xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินไหว ... เรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

โดย อิงค์ ภูเก็ต

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงนี้แผ่นดินไหวจะเป็นเรื่องฮิต และได้ครองพื้นที่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับเกือบทั้งสัปดาห์ในช่วงต้นเดือนนี้ นักโหราศาสตร์ต่างออกมาทำนายทายทักว่า จะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้นี้เพราะดาวดวงนั้นเล็งดาวดวงนี้ ส่วนนักวิชาการต่างก็ออกมาให้ความรู้ด้านวิชาการต่างๆ นานา
ภาพวงแหวนแห่งไฟจาก USGS
แผ่นดินไหว สีนามิ คำนี้ก็ยังดูเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับคนไทยเรา ในช่วงชีวิตของบางท่าน อาจจะเพิ่งเคยสัมผัสต่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งต่างกับประเทศที่ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ (Ring of fire) ที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นบ่อยจนเปรียบเสมือนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ความรู้ด้านนี้ถูกบรรจุไว้ในตำราเรียนตั้งแต่ประถม ซึ่งต่างกับเราที่ไม่เคยเจอแผ่นดินไหวเลยจนกระทั่งสิบปีที่ผ่านมา เราจึงควรที่จะเรียนรู้เพื่อจะได้รับมือต่อภัยธรรมชาติชนิดนี้ได้ต่อไปในอนาคต หลายคนคงเคยได้ยินนักวิชาการพูดถึง Ring of Fire แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร วงแหวนแห่งไฟคือ รอยต่อของเปลือกโลก ร่องของมหาสมุทร และแนวภูเขาไฟ ซึ่งมีลักษณะเป็นโค้งเกือกม้า อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก มีความยาวประมาณ 40,000 กิโลเมตร พาดผ่าน 31 ประเทศทั่วโลก 90% ของเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วโลกจะเกิดขึ้นในบริเวณนี้ ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริคเตอร์บริเวณหมู่เกาะสุมาตราในวันที่ 26 ธันวาคม 2004 ที่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิใน 6 จังหวัดอันดามันของเราก็เกิดจากบริเวณวงแหวนแห่งไฟนี้เช่นกัน
ตารางเปรียบเทียบขนาดแผ่นดินไหว ความรุนแรง และอัตราเร่งของพื้นดิน ณ บริเวณจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว  จากกรมทรัพยากรธรณี
ก่อนอื่นเราคงต้องทำความรู้จักกับสาเหตุของแผ่นดินไหวก่อนว่าเกิดจากอะไร ปัจจัยที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเกิดได้จาก 2 ปัจจัย คือ โดยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ การเกิดโดยธรรมชาติ เช่น จากแรงภายในเปลือกโลก ภูเขาไฟระเบิด การยุบตัว หรือพังทลายของโพรงใต้ดิน การสั่นสะเทือนจากคลื่นมหาสมุทร และการกระทำของมนุษย์ เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การทำเหมือง การฉีดของเหลวลงใต้ดิน และบางตำราก็ว่า รวมถึงการทดลองนิวเคลียร์ด้วย แต่แผ่นดินไหวที่ทำความเสียหายให้แก่มนุษย์มากที่สุดคือ แผ่นดินไหวที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ซึ่งลักษณะการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในแต่ละพื้นที่ก็จะแตกต่างกัน

การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกมีหลายแบบ ประกอบด้วย แบบที่ 1 แบบกระจายตัว (Divergence Boundaries) เมื่อแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นเคลื่อนที่ออกจากกัน เช่น บริเวณมหาสมุทรอาร์คติก ประเทศไอซ์แลนด์ ยาวลงมาถึงมหาสมุทรแอตแลนติก บริเวณทวีปแอฟริกา (Mid-Atlantic Ridge) ซึ่งมีการเคลื่อนที่ห่างจากกันประมาณ 2.5 เซนติเมตรต่อปี การเคลื่อนตัวแบบที่ 2 คือ แบบเปลี่ยนรูป (Transform Boundaries) คือ แผ่นเปลือกโลกจำนวน 2 แผ่นเคลื่อนที่ผ่านกันในแนวนอน ส่วนมากจะเกิดบริเวณพื้นมหาสมุทร แต่ก็มีบางแห่ง เช่น รอยเลื่อนซานแอนเดรีย (San Andreas Fault) ที่อยู่บริเวณรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่เกิดบนบก รอยเลื่อนนี้มีความยาวถึง 1,300 กิโลเมตร และกว้างหลายสิบกิโลเมตร ซึ่งถ้าผู้เขียนจำไม่ผิด กำลังจะมีภาพยนตร์ชื่อเดียวกันออกมาในเวลาอีกไม่นาน

