เปิดตัว "เจแปน" หมาใส่สายสวนรักษาโรคหัวใจตัวแรกของไทย ผลงานชิ้นโบว์แดงทีมสัตวแพทย์จุฬาฯ หลังหยิบเทคโนโลยีสายสวนมาใช้แทนการผ่าตัดเปิดช่องอก ลดเจ็บ-ลดเสี่ยง-พักฟื้นน้อย ประสิทธิภาพเทียบเท่าการทำบอลลูนหัวใจในคน เตรียมเดินหน้าทำในหมาเล็ก-สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมป่วยโรคหัวใจชนิดอื่นยกระดับวงการสัตวแพทย์ไทย
"ไม่มีการบันทึกไว้ว่าสุนัขตายจากโรคหัวใจพีดีเอต่อปีมากเท่าไร แต่โรคหัวใจชนิดนี้เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดโดยเฉพาะในสุนัขเล็ก เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยากต้องใช้สัตวแพทย์ที่ชำนาญ ซึ่งส่วนมากกว่าจะแสดงอาการสุนัขตัวนั้นก็ใกล้ถึงวาระเต็มที" ศ.สพ.ญ.ดร.ชลลดา บูรณกาล ภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ศ.สพ.ญ.ดร.ชลลดา อธิบายว่า โรคหัวใจพีดีเอ (Patent Ductus Arteriosus) คืออาการผิดปกติของหัวใจเมื่อหลอดเลือดที่เชื่อมระหว่างหลอดเลือดแดงเอออร์ตาและหลอดเลือดพัลโมนารีอาเทอรี ซึ่งทำหน้าที่เหมือนเป็นวาล์วแบ่งเลือดหายไป ทำให้มีการผสมระหว่างเลือดแดงและเลือดที่ไปปอด ซึ่งนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลว หัวใจโต ลิ้นหัวใจรั่ว ซึ่งเป็นผลโดยตรงต่อการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจะทำให้สุนัขตายก่อนวัยอันควร มักพบในสุนัขพันธุ์เล็กเช่น ปอมเมอร์เรเนียน ลาบราดอร์และโกลเด้นรีทรีฟเวอร์ พบในเพศเมียมากกว่าเพศผู้
ผศ.น.สพ.ภาสกร พฤกษะวัน ภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวว่าการรักษาเพื่อแก้ไขหัวใจที่ใช้อยู่เดิมคือการผ่าตัดเปิดช่องอกเพื่อเข้าไปผูกหลอดเลือด ทว่าวิธีนี้มีความเสี่ยงสูง ใช้เวลานานในการพักฟื้น และสัตว์จะเจ็บปวดมากอีกทั้งยังมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดง่าย จึงมีการพัฒนากระบวนการรักษาแบบทำหัตถการใส่สายสวน คล้ายการทำบอลลูนหัวใจของคนเพื่อใส่อุปกรณ์เข้าไปอุดหลอดเลือดพีดีเอ ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องผ่าตัดใหญ่
"วิธีใส่สายสวนนี้มีมาประมาณ 20 กว่าปีสำหรับคน แต่สำหรับการทำในสัตว์นี่ถือเป็นครั้งแรก ปกติเราจะใช้วิธีผ่าตัดเปิดช่องอกมาตลอด แต่เมื่อมีวิธีการใหม่ที่ดีกว่า เจ็บน้อยกว่าเราจึงนำมาใช้กับ "เจแปน" สุนัขเพศเมียพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์อายุ 2 ปีที่ป่วยเป็นพีดีเอ ซึ่งเจ้าของก็เลือกที่จะทำการรักษาโดยไม่ใช้วิธีผ่าตัดเป็นครั้งแรก ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีด้วยคณะทำงานจากทีมสัตวแพทย์และความร่วมมือจาก รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม หมอคนที่ชำนาญเรื่องการผ่าตัดใส่สายสวนในคน จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ"
ด้าน สพ.ญ.ดร.สิริลักษณ์ สุรเชษฐพงษ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ เผยว่า เจแปนมาพบแพทย์ด้วยอาการเหมือนสุนัขปกติทั่วไป แต่เมื่อตรวจร่างกายพบว่า มีเสียงผิดปกติของการเต้นของหัวใจและเมื่อตรวจคลื่นสะท้อนความถี่สูงพบมีการรั่วของลิ้นหัวใจมากถึง 3 ลิ้นจาก 4 ลิ้นและมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วมากกว่า 85 ครั้งต่อวินาที และเมื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็พบว่าลิ้นหัวใจไมตรัล, พัลโมนิก, เอออร์ติกปิดไม่สนิท และหลอดเลือดพีดีเอผิดปกติ ทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายขยายใหญ่และมีการบีบตัวลดลง ทีมแพทย์จึงประชุมและหารือกับเจ้าของสุนัขและเริ่มการรักษาด้วยการใส่อุปกรณ์เข้าไปปิดหลอดเลือด โดยจะเลือกใช้อุปกรณ์อุดหลอดเลือดที่มีลักษณะคล้ายร่มมาใช้กับเจแปน เพราะหลอดเลือดที่รั่วมีความกว้างถึง 22 มิลลิเมตรซึ่งเกมาะสมกว่าการใช้ขดลวดหรืออุปกรณ์อุดในรูปแบบอื่นๆ
