นักวิจัย มทส.เปิดตัวนวัตกรรม "ระบบคลาวด์เชิงผสมข้ามแฟลตฟอร์ม" ครั้งแรกของโลกช่วยคลาวด์ต่างระบบทำงานร่วมกันได้ และย้ายระบบข้ามคลาวด์ได้ง่าย ลดต้นทุนการจัดการดูแลเซิร์ฟเวอร์
ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) แถลงเปิดตัวระบบคลาวด์เชิงผสมข้ามแฟลตฟอร์มผลงานนักวิจัยห้องปฏิบัติการไอยราคลัสเตอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.58 ณ อาคารบริหาร มทส.พร้อม รศ.ร.อ.ดร.กนต์ธร ชำนิประศาสน์ คณบดีสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมแถลงข่าว
ด้าน ผศ.ดร.ชาญวิทย์ แก้วกสิ อีกหนึ่งในทีมวิจัยห้องปฏิบัติการไอยราคลัสเตอร์ มทส. และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อธิบายว่าระบบคลาวด์มี 2 แบบ คือคลาวด์ภายในองค์กร (Private Cloud) และคลาวด์แบบสาธารณะ (Public Cloud) ซึ่งบริการที่เราใช้ทุกอย่างในปัจจุบัน ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ นั้นทำงานบนคลาวด์ทั้งหมด
"บางครั้งเมื่อต้องการขยายเซิร์ฟเวอร์รองรับการใช้งานมาก เช่น รองรับการลงทะเบียนของนักศึกษาทั้งมหาวิทยาลัยภายใน 5 นาที เป็นต้น จำเป็นต้องใช้งานคลาวด์เชิงผสมระหว่างคลาวด์ภายในองค์กรและคลาวด์สาธารณะ ถ้าฮาร์ดแวร์เดียวกันก็รวมกันได้ แต่ถ้าต่างกันรวมกันยากจึงต้องสร้างตัวเชื่อมที่ทำให้ฮาร์ดแวร์ด้านหลังเหมือนกัน โดยให้ซอฟท์แวร์เลือกไปวางบนฮาร์ดแวร์ที่ถูกระบบ" ผศ.ดร.ชาญวิทย์กล่าว
ทั้งนี้ ทีมวิจัยห้องปฏิบัติการไอยราคลัสเตอร์ได้ใช้และต่อยอด Docker Swam ซึ่งเป็นซอฟท์แวร์พื้นฐานสำหรับระบบคลาวด์ทั้งหมดในปัจจุบันจากบริษัท Docker ในสหรัฐฯ และ มทส.ได้ร่วมงานกับบริษัทดังกล่าวพัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลคลาวด์เป็นร่วม 6 เดือน
วิชัย ศรีสุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สำนักวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัยห้องปฏิบัติการไอยราคลัสเตอร์ มทส.อธิบายว่า เซิร์ฟเวอร์ของ มทส.ใช้หน่วยประมวลผล ARM ที่ประหยัดพลังงาน แต่ในช่วงแรกไม่สามารถทำงานกับระบบคลาวด์แพลตฟอร์มอื่นที่ใช้หน่วยประมวลผลต่างกันได้
ผลจากการพัฒนาทำให้ทีมวิจัยทำระบบคลาวด์ที่ทำให้ระบบที่ใช้หน่วยประมวลผลที่มีสถาปัตยกรรมฮาร์ดแวร์ต่างกันรันแอปพลิเคชันประเภทคลัสเตอร์รูปแบบเดียวกันได้ โดยระบบคลาวด์ที่สร้างขึ้นใช้หน่วยประมวล ARM สามารถทำงานร่วมกับระบบคลาวด์ภายนอกที่ใช้หน่วยประมวลผล x86-64 บิตได้
"มีบริษัทอื่นที่พยายามทำเหมือนกัน แต่เราทำสำเร็จก่อนเขา 1 เดือน เพราะเขามองไม่เห็นปัญหาอย่างที่เราเห็น เพราะในช่วงแรกเราใช้ ARM แต่เราไม่สามารถใช้กับเขาได้ เราจึงต้องพัฒนาซอฟท์แวร์ที่ทำให้มองเห็นฮาร์ดแวร์ด้านหลังเป็นเหมือนกันหมด" ผศ.ดร.ชาญวิทย์อธิบายเพิ่มเติม
ด้าน นายปรเมศวร์ มินศิริ ผู้บริหารเว็บไซต์กระปุกดอทคอม ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก มทส.กล่าวว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อนใช้เซิร์ฟเวอร์ตัวเดียวเพียงพอความต้องการ แต่ปัจจุบันกระปุกต้องรองรับความต้องการผู้ใช้งานเว็บไซต์มากถึงวันละ 9 ล้านเพจวิว โดยเฉพาะวันประกาศผลรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 10 ล้านเพจวิว การซื้อเซิร์ฟเวอร์เพื่อรองรับต่อไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ทางออก
"ในอนาคตการซื้อฮาร์ดแวร์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แนวโน้มต่อไปอาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงมาก แต่มีประสิทธิภาพในการใช้งาน เชื่อว่านวัตกรรมนี้จะช่วยแก้ปัญหาในยุคเศรษฐกิจฐานดิจิทัล" นายปรเมศวร์กล่าว
พร้อมกันนี้นายปรเมศวร์ยังเปรียบเทียบการบริหารระบบคลาวด์ว่าคล้ายการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง 2 กลุ่มคือผู้ที่ลำเลียงสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ และกลุ่มที่ลำเลียงตู้คอนเทนเนอร์ไปถึงปลายทางโดยไม่สนใจสินค้าที่อยู่ภายใน