และการเคลื่อนตัวแบบที่ 3 แบบมุดตัว (Convergence Boundaries) คือ การที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนเข้าหากัน โดยที่เปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดเข้าไปอยู่ใต้เปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง เรียกว่าเขตมุดตัวของเปลือกโลก (Subduction Zone) สามารถเกิดขึ้นทั้งบนแผ่นดิน และบริเวณใต้มหาสมุทร ซึ่งในบริเวณนี้เป็นบริเวณที่จะสามารถทำให้เกิดคลื่นสึนามิรวมถึงภูเขาไฟได้ ตามข้อมูลจากสำนักงานธรณีวิทยาของสหรัฐฯ หรือ The United States Geological Surveys เรียกสั้นๆ ว่า USGS ซึ่งโปรแกรมเตือนภัย Earthquake Alert ที่เราดาวน์โหลดมาไว้ในมือถือก็จะได้ข้อมูลมาจากหน่วยงานนี้ ตัวอย่างของแผ่นเปลือกโลกที่เคลื่อนที่เข้าหากันแล้วทำให้เกิดภูเขาคือ แผ่นเปลือกโลกอินเดียน และยูเรเชียน (The Indian and Eurasian Plates) ที่ทำให้เกิดเทือกเขาหิมาลายัน และที่ราบสูงทิเบต (The Himalayas and The Tibetan Plateau) ในเวลาประมาณ 10 ล้านปี และสูงถึง 8,854 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น USGS ก็ได้บอกไว้อีกว่า ยังมีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกในบางพื้นที่ ซึ่งยังไม่สามารถจะจัดประเภทได้ เนื่องจากในบริเวณนั้นมีแผ่นเปลือกโลกใหญ่มากกว่า 2 แผ่น และแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็ก (Microplates) อีกหลายแผ่นที่เกิดการเคลื่อนตัว ทำให้มีการเคลื่อนที่แตกต่างจากลักษณะที่ได้อธิบายไว้ด้านบน แต่ไม่ต้องกังวล เนื่องจากอยู่ไกลจากเมืองไทยมาก
การเปรียบเทียบขนาดกับความรุนแรงแผ่นดินไหว และระยะทางที่มีผลกระทบ
ภาพรอยเลื่อนมะรุ่ย
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ต เกิดจากรอยเลื่อนที่เรียกว่า รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ซึ่งเริ่มจากในทะเลอันดามัน ระหว่างจังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา รอยเลื่อนนี้ยาวต่อเนื่องมาจนถึงบริเวณลำคลองมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา และต่อเนื่องไปในพื้นที่อำเภอพนม อำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอวิภาวดี และอำเภอไชยา ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีความยาวบนแผ่นดินประมาณ 150 กิโลเมตร

รอยเลื่อนมะรุ่ยมีการเลื่อนแบบแนวระนาบ และเป็นรอยแยกของแผ่นดินที่อยู่บนแผ่นเปลือกโลกเดียวกัน จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดไม่ใหญ่นัก และเนื่องจากเป็นการเคลื่อนตัวในแนวระนาบ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีโยธา สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมนักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างกับแผ่นดินไหว ให้ความเห็นว่า ถ้าเปรียบเทียบรอยเลื่อนมะรุ่ย กับรอยเลื่อนอื่นๆ ทางภาคตะวันออก และภาคเหนือของไทย รอยเลื่อนนี้ถือว่าเป็นรอยเลื่อนขนาดเล็กเท่านั้น จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ไม่เกิน 5.5 ริกเตอร์ จึงจะไม่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ ผู้เขียนก็มีคำถามอีกว่า แล้วรอยเลื่อนมะรุ่ย จะสามารถเปลี่ยนลักษณะการเคลื่อนตัวได้ไหม ก็ได้คำตอบว่า โดยปกติ รอยเลื่อนต่างๆ จะมีลักษณะการเคลื่อนไหวที่ต่างกัน แต่ตามสถิติแล้วไม่มีรอยไหนเปลี่ยนแปลงลักษณะการเคลื่อนที่

ศ.ดร.อมร ยังได้กล่าวอีกว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเพราะว่าอยู่ในเขตที่จะได้รับผลกระทบจากแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนสุมาตรา แต่รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย เป็นรอยเลื่อนที่ใกล้กว่า และมีพลังน้อยกว่า จึงไม่สามารถจะทำให้เกิดแผ่นดินไหวมากกว่า 5.5 ริกเตอร์ได้ ซึ่งความรุนแรงมากกว่า 5 ริกเตอร์เท่านั้นที่จะมีผลกระทบต่อตึกเก่าที่ทำจากอิฐอย่างเดียวและไม่มีเหล็กเสริม ส่วนกรณีตึกเก่าที่มีเหล็กเป็นโครงสร้างด้านใน แผ่นดินไหวต้องมีความแรงถึง 6 ริกเตอร์จึงจะมีผลกระทบได้ แต่ในกรณีที่แผ่นดินไหวมีความแรงแค่ 4 ริกเตอร์ ถึงแม้ว่าจะเกิดบ่อย ก็จะไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้าง อาจจะเป็นเพียงรอยแตกร้าวเล็กน้อยที่ไม่มีปัญหาต่อโครงสร้างโดยรวม และไม่สามารถทำให้อาคารถล่มได้

