xs
xsm
sm
md
lg

สดร.ชี้ 4 เม.ย.นี้เกิด "จันทรุปราคา" สั้นสุดในศตวรรษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจันทรุปราคาเต็มดวง เมื่อวันที่  16 มิ.ย. 2554  โดย สดร.
สดร.ชวนจับตาชม “จันทรุปราคาสีแดงอิฐสุกสว่างครั้งที่สั้นที่สุดในศตวรรษ” ช่วงหัวค่ำวันที่ 4 เม.ย. 58 ทางขอบฟ้าทิศตะวันออก เป็นเวลา 5 นาที ดร.ศรัณย์เผย พลาดครั้งนี้ต้องรออีก 3 ปี กว่าจะมีจันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง ชวนเชิญคนไทยร่วมกิจกรรมชมจันทร์พร้อมกัน 4 แห่ง ปทุมธานี-เชียงใหม่-นครราชสีมา-ฉะเชิงเทรา



รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แถลงข่าว เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 58 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิญชวนประชาชนทั่วไทย เฝ้าชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งแรกและครั้งเดียวของปี ในช่วงหัวค่ำวันที่ 4 เม.ย.58 และการเตรียมความพร้อมจัดกิจกรรมชมจันทรุปราคา 4 แห่งทั่วไทย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า วันที่ 4 เม.ย.58 ที่จะถึงนี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ที่สามารถสังเกตได้เกือบทุกพื้นที่ของเอเชียรวมถึงทางด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย มหาสมุทรแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียโดยตรงกับเวลาเช้ามืดของวันเดียวกันตามเวลาท้องถิ่น ด้านตะวันตกของอเมริกาใต้ และด้านตะวันตกของมหาสมุทรแอตแลนติก

"สำหรับประเทศไทย จะเกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำโดยดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 16.01 น. จากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลก เกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 17.15 น. แต่ในวันดังกล่าวในประเทศไทยดวงจันทร์จะโผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 18.25 น. ทำให้เราไม่สามารถเห็นช่วงแรกของการเกิดจันทรุปราคาได้" ดร.ศรัณย์ระบุ

หลังจากนั้นดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่ “จันทรุปราคาเต็มดวง” ตั้งแต่เวลา 18.57 - 19.02 น. คิดเป็นระยะเวลาการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงเพียง 5 นาที ซึ่งขณะนั้นดวงจันทร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออกประมาณ 7 องศา และช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวงจนสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางด้านทิศตะวันออกในทุกภูมิภาคของประเทศ

หลังเวลา 19.03 น. ไปแล้ว ดรฺศรัณย์ระบุว่า ดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่ช่วงจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกทั้งดวงในเวลา 20.44 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัว ซึ่งสังเกตได้ยากโดยดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกในเวลา 21.58 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงครั้งนี้โดยสมบูรณ์ ที่มุมเงย 31 องศาจากขอบฟ้าทางทิศด้านตะวันออก

“ความพิเศษของจันทรุปราคาครั้งนี้อยู่ที่ความสั้น คือจะเกิดเต็มดวงเพียงแค่ 5 นาทีเท่านั้นซึ่งเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่สั้นที่สุดในรอบศตวรรษ แต่ความสั้นครั้งนี้คือความพิเศษ เพราะเกิดบริเวณชิดขอบเงามัว ทำให้ดวงจันทร์ที่ถูกบดบังไม่มืดสนิทกลับเห็นเป็นดวงจันทร์สีแดงอิฐที่มีความสว่างมาก คนบนโลกที่รอชมปรากฏการณ์จะได้เห็นภาพที่สวยงามที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ สำหรับการเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในครั้งหน้าจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 ก.ย.58 แต่จะไม่สามารถสังเกตเห็นได้ในไทย หากจะรอชมจันทรุปราคาเต็มดวงที่จะเกิดขึ้นครั้งต่อไปในไทยจึงต้องรอรอบต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ม.ค.61” รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ดร.ศรัณย์ ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า สาเหตุที่เห็นดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเป็นสีแดงอิฐ เป็นเพราะในช่วงที่เกิดจันทรุปราคารยังคงมีแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วน ไปตกยังดวงจันทร์ โดยแสงบางส่วนนั้น ได้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกและเกิดการหักเห แสงที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างแสงสีฟ้าจะถูกกระเจิงออกไปหมด เหลือแต่แสงที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างแสงสีส้มหรือแดงไปตกบนดวงจันทร์ จึงทำให้คนบนโลกเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐ

ผู้สนใจชมจันทรุปราคาเต็มดวงช่วงหัวค่ำในวันดังกล่าว ดร.ศรัณย์ได้แนะนำให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณที่โล่งหรือที่สูงจะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ทั้งนั้นช่วงเวลาที่เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ ยังอยู่ในช่วงที่ยังคงมีแสงสนธยาอยู่การสังเกตดวงจันทร์ขณะกินคราสเต็มดวงสำหรับตาเปล่าจึงอาจทำได้ไม่ชัดเจนนัก ซึ่งทาง สดร.ก็ได้มีการจัดกิจกรรมพร้อมกล้องดูดาวไว้ให้บริการกับประชาชนจำนวน 4 แห่งทั่วประเทศได้แก่ จ.ปทุมธานี, จ.เชียงใหม่, จ.นครราชสีมา และ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมถ่ายทอดสดการเกิดปรากฏการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ www.narit.or.th เพื่อให้ประชาชนได้ชมปรากฏการณ์พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 17:00 - 22:00 น.

*** สถานที่จัดกิจกรรม ***
ปทุมธานี - ดาดฟ้าชั้น 3 บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 081-8854353

เชียงใหม่ - จุดชมวิวดอยสุเทพ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 082-3868155

นครราชสีมา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 044-216254

ฉะเชิงเทรา - หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 038-589395

เชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ภาพจำลององศาดวงจันทร์ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง
ภาพจำลองการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา
สีของดวงจันทร์ขณะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง

บรรยากาศการแถลงข่าวโดยผู้บริหาร สดร.






*******************************



กำลังโหลดความคิดเห็น