ผศ.น.สพ.ภาสกร อธิบายแต่ละขั้นตอนว่าในส่วนของการรักษา จะเริ่มตั้งแต่การวางยาสลบเจแปนแล้วทำการสวนสาย (catheter) เข้าสู่หลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำฟีโมรัลผ่านกล้องฟลูโอโรสโคป (fluoroscope) จากนั้นจึงฉีดสี (radiocontrast) เข้าสู่ช่องเปิดของหลอดเลือดพีดีเอที่เอออร์ตา แล้วจึงสวนอุปกรณ์ปิดหลอดเลือดชนิดมัลติเลเยอร์ไนโตรนัลเมส (multilayer nitronol mesh) ที่มีลักษณะคล้ายร่มเข้าสู่เครื่องโหลดในลักษณะหุบ
"สวนผ่านหลอดเลือดดำฟีโมรัล หลอดเลือดดำเวนาคาวา หัวใจเอเตรียมขวา ลิ้นไตรคัสปิด หัวใจเวนตริเคิลขวา หลอดเลือดพัลโมนารีอาร์เทอรี สอดเข้าสู่หลอดเลือดพีดีเอ และเข้าสู่หลอดเลือดแดงใหญ่เอออร์ตาก็จะดันส่วนอุปกรณ์ที่คล้ายร่มให้กางออกพร้อมกับดึงสายเคเบิ้ลกลับอัปกรณ์นี้ก็จะเข้าไปติดในแอ่งของหลอดเลือดพีดีเอ หลังจากนั้นก็พบว่าอัตราการเต้นหัวใจของเจแปนลดลงทันทีเป็น 50 ครั้งต่อนาที ไม่พบเสียงปกติของหัวใจและเมื่อตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงก็พบว่าอุปกรณ์อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม จึงให้เจแปนพักฟื้น 1 วันแล้วกลับบ้านได้ โดยนัดมาเช็คอาการทุกๆ 1 เดือน" ผศ.น.สพ.ภาสกรอธิบาย
สำหรับความยากง่ายของการใส่อุปกรณ์ให้กับเจแปน รศ.นพ.วสันต์ อุทัยเฉลิม หมอคนเพียง 1 เดียวที่เข้ามาช่วยการผ่าตัดในครั้งนี้เผยว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ไม่เหมือนของคน และเป็นครั้งแรกที่มาทำในสัตว์ แต่โดยรวมด้วยสรีระของเจแปนที่ค่อนข้างใหญ่ เส้นเลือดดำที่โคนขาใหญ่ทำให้การสวนใส่หลอดเลือดราบรื่นดี แม้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงเพราะปกติการทำบอลลูนในคนไข้ที่เขาถนัดจะใช้เวลาเพียง 30 นาทีเท่านั้น
"ในอนาคตผมก็หวังว่าเราจะผ่าตัดได้เร็วขึ้น แล้วก็ทำในสุนัขเล็กแบบปอมเมอเรเนียน หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ป่วยด้วยโรคนี้ได้เช่นกัน แต่ก็คงต้องดูตัวอุปกรณ์อีกทีว่ามีความเหมาะสมแค่ไหน เสี่ยงแค่ไหนด้วย จะลดราคาลงได้อีกหรือไม่ เพราะวิธีการใส่สายสวนนี้มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างกรณีนี้ก็ราวๆ 1 แสนบาทเพราะเป็นอุปกรณ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาต่อเส้นตกอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาท ในขณะที่การผ่าตัดเปิดช่องอกก็ยังคงเป็นวิธีที่ใช้และมีราคาอยู่ในระดับหลักพันปลายๆ หรือหลักหมื่นต้นๆ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของสัตว์ด้วย" รศ.นพ.วสันต์ กล่าวแก่ผู้จัดการวิทยาศาสตร์
ท้ายสุด ปารดา ลิ่มอติบูลย์ เจ้าของน้องเจแปน เผยว่า รู้สึกดีใจที่การตัดสินใจนำเจแปนเข้ารักษาด้วยการใส่อุปกรณ์อุดหลอดเลือดประสบความสำเร็จ เพราะเจแปนเป็นสุนัขที่ร่าเริง ออกกำลังเสมอจนเธอไม่นึกว่าจะป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่โรคนี้เป็นโรคแต่เกิดเธอจึงทำใจและพาเจแปนเข้ารักษาเมื่อคณะแพทย์เสนอวิธีการใหม่เธอจึงตกลงทันที
"ตอนแรกทำใจไว้แล้วว่าคงรอด 50:50 แต่พอผ่าตัดเสร็จน้องหายไวมาก อาการดีวันดีคืน กลับมาซนได้เหมือนเดิมก็ยิ่งดีใจ เหมือนคุณหมอได้มอบชีวิตใหม่ให้กับเจแปน สำหรับค่าใช้จ่ายแม้จะสูงเกือบแสนบาทแต่ก็คุ้มเพื่อแลกกับสุนัขที่เรารัก เพราะไปตรวจที่ไหนก็ไม่มีใครระบุได้บอกแค่ว่าหัวใจน่าจะผิดปกติ บอกกับเราเพียงว่าน้องคงอยู่กับเราได้ไม่นาน ตอนนั้นใจสลายมาก พอมีทางอะไรที่จะรักษาเจแปนได้เลยลุยหมด ขอบคุณคุณหมออีกครั้งด้วยค่ะ" เจ้าของเจแปน กล่าว
ทั้งนี้ การสัมภาษณ์พิเศษในหัวข้อเรื่อง ความสำเร็จในการใช้อุปกรณ์อุดหลอดเลือดเพื่อรักษาโรคหัวใจพีดีเอในสัตว์รายแรกของประเทศไทย จัดขึ้นที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคาร 50 ปี คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2558
*******************************