xs
xsm
sm
md
lg

เจาะใจ "นักแผ่นดินไหว" ผ่าความจริงมหาธรณีพิบัติเขย่าไทย!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาล ตามมาด้วยแผ่นดินไหวที่ปาปัวนิวกินี ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ค. เกิดแผ่นดินไหวในทะเล ขนาด 4.6 ความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณตอนใต้เกาะยาว จ.พังงา แถมยังไหวซ้ำอีกในเนปาลด้วยขนาด 7.4 กลายเป็นภัยพิบัติที่ใครหลายคนกำลังหวั่นวิตก ทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live จึงต่อสายตรงเพื่อเคลียร์ทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหว-สึนามิในไทยกับนักวิชาการที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแผ่นดินไหวคนแรกของไทย

"ดร.ไพบูลย์ นวลนิล" คือนักแผ่นดินไหววิทยาหนึ่งเดียวของประเทศไทย เจ้าของผลงานเขียน "แผ่นดินไหว! พิบัติภัยที่คนไทยต้องพร้อมรับมือ" โดยการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นข้อมูลอีกด้านที่ทีมข่าวนำมาให้พิจารณา ไม่ได้มีเจตนาหักล้างข้อมูลของใครว่าถูก หรือผิด

ไหวเนปาล สะเทือนถึงไทย?

เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเนปาล แถมยังเขย่าซ้ำด้วยขนาด 7.4 แมกนิจูด ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจกระทบถึงไทย เรื่องนี้ นักแผ่นดินไหววิทยา บอกว่า ไม่กระทบอย่างแน่นอน ก่อนจะอธิบายข้อมูลตามหลักวิชาการให้ฟังต่อไปว่า "แผ่นดินไหวใหญ่ที่จะสามารถกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่อื่นได้จะต้องอยู่ในรัศมีไม่เกิน 1,000 กิโลเมตร นั่นหมายความว่า ไทยห่างจากเนปาลประมาณ 1,800 กิโลเมตร ดังนั้นจึงไม่กระทบไทยแน่นอน แต่บางคนไม่เข้าใจจึงเอาไปโยงโน่นนี่นั่น บวกกับความวิตกกังวล ทำให้เกิดอาการอกสั่นขวัญแขวนเพิ่มขึ้นไปอีก"


แน่นอนว่า พักหลังๆ มานี้ มักจะได้ยินข่าวแผ่นดินไหวบ่อยขึ้น นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกจะวิบัติหรือไม่ นักวิชาการคนเดียวกันบอกว่า มันไหวของมันตามปกติ แต่บังเอิญว่าปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น และไวขึ้นทั่วโลก ทำให้สามารถวัดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางได้เพิ่มขึ้น


"อย่างในอดีตที่ผ่านมาต้องขนาด 6 ขึ้นไปถึงจะตรวจวัดรายงานได้ แต่สมัยนี้ขนาด 1 เครื่องมันยังวัดได้เลย นอกจากนั้นประชาชนให้ความสนใจ แถมสื่อต่างๆ เข้าถึงชาวบ้านได้มากขึ้น แผ่นดินไหวจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว และได้ยินกันบ่อยขึ้น" นักวิชาการด้านแผ่นดินไหวบอก ก่อนจะยืนยันว่า โลกไม่วิบัติแบบในภาพยนตร์อย่างแน่นอน

ดร.ไพบูลย์ นวลนิล
ส่วนอีกหนึ่งเรื่องที่ถูกถาม และกังวลกันมาก คงหนีไม่พ้น "แผ่นดินไหวรุนแรง" ในประเทศไทย ซึ่งตามหลักวิชาแผ่นดินไหวแล้ว ดร.ไพบูลย์ บอกว่า แผ่นดินไหวรุนแรงคือแผ่นดินไหวที่มีขนาด M=6.0-6.9 แต่หากย้อนไปดูประวัติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดนี้ในประเทศไทยแล้ว พบว่าเคยเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2478 ขนาด 6.5 และปี 2554 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่อ.แม่สรวย จ.เชียงราย หรือในรอบ 77 ปี เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง 2 ครั้ง อาคารและโบราณสถานเสียหายบ้าง แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต เนื่องจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวไม่ได้อยู่ในเมืองที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่น

