xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจร่องรอย “รอยเลื่อนมีพลัง” ต้นตอ “แผ่นดินไหว”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ส่งผลให้ถนนในหมู่บ้านดงมะดะ บ้านสันใหม่พัฒนา อ.แม่สรวย เกิดรอยแยกขนาดใหญ่ที่มีความลึกกว่า 2 เมตร ถนนในบริเวณนี้ใช้การไม่ได้
ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมีพลัง 14 รอยเลื่อน และรอยเลื่อนเหล่านี้คือต้นตอของ “แผ่นดินไหว” เราพูดถึงรอยเลื่อนบ่อย แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า ภูมิประเทศแบบไหนที่บ่งบอกว่าพื้นที่แถบนั้นมีรอยเลื่อน

ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้ร่วมติดตามคณะนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี เพื่อย้อนรอยเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านไปกว่า 1 ปีในพื้นที่ จ.เชียงราย และเพื่อสำรวจพื้นที่ซึ่งได้รับความเสียหายและร่องรอยบ่งชี้รอยเลื่อนมีพลัง บริเวณ “รอยเลื่อนพะเยา" และ "รอยเลื่อนแม่จัน" ซึ่งเป็นร่องรอยสำคัญการทำนายพื้นที่เสี่ยงภัยธรณีพิโรธบริเวณใกล้เคียงรอยเลื่อน





นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เผยว่า จากการศึกษาธรณีสัณฐานบ่งชี้รอยเลื่อนมีพลัง และงานวิจัยสนับสนุนอื่นๆ ทำให้ทราบว่าพื้นที่ จ.เชียงราย ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนมีพลังทั้งสิ้น 4 รอยเลื่อน อันได้แก่ รอยเลื่อนแม่จัน, รอยเลื่อนแม่อิง, รอยเลื่อนแม่ทา และรอยเลื่อนพะเยา ทำให้ จ.เชียงราย มีความเสี่ยงที่จะประสบภัยแผ่นดินไหวได้มากกว่าจังหวัดอื่น
  นาย สุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี อธิบายลักษณะธรณีสัณฐานบ่งชี้รอยเลื่อนแผ่นดินไหวในแต่ละบริเวณ
รอยเลื่อนมีพลัง (Active Fault) ในประเทศไทยที่สำรวจพบและมีการวิจัยแล้วมีทั้งสิ้น 14 รอย แต่รอยเลื่อนที่นักธรณีฟิสิกส์และนักแผ่นดินไหว “จับตามากที่สุด” คือรอยเลื่อนแม่จัน ที่มีแนวพาดผ่าน อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่, อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.ดอยหลวง และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย และต่อเนื่องไปใน สปป.ลาว เนื่องจากมีการประเมินที่ยืนยันได้ว่าเมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อน รอยเลื่อนแม่จันเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.9 ซึ่งนับเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นจากรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในประเทศไทย

“กรมทรัพยากรธรณีมีหน้าที่ศึกษาวิจัยทางธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย ศึกษารอยเลื่อนมีพลังเพื่อจัดทำแผนที่ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งการจะศึกษาด้านธรณีวิทยาแปรสัณฐาน จะเริ่มต้นด้วยการแปลความหมายแนวโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่ปรากฏบนภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อมองหาลักษณะทางธรณีสัณฐานที่บ่งชี้ถึงการเลื่อนตัวครั้งใหม่ๆ ของรอยเลื่อนที่พาดผ่านในพื้นที่ โดยลักษณะทางธรณีสัณฐานที่บ่งชี้ว่ารอยเลื่อนมีพลังมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น ผารอยเลื่อม ผาสามเหลี่ยม ธารหัวขาด พุน้ำร้อน” นายสุวิทย์ ให้รายละเอียด ซึ่งแนวรอยเลื่อนที่พาดผ่านในพื้นที่ จ.เชียงราย ก็มีลักษณะดังกล่าวเช่นกัน

โอกาสนี้ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ได้เดินทางไปสำรวจร่องรอยและเก็บภาพทางธรณีสัณฐานมานำเสนอ
ผาสามเหลี่ยม  เป็นธรณีสันฐานสำคัญที่บอกนักธรณีวิทยาให้ทราบว่าแนวรอยเลื่อนอยู่ที่จุดไหน โดยผาสามเหลี่ยมในภาพนี้ถ่ายไว้ได้จากบริเวณริมทางหลวง หลักกิโลเมตรที่ 100 เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย ณ บ้านโชคชัย หมู่ 9 อ.เวียงกาหลง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
เราและคณะเดินทางไปยัง บ้านโชคชัย อ.เวียงป่าเป้า เพื่อเก็บภาพ "ผาสามเหลี่ยม" จากบริเวณริมไหล่ทางหลวง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 100 เส้นทางเชียงใหม่-เชียงราย ผาสามเหลี่ยมบริเวณนี้เป็นธรณีสัณฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกว่า "รอยเลื่อนพะเยา" ยังคงเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังจากการเลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนในแนวดิ่ง จนเกิดการกัดเซาะเป็นหน้าผารูปสามเหลี่ยมที่มองเห็นได้จากระยะไกล แสดงให้เห็นทางน้ำไหลรูปตัววาย "Y" และเนินขั้นบันไดที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อน ซึ่งรอยเลื่อนพะเยานี่เองที่เป็นรอยเลื่อนสำคัญของหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อ 5 พ.ค.57 ใน จ.เชียงราย

ผาสามเหลี่ยม (Triangular facets) คือหน้าผาที่มีรูปเป็นสามเหลี่ยมเกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนในแนวดิ่งทำให้เบื้องต้นเป็นหน้าผารูปร่างคล้ายสี่เหลี่ยม แล้วถูกกระบวนการกัดเซาะของทางน้ำหลายสายในหุบเขาปรับเปลี่ยนหน้าผารอยเลื่อนให้เปลี่ยนรูปจนกลายเป็นสามเหลี่ยม โดยลักษณะร่องน้ำที่ไหลจากช่องเขา ที่ด้านบนเป็นร่องน้ำกว้างรูปตัวยู (U) แต่ด้านล่างแคบเป็นรูปตัวไอ (I) ลักษณะแบบนี้เรียกว่า หุบเขารูปแก้วไวน์ (Wine glass)

“ด้านหน้าผาสามเหลี่ยมจะต้องเป็นที่ราบกว้างใหญ่ ส่วนด้านหลังจะเป็นภูเขาขนาดใหญ่ลดหลั่นกันจนเห็นเป็นสามเหลี่ยม เหมือนรูปภูเขาตอนเด็กๆ ที่เราวาดให้เส้นโค้ง 2 อันอยู่ซ้อนกัน ซึ่งชะง่อนผาที่ลดหลั่นกันนี่เอง ที่จะเป็นตัวบอกว่าในบริเวณนั้นๆ เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มากี่รอบแล้ว อย่างเขาลูกนี้เราเห็นผาสามเหลี่ยมซ้อนกันอย่างน้อย 4 ชั้น จึงสันนิษฐานได้ว่า ในอดีตเมื่อนานมาแล้ว บริเวณที่อยู่ตรงนี้เคยเกิดแผ่นดินไหวอย่างน้อย 4 ครั้ง" นายสุวิทย์อธิบาย

โค้งหยักตามศรชี้ คือ ผาสามเหลี่ยม (Triangular facets) ผารูปสามเหลี่ยมที่เกิดจากการเลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อน ซึ่งแต่ละหยักจะบ่งบอกถึงการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แต่ละครั้ง ซึ่งจากภาพนี้พอจะประเมินคร่าวๆ ว่าแนวรอยเลื่อนพะเยาเคยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อบอกลากับรอยเลื่อนพะเยา ใน อ.เวียงป่าเป้า เราก็เดินทางต่อไปยัง อ.แม่จัน เพื่อสำรวจ "รอยเลื่อนแม่จัน" รอยเลื่อนมีพลังใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่พาดผ่านระหว่าง อ.ฝาง อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่, อ.แม่จัน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ที่ความยาวประมาณ 101 กิโลเมตร

ธรณีสันฐานที่เป็นองค์ประกอบของรอยเลื่อนแม่จัน มีอยู่ด้วยกันหลายองค์ประกอบ ทั้งในส่วนของ "พุน้ำร้อน" ที่เกิดจากน้ำใต้ดินอุณหภูมิสูงไหลตามรอยแตกของเปลือกโลกแล้วขึ้นมาสู่ผิวดิน ซึ่งพุน้ำร้อนที่ทีมข่าวได้ลงพื้นที่คือ พุน้ำร้อนแม่จัน อ.แม่จัน ที่ในขณะนี้ได้ถูกปรับปรุงทัศนวิสัยจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในพื้นที่
พุน้ำร้อนแม่จัน อ.แม่่จัน จ.เชียงราย เป็น 1 ในองค์ประกอบของรอยเลื่อนมีพลังแม่จัน รอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่นักธรณีจับตาที่สุด เพราะเชื่อว่ายังคงมีพลังที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ เช่นเดียวกับเมื่อ 1,500 ปีก่อนที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9
พุน้ำร้อนแม่จันมีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ บ่อที่ใหญ่ที่สุดมีน้ำที่พุ่งขึ้นสู่ผิวดินอุณหภูมิสูงถึง 90 องศาเซลเซียส ส่วนบ่อที่เล็กลงมาก็มีอุณหภูมิลดหลั่นตามมาตั้งแต่ระดับที่ 60 องศาเซลเซียส ไปจนถึงระดับที่มนุษย์ทนได้ เราจึงเห็นภาพผู้คนที่มาแช่พุน้ำร้อนเพื่อคลายปวดเมื่อยกันจนชินตา จนเกือบลืมไปว่านี่คือหนึ่งในสัญลักษณ์ที่บ่งบอกรอยเลื่อนแผ่นดินไหว ซึ่งนายสุวิทย์ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่ใช่พุน้ำร้อนทุกแห่งที่จะเป็นตัวบ่งชี้ของรอยเลื่อนมีพลัง เพราะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางแห่งก็มีพุน้ำร้อนแม้จะสำรวจไม่พบแนวรอยเลื่อนก็ตาม
อีกบ่อของพุน้ำร้อน ในบริเวณพุน้ำร้อนแม่จัน มีอุณหภูมิสูงกว่า 60 องศา เพราะเกิดจากปรากฏการณ์ที่น้ำใต้ดินที่อุณหภูมิสูงไหลตามรอยแตกของเปลือกโลกขึ้นมาสู่ผิวดิน ซึ่งนักธรณีวิทยาเผยว่าเป็นความเกี่ยวข้องกับรอยเลื่อนมีพลัง โดยพุน้ำร้อนแห่งนี้พบที่ ต.ป่าตึง อ.แม่จัน
นักท่องเที่ยวกำลังต้มไข่ลงในบ่อพุน้ำร้อนแม่จัน  อีกธรณีสัณฐานบ่งชี้แนวรอยเลื่อนมีพลัง
เดินทางออกจากแหล่งพุน้ำร้อนแม่จันเล็กน้อย เราก็มาพบกับแหล่งธรณีสันฐานอีกแห่ง ซึ่งในบริเวณนี้ หากขับรถผ่าน จะเห็นเป็นเพียงทุ่งนาเวิ้งว้างไม่มีความหมาย ไม่มีบ้านคนหรือสัตว์เลี้ยงอยู่ แต่ความจริงแล้วบริเวณดังกล่าวคือ “จุดศูนย์กลางรอยเลื่อนแม่จัน” ที่ยังคงมีการเคลื่อนตัวอยู่ทำให้พื้นดินในทุ่งนาดังกล่าวถูกแยกออกเป็น2 แนว ที่ถึงแม้จะมองเห็นได้ไม่ค่อยชัดเจนนักแต่ธรณีสันฐานระบุรอยเลื่อนที่ตั้งอยู่โดยรอบ ก็ช่วยยืนยันได้อย่างดีว่าบริเวณนี้ คือ พื้นที่ของรอยเลื่อน
บริเวณด้านหลังของท้องนาปรากฏลักษณะธรณีสัณฐานแบบผาสามเหลี่ยมและธารเหลื่อม  ที่เกิดจากการหักงอของทางน้ำที่เป็นผลจากจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน  โดยระยะของธารเหลื่อมแต่ละธารจะบ่งบอกค่าการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน
นักธรณีวิทยา อธิบายแก่ทีมข่าวว่า บริเวณด้านหลังของท้องนาปรากฏลักษณะธรณีสัณฐานแบบผาสามเหลี่ยมและธารเหลื่อม โดยธรณีสันฐานแบบธารเหลื่อมนั้น เป็นลักษณะที่เกิดจากการหักงอของทางน้ำที่เป็นผลจากจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน ทำให้ทางน้ำที่เคยไหลตรงจากภูเขาด้านบนสู่ที่ราบด้านล่างมีการเปลี่ยนทิศทางอย่างกะทันหัน ซึ่งมักไหลตั้งฉากจากแนวทางน้ำเดิมตามแนวของรอยเลื่อนนั้น แล้วไหลวกกลับขนานกับแนวทางน้ำเดิมอีกครั้งหนึ่ง โดยระยะของธารเหลื่อมแต่ละธารจะบ่งบอกค่าการเลื่อนตัวของรอยเลื่อน แต่เป็นที่น่าเสียดายเพราะจุดที่เรายืนอยู่ไกลเกินกว่าที่จะบันทึกภาพได้