ในกรณีที่แผ่นดินไหวเกิน 5 ริกเตอร์ จะเห็นโครงสร้างที่เก่าจริงๆ มีอาการแตกร้าวอย่างหนัก เหมือนแก้วที่แตกระแหง และลามไปทั่วอาคาร และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะหลุดลงมา และเกิดการถล่มได้ ส่วนอาคารที่สร้างและออกแบบมาหลังจากปี 2550 กฎหมายจะกำหนดให้อาคารต้องรองรับแผ่นดินไหวได้ถึง 6-7 ริกเตอร์ ซึ่งรอยเลื่อนมะรุ่ยนี้ไม่มีพลังมากขนาดนั้น กรณีที่แผ่นดินไหวมีขนาดเกิน 5 ริกเตอร์ ศ.ดร.อมร ให้คำแนะนำว่า ควรจะมีการสำรวจอาคารเก่าว่ามีส่วนไหนกระทบบ้าง ส่วนที่ต้องสังเกตที่สุดคือ เสา ในกรณีที่เสาด้านล่างเกิดรอยร้าว ให้สันนิษฐานว่า อาคารมีปัญหาให้รีบออกจากอาคารในทันที ซึ่งเสาด้านล่างนี้จะเกิดผลกระทบจากแผ่นดินไหวก่อนเสาชั้นบน

ศ.ดร.อมร ได้สรุปในตอนท้ายว่า เนื่องจากเราอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ไม่ปลอดภัยจากแผ่นดินไหวร้อยเปอร์เซ็นต์ ประชาชนจึงควรระมัดระวังมากขึ้น แต่ไม่ควรจะตระหนกจนเกินไป การเกิดแผ่นดินไหวเล็กๆ บ่อยๆ จะไม่มีผลกระทบอะไรมาก แต่เป็นการดีที่แผ่นดินได้มีการปลดปล่อยพลังงานออกมา ดีกว่าที่จะเกิดการไหวขนาดใหญ่ในครั้งเดียว แผ่นดินไหวในพื้นทีภูเก็ตจะไม่รุนแรงจนเกิดตึกถล่มเหมือนในเนปาล แต่อยากเตือนให้ระมัดระวังสิ่งของที่จะพลัดตกลงมาจากชั้นวางของที่ไม่ได้ยึดไว้กับผนัง (ในกรณี 4 ริกเตอร์ขึ้นไป) ส่วนสึนามิ จะไม่มีทางเกิดจากรอยเลื่อนมะรุ่ย แต่จะเกิดจากรอยเลื่อนสุมาตราซึ่งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น เพราะแผ่นดินไหวที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของมวลน้ำได้จะต้องมีความรุนแรงไม่ต่ำกว่า 7.5 ริกเตอร์ขึ้นไป

ผู้เขียนหวังว่า ในอนาคตอันใกล้จะได้เห็นหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีการปรับปรุงระบบตรวจวัด และมีการรายงานแผ่นดินไหวได้รวดเร็วกว่าปัจจุบัน ซึ่งบอกได้เลยว่าในยุคที่เรามีการสื่อสารบนโลกอินเทอร์เน็ตมากขนาดนี้ ทุกอย่างสามารถทำได้อย่างง่ายดาย ทางด้านการศึกษาเราก็ควรจะบรรจุความรู้เรื่องแผ่นดินไหวกับสึนามิในตำราเรียนของเด็ก ส่วนหน่วยงานท้องถิ่นก็ควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่าควรปฏิบัติตัวเช่นไรเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ เช่น จัดพิมพ์แผ่นพับการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดแผ่นดินไหว การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดสึนามิ เป็นต้น ส่วนภาคประชาชน ก็ควรปลุกจิตสำนึกให้ช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติของเรา เช่น ช่วยกันปลูกป่าโกงกางในพื้นที่เสี่ยง เพราะป่าโกงกางสามารถดูดซับความรุนแรงของคลื่นสึนามิได้

บทความนี้ ผู้เขียนตั้งใจเขียนเพื่อจะให้คนภูเก็ต พังงา และกระบี่ ได้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และจะได้รับมือต่อภัยธรรมชาติชนิดใหม่ (สำหรับคนไทย) นี้ ได้อย่างมีความรู้และสติ หวังว่าบทความนี้คงมีประโยชน์ และได้ตอบคำถามที่ค้างคาใจของหลายคนไม่มากก็น้อย ข้อมูลรายชื่อ หมู่บ้านที่มีรอยเลื่อนผ่านในประเทศไทยจากกร,ทรัพยากรธรณี  http://www.dmr.go.th/more_news.php?offset=0&cid=357&filename=index  เสริมแกร่งเสาอาคารเก่าต้านแผ่นดินไหว โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ  http://www.bsa.or.th/TIP

ขอบคุณ
-ภาพและข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี, USGS
-เอกสารเผยแพร่เรื่องความรู้พื้นฐานทั่วไปเกี่ยวกับแผ่นดินไหว โดย บุรินทร์ เวชบันเทิง จาก สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุวิทยา
-ศ.ดร.อมร พิมานมาศ สำหรับความรู้ใหม่ที่จะทำให้ชาวภูเก็ตได้สบายใจขึ้นได้บ้าง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น