"บ้านเรา ถ้าจะมีแผ่นดินไหวรุนแรงคงจะไม่ถึงขนาด 7 เหมือนอย่างที่เนปาล หรือปาปัวนิวกินี ขนาด 5 ผมว่าเยอะแล้วสำหรับประเทศไทย เพราะว่ารอยเลื่อนที่มีพลัง 14 รอยเลื่อนตอนนี้ มันเป็นรอยเลื่อนขนาดเล็ก ความสามารถในการสะสมพลังงานของมันจึงไม่มาก


เพราะฉะนั้น แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะเป็นแผ่นดินไหวที่ไม่รุนแรง ถามว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.5 ในประเทศไทยได้อีกไหม มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรจนกว่าจะมีข้อมูลที่มากพอ และสามารถคาดการณ์ได้ว่า ขนาดสูงสุดในแต่ละรอยเลื่อนมีขนาดเท่าไร แต่ตอนนี้บ้านเรายังไม่มีข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวในแต่ละรอยเลื่อน เนื่องจากไม่มีเครื่องมือการตรวจวัดที่มากพอ" นักวิชาการแผ่นดินไหวอธิบาย


อีกนาน! สึนามิถล่มไทยรอบ 2


เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิถล่มฝั่งอันดามันรอบ 2 นักวิชาการแผ่นดินไหว บอกว่า ต้องเกิดแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกยาวนาน


"เหมือนกับ 26 ธ.ค.2547 เราถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ หรือขนาด 9 ซึ่งแผ่นดินไหวขนาด 9 มันไม่ใช่เกิดกันง่ายๆ ขนาดที่ญี่ปุ่น เมื่อครั้งเกิดแผ่นดินไหวใต้ทะเลขนาด 9 จนทำให้เกิดสึนามิขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นความรุนแรงที่สุด 5 ครั้งในรอบ 100 ปี และเป็นครั้งรุนแรงที่สุดที่ญี่ปุ่นเคยประสบ ของเราก็เหมือนกัน แผ่นดินไหวขนาด 9 ที่นักวิจัย หรือว่านักวิชาการได้ประเมินมา มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในช่วง 100-200 ปีด้วยซ้ำ นั่นหมายความว่าจากปี 2547 ถ้ามันจะเกิดอีก มันคงต้องใช้เวลาอีกนาน


หรือบางคนบอกว่า อาจจะไม่ถึงขนาด 9 แต่สึนามิจะแรงกว่าเดิม อันนี้เป็นไปไม่ได้เลย เอาง่ายๆ แผ่นดินไหวขนาด 8 ซึ่งน้อยกว่า 9 หนึ่งหน่วย พลังงานมันน้อยกว่าอยู่ 33 เท่านะครับ ถ้าขนาด 7 กับขนาด 9 พลังงานต่างกันเป็น 1,000 เท่า ดังนั้นถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7 การจะเกิดคลื่นสึนามิมันจะมากกว่าขนาด 9 ไปได้อย่างไร ในเมื่อพลังงานมันน้อยกว่าตั้ง 1,000 เท่า" นักวิชาการขยายความ


ส่วนโอกาสที่จะเกิดสึนามิขนาดใหญ่ในอ่าวไทย นักวิชาการท่านนี้ฟันธงว่า เป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากในอ่าวไทยไม่มีแนวมุดตัวที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดยักษ์ได้เลย สำหรับสึนามิจากฟิลิปปินส์หรือญี่ปุ่นก็ไม่ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งอ่าวไทยดังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นจึงไม่ต้องกังวล และอย่าเชื่อข่าวลือ


"ในการตรวจวัดแผ่นดินไหว ตั้งแต่เริ่มมีการวัด ในอ่าวไทยจะมีแผ่นดินไหวที่เกิดในรอยเลื่อนระนองขนาด 5.0 นอกนั้นจะไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในอ่าวไทยเลย ดังนั้นรอยเลื่อนดังกล่าวจะเกิดแผ่นดินไหวขนาดปานกลางไม่ถึงกับขนาดรุนแรงที่มีผลกระทบมาก" นักวิชาการเผย