แนวสีทึบบริเวณด้านล่างของลูกศร คือ ธรณีสัณฐานแบบฐานเหลื่อม (offset streams) ที่เป็นลักษณะการหักงอของทางน้ำ เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแนวระนาบตัดผ่านทางน้ำไหลตรงๆ จากภูเขาด้านบนสู่ที่ราบด้านล่าง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทิศอย่างกะทันหัน ซึ่งมักไหลตั้งฉากจากแนวทางน้ำเดิมตามแนวของรอยเลื่อนนั้น แล้วไหลวกกลับมาขนานกับแนวทางน้ำเดิมอีกครั้ง ซึ่งระยะของธารเหลื่อมนี้บ่งบอกถึงค่าการเลื่อนของรอยเลื่อนนั้นๆ ได้
ภาพถ่ายพาโนรามาในพื้นที่เขตศุนยืกลางรอยเลื่อนแม่จัน เผยให้เห็นพื้นที่เวิ้งว้างอันเต็มไปด้วยธรณีสัณฐานบ่งชี้แนวรอยเลื่อนมีพลัง
แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 ที่ผ่านมา เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนพะเยาทางตอนเหนือที่มีการวางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ พาดผ่าน อ.แม่สรวยถึง อ.แม่ลาว ของ จ.เชียงราย บ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนดังกล่าวกว่า 600 หมู่บ้านจึงได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะที่ บ้านดงมะดะ อ.แม่สรวย-แม่ลาว จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหว
ก่อนเดินทางเข้าสู่บ้านดงมะดะ รถตู้ของคณะเดินทางต้องลดความเร็วแบบระมัดระวัง เพราะถนนทางเข้าหมู่บ้านยังคงแตกและเกิดรอยแยกขนาดใหญ่ชัดเจน เผยให้เห็นเนื้อในถนนที่ปริออกจากยางมะตอย บริเวณช่วงต้นของหมู่บ้านแม้โดยรอบจะดีขึ้นกว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหม่ๆ แต่ร่องรอยความเสียหายของพื้นผิวถนนก็ยังปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดเส้นทางบ้านดงมะดะ ถนนสายในปริแตก บ้างก็แค่ทำให้ผิวถนนไม่เรียบ บ้างก็เป็นโพรงลึกลงไปจนต้องมีคนนำกิ่งไม้ยาวมากมาปักหลักไว้เพื่อป้องกันอันตราย ยังไม่มีการซ่อมแซมจนมีต้นหญ้าขึ้นปกคลุมผิวถนน ทำให้ชาวบ้านมีพื้นที่ในการขับขี่จักรยานยนต์เพียงแค่ช่องจราจรเดียว
นายสุวิทย์ อธิบายถึงสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวและผลกระทบที่ชาวบ้านบ้านดงมะดะ และชาวบ้านในละแวกได้รับจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57 ซึ่งบริเวณที่เรายืนอยู่นี้ คือ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 52-53 เส้นทางเชียงใหม่ เชียงราย บ้านสันใหม่พัฒนา ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว พื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหว
รอยแตกบนถนนในพื้นที่บ้านดงมะดะ อ.แม่สรวย มีความกว้างพอสมควร เผยใให้เห็นชั้นดินที่อยู่ใต้ผิวถนน จนต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้
ร่อยรอยถนนแตกขนาดเล็กในบ้านดงมะดะ สะท้อนให้เห็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 57
ร่องรอยถนนแตกส่งผลให้ผิวจราจรในช่วงนั้นไม่เรียบ เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ยานพาหนะ
เชียงรายขึ้นชื่อเรื่องวัดวาอารามสถานที่ต่อมาที่เราไปเยี่ยมชมคือ "วัดทรายขาว" ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 5 ต.ทรายขาว อ.พาน ซึ่งตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนมีพลังพะเยา แม้วัดทรายขาวจะตั้งอยู่ใน อ.พาน ซึ่งอยู่ห่าง จากศูนย์กลางแผ่นดินไหวบริเวณบ้านดงมะดะมาก อ.เวียงป่าเป้าพอสมควร แต่สิ่งก่อสร้างที่มีความสูงอย่างยอดเจดีย์ และพระวิหารภายในวัดก็ได้รับความเสียหายจากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวด้วยเช่นกัน

