กระทรวงวิทย์เปิดตัวคณะทำงานเชิงรุกสนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้งรัฐบาล พร้อมโชว์ส่วนสนับสนุนในการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ใต้ดิน ด้านสถาบันนิวเคลียร์นำเสนิการใช้ไอโซโทปค้นหาแหล่งบาดาลใหม่ ส่วน สทอภ.นำเสนอเทคโนโลยีจากภาพถ่ายดาวเทียมวิเคราะห์ความชื้นใต้ดิน เพื่อระบุแหล่งบาดาล
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงตั้งคณะทำงานเชิงรุกแก้ปัญหาภัยแล้งเพื่อสนับสนุนภารกิจแก้ภัยแล้งของ รัฐบาล เมื่อวันที่ 2 ก.ค.58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยแบ่งการทำงานเป็น 3 แนวทาง คือ 1.สนับสนุนข้อมูลสถานการณ์และการคาดการณ์ 2.สนับสนุนการเยียวยาบรรเทาปัญหา และ 3.สนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่
ในส่วนของการสนับสนุนทางเลือกการแสวงหาแหล่งน้ำใหม่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) นำเสนอเรื่องการนำองค์ความรู้ด้านไอโซโทปอุทกวิทยาเพื่อสามารถค้นหา แหล่งน้ำบาดาลใหม่ๆ แทนที่หรือสนับสนุนวิธีการเดิมที่ใช้การวัดน้ำฝน แม่น้ำและแหล่งน้ำต่างๆ ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) นำเสนอการจัดทำระบบแผนที่กลางเพื่อติดตามพื้นที่ภัยแล้งสนับสนุนการตัดสินใจและการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม
ด้าน นายชาคริส พิทักษ์รัตนสกุล นักภูมิสารสนเทศ สทอภ. อธิบายแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ระบบที่ สทอภ.ทำขึ้น เป็นการนำเทคโนโลยีภาพถ่ายทางดาวเทียมมาวิเคราะห์ค่าความชื้นในดิน ถ้าดินในพื้นที่ใดมีความชื้นน้อยก็จะปรากฎเป็นแถบสีแดงส้ม ซึ่งมีความละเอียดสูง สามารถระบุได้ถึงระดับหมูบ้าน นำไปสู่การระบุแหล่งน้ำบาดาลที่ขุดเจาะแล้วและยังไม่ได้ขุดเจาะ เพื่อเป็นข้อมูลชี้เป้าให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ขุดเจาะน้ำบาดาล และดูแลพื้นพิภพเข้ามาดำเนินการต่อ
“เพราะภัยแล้งเกิดจากฝนทิ้งช่วงทำให้น้ำบนดินขาดแคลน ในขณะที่น้ำในดินอย่างน้ำบาดาลยังคงอยู่ ซึ่งการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นการแก้ปัญหาที่รวดเร็วที่สุดที่จะทำได้ โดยระบบนี้เพิ่งพัฒนาเสร็จเพียงไม่กี่วัน เพราะเป็นระบบที่พัฒนาขึ้นเพิ่มจากข้อมูลดาวเทียมที่เรามีอยู่เดิม ตารมความต้องการของนายกรัฐมนตรี” นายชาคริสกล่าว
*******************************