ทั้งนี้ ในทัศนะของนักแผ่นดินไหว "พายุ" คือภัยพิบัติที่น่ากลัวที่สุดในไทย


"พายุ ไม่ว่าจะเป็นพายุหมุนงวงช้าง พายุฤดูร้อน มันน่ากลัวนะ แต่น้ำท่วมไม่ค่อยน่ากลัว เพราะก่อนน้ำท่วมฝนก็ต้องตกลงมาก่อน พอฝนมันตก มันมีเวลาเตรียมตัว แต่น้ำท่วมใหญ่คราวที่แล้ว ทั้งๆ ที่รู้ล่วงหน้าว่าฝนมันตก เขื่อนจะต้องปล่อยน้ำ และน้ำจะต้องท่วมพื้นที่ไหน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ใช้วิชาการมาแก้ปัญหาเท่านั้นเอง ใช้แต่ความรู้สึกมาแก้ปัญหา กลายเป็นลิงแก้แห ท้ายที่สุดก็ท่วมกันถ้วนหน้า"


"คนไทย" พร้อมรับมือภัยพิบัติแค่ไหน


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภัยพิบัติธรรมชาติ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และสร้างความเสียหายหลายๆ ด้าน ถามว่าประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ดร.ไพบูลย์ ในฐานะนักแผ่นดินไหวที่ศึกษาเกี่ยวกับการลดความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว และสึนามิ เขามองว่า หลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ รวมทั้งการติดตั้งทุ่นตรวจวัดคลื่นสึนามิโดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพิ่มขึ้นอีก 3 ทุ่น ทำให้สามารถที่จะเตือนภัยสึนามิได้ทัน

แต่สำหรับกรณีแผ่นดินไหวที่ยังไม่สามารถเตือนภัยได้นั้นก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว รวมทั้งการซักซ้อมก็ไม่จริงจัง ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ว่าประเทศไทยไม่น่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงนั่นเอง


"ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้บ้านเรายังไม่พร้อมกับสถานการณ์ใหญ่ หรือสถานการณ์ที่มีความเสียหายร้ายแรงเหมือนเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศเนปาล ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากให้มันเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่พอกลับมาดูการเตรียมพร้อมในประเทศไทย เรายังไม่พร้อมในภาคของการบริหารจัดการภายใต้สภาวะฉุกเฉินในกรณีที่มีภัยพิบัติ และสร้างความเสียหาย เนื่องจากเรายังไม่เคยซ้อมในภาคใหญ่

อย่างเทศบาลเมืองป่าตอง จ.ภูเก็ต มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 2 แสนคน ประชากรแฝงประมาณหนึ่ง แต่เวลาซ้อมสึนามิกลับมีไม่ถึง 1,000 คน แล้วถามว่าการบริหารจัดการคน 1,000 คนกับคนเป็นแสน เป็นหมื่นคนมันต่างกันเยอะมาก ซึ่งเราไม่เคยจำลองสถานการณ์ใหญ่แบบนั้นเลย
ดังนั้น เราก็ไม่รู้ว่า ถ้ามันมีการเตือนภัย และต้องอพยพกันจริงๆ การจะอพยพคนเป็นหมื่นๆ คนภายใน 5 นาที 10 นาที หรือ 20 นาที เราทำได้ไหม"

เมื่อเป็นเช่นนี้ "กระทรวงภัยพิบัติธรรมชาติ" คือหน่วยงานที่นักแผ่นดินไหวท่านนี้ยืนยันว่าจำเป็นต้องมี เนื่องจากที่ผ่านมาๆ ยังคงมีความล่าช้าในการเยียวยาอยู่มาก หากปล่อยให้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต ก็ไม่มีทางที่จะสำเร็จในเวลาที่กำหนด หรืออาจจะล้มเหลวก็ได้


"เอาง่ายๆ วันนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สังกัดกระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติอยู่กระทรวงสาธารณสุข สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวอยู่กระทรวงไอซีที ศูนย์เตือนภัยพิบัติก็เหมือนกัน ผมถามว่าเวลาสถานการณ์มันเกิดต้องให้นายกฯ มาจัดการ หรือให้ใครมาสั่งการ เพราะว่ากระทรวงสาธารณสุขจะไปสั่งกระทรวงมหาดไทยก็สั่งไม่ได้


แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ตรงนั้น ที่ต้องตั้งกระทรวงภัยพิบัติธรรมชาติขึ้นมา ส่วนหนึ่งไม่ใช่กู้ชีพ กู้ภัย รักษา บรรเทา หรือเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเดียว แต่หมายถึงต้องทำหน้าที่ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกันบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติควบคู่กับการช่วยเหลือเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชน รวมไปถึงการนำองค์ความรู้มาใช้ในการแก้ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติด้วย" นักแผ่นดินไหวเสนอแนะทิ้งท้าย


ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live




มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram

"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!

และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754



กำลังโหลดความคิดเห็น