ลูกศิษย์วัดทรายขาว เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ยอดเจดีย์รวมถึงสิ่งก่อสร้างและวิหารอีกหลายหลังภายในวัดได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะตัวสิ่งก่อสร้างถูกออกแบบให้มีความสูงมากกว่าวัดปกติ แต่ในวันที่ทีมข่าวได้ไปเยี่ยมชม ศาสนวัตถุเกือบทุกส่วนถูกบูรณะเป็นที่เรียบร้อย สวยงาม เราจึงไม่เห็นภาพความเสียหายจากเหคุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นนอกจากคำบอกเล่า
วัดทรายขาว ต.ทรายขาว อ.พาน อีกสถานที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างหนัก จนยอดเจดีย์หักโค่นลงมา แต่ขณะนี้ทางวัดได้ทำการบูรณะจนเสร็จเรียบร้อย กลับมาสวยงามดังเดิม
นายสมบุญ โฆษิตานนท์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ร่วมบรรยายถึงอิทธิพลแห่งรอยเลื่อนมีพลัง ที่ทำให้วัดทรายขาวถึงตั้งอยู่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวพลอยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ผ่านมาด้วย
อีกวัดหนึ่งที่เราได้เข้าไปสำรวจ หลังได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวอย่างหนักคือ คือ "วัดร่องขุ่น" ศาสนสถานอันอ่อนช้อยของ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ที่ตั้งอยู่ใน อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งแม้ไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวรอยเลื่อนพะเยาโดยตรงแต่ก็ได้รับผลกระทบจากแรงสั่นสะเทือนแบบเต็มๆ โดยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวในระยะแรกๆ หลายสื่อได้แพร่ภาพความเสียหายของวัดร่องขุ่น ซึ่งจัดเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจนโครงสร้างวัดได้รับความเสียหายค่อนข้างมากเลยทีเดียว

วันที่เราได้เข้าไปเยี่ยมชมวัด รอบๆ บริเวณเต็มไปด้วยนั่งร้านก่อสร้างและตาข่ายคลุมยอดสูงของพระอุโบสถ เพราะแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้เขย่าเอาส่วนยอดของยอดพระอุโบสถและปูนปั้นอันวิจิตรหักล้มระเนระนาด จนเจ้าของวัดอย่าง อ.เฉลิมชัย เกือบถึงขั้นถอดใจเมื่อเห็นความเสียหายในปีก่อน
อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติร่วมแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนแผ่นดินไหวเชียงราย
ส่วนบนของพระอุโบสถที่มีความสูงและความอ่อนไหวหักโค่นลงจนเกือบหมดหลังได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ขนาด 6.3
พระอุโบสถหลงเล็กที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ก็ได้รับความเสียหายด้วย ทั้งที่ก่อนหน้าก็ยังก่อสร้างไม่เสร็จ
ปูนปั้นจากบริเวณยอดพระอุโบสถได้รับความเสียหายอย่างหนัก ปูนแตกร่อนจนเห็นเส้นเหล็กภายในจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด ซึ่ง อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า จะนำชิ้นส่วนที่เสียหายตั้งไว้ให้ชมในบริเวณวัดด้วยเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจจากแผ่นดินไหว
ความรุนแรงจากแผ่นดินไหวส่งผลให้ภาพวาดสีน้ำมันภายในพระอุโบสถ วัดร่องขุ่น เสียหายจนกระเทาะลอกออกมา จนช่างศิลป์ต้องระดมซ่อมในหลายๆ จุด
แรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหว ทำให้ยอดของพระอุโบสถหักงอจนทางวัดต้องนำลงมาเพื่อเพิ่มความแข็งแรงทางโครงสร้างและค่อยบูรณะติดตั้งใหม่
เรายังได้เดินทางไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อ.พาน จ.เชียงราย เพื่อเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้แผ่นดินไหว ที่กรมทรัพยากรธรณีได้จัดสร้างไว้เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านแผ่นดินไหวให้กับประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งภายในศูนย์การเรียนรู้ ประกอบไปด้วยโมเดลอธิบายการเกิดแผ่นดินไหวในลักษณะต่างๆ แผ่นพับความรู้แบบเข้าใจง่าย แนวทางปฏิบัติเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับแผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีแบบจำลองที่แสดงจุดที่รอยเลื่อนพาดผ่านใน จ.เชียงราย เพื่อให้ให้ประชาชนเห็นภาพ เข้าใจและระมัดระวังในการตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของ อบต. จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาให้ความรู้ หากมีผู้สนใจมาเข้าชมศูนย์ฯ
แผนผังรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่ จ.เชียงราย ถูกทำและจัดแสดงให้เห็นชัดเจนในแหล่งเรียนรู้แผ่นดินไหวแห่งแรกของไทย ที่กรมทรัพยากรธรณี สร้างขึ้นในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลทรายขาว อ.พาน ที่จะมีการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชนทั่วไปดกี่ยวกับการเกิดแผ่นดินไหวและการเตรียมตัวรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกรมทรัพยากรธรณีอธิบายแนวรอยเลื่อนมีพลังในพื้นที่ จ.เชียงราย แก่ผู้สนใจ






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น