สุพจน์ พยายามผลักดันให้เกิดการเรียนการสอนเชิงรุกในคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีการซักถามระหว่างครูและนิสิตมากขึ้น แต่เมื่อมีการประเมินผลการสอนของอาจารย์ในตอนท้ายภาคการศึกษากลับพบว่าอาจารย์ที่มีวิธีการสอนแบบใหม่กลับถูกประเมินให้คะแนนต่ำ เพราะนิสิตมองว่าเป็นความกดดันที่ต้องตอบคำถามในชั้นเรียน
ทว่า รูปแบบการสอนแบบใหม่ก็ยังดำเนินต่อไปควบคู่กับการทำความเข้าใจระหว่างครูผู้สอนและผู้เรียน จนขณะนี้รูปแบบการเรียนการสอนได้เปลี่ยนจากการเลคเชอร์เป็นหลัก ให้มีการผสมผสานระหว่างการสาธิต, การเปิดคลิปวิดิโอ, การปฏิบัติจริง และการถกเถียงท้ายคาบ จนนำไปสู่แนวคิดห้องเรียนมุมกลับ ที่พยายามกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในห้องเรียน และการเปลี่ยนแนวคิดจากครูเป็นผู้สอนให้กลายเป็นครูร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับผู้เรียน
"งานวิจัยด้านรูปแบบการศึกษาระบุไว้ว่า เด็กที่เรียนเลคเชอร์เพียงอย่างเดียวจะได้รับความรู้ 5%, เด็กที่อ่านจะได้ 10%, หากมีภาพประกอบจะรับรู้ได้ 20% แต่ถ้ามีการสาธิต การแบ่งกลุ่มถกเถียง การลงมือปฏิบัติและการสอนผู้อื่นเด็กจะได้ความรู้มากถึง 90% ซึ่งทุกคนเห็นด้วย แต่ปัญหาก็มีคือ เด็กไทยชอบก้มหน้าก้มตาเรียน จดอย่างเดียวไม่ชอบให้ครูซักถาม และครูก็กลัวเด็กปีนเกลียว กลัวเสียภูมิทำให้การเรียนการสอนแบบใหม่ที่ควรจะเป็นยังเดินไปไม่ถึงฝั่ง" นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กล่าว
ฉะนั้นการแก้ปัญหาเบื้องต้นจึงต้องเริ่มจากการปลูกฝังความเข้าใจกับครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมไปถึงการนำเทคโนโลยี เช่น สมาร์ทโฟนที่เด็กแทบทุกคนมีติดตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในห้องเรียน เพราะการเรียนการสอนแบบเดิมๆ เป็นการละเลยความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่จำเป็นของการเรียนวิทยาศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของครูเพื่อให้ผู้เรียนมีความอยากเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากตัวเอง
"ถึงตอนนี้วงการวิทยาศาสตร์ของไทยจะดูล้ำหน้ากว่าเพื่อนบ้านไปมาก แต่สำหรับวิธีการเรียนการสอนเราถือว่าล้าหลัง ตอนนี้เรารู้ปัญหา รู้ทางแก้ที่จะทำให้วิทยาศาสตร์ในไทยรุ่งเรือง แต่เรายังไม่มีการนำไปปฏิบัติในวงกว้าง ซึ่งผมคิดว่าถ้ากระทรวงศึกษาธิการหันมาให้ความสนใจกับกระบวนการสอนแบบใหม่ๆ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญเลยทีเดียว เพราะด้วยหลายๆ ปัจจัยที่ค้ำคอครูอยู่เช่น ตำแหน่งราชการ การประเมินต่างๆ ทำให้ครูไม่กล้าเปลี่ยนวิธีสอน ซึ่งผมเชื่อว่าถ้าเราตัดปัญหาแบบนี้ หรือตัดเรื่องหลักสูตรเข้มข้นที่ไม่เคยสนใจถึงวิธีการเรียนการสอนไปได้ ระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์ในไทยจะดีขึ้นอีกมาก" นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ กล่าว
*******************************