แม้ว่า “จันทรุปราคา” จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่สำหรับปี 2557 นี้มีปรากฏการณ์คราสบังดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นตรงกับ “วันออกพรรษา” วันสำคัญสำหรับชาวพุทธ และทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังมีโอกาสไปชมปรากฏการณ์บนปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งมีปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตกลอดช่อง 15 ประตูในเวลาใกล้เคียงกัน
ย้อนกลับไปเมื่อช่วงค่ำวันที่ 8 ต.ค.ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงส่งท้ายปี 2557 ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้ร่วมเดินทางไปกับสมาคมดาราศาสตร์ไทยในกิจกรรมดาราศาสตร์สัญจร เพื่อร่วมชมปรากฏการณ์ดังกล่าว ณ อุทยานพประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
เราออกเดินทางกันล่วงหน้า 1 วันจึงมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตกลอดช่อง 15 ประตูปราสาทหินพนมรุ้ง ซึ่งเกิดขึ้นในวันเวลาใกล้เคียงกัน นับการเดินทางครั้งนี้น่าตื่นเต้นอยู่ไม่น้อย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่มีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวและดาราศาสตร์ในสถานที่เดียวกัน และรายล้อมไปด้วยร่องรอยอารยธรรมขอมโบราณ
มีผู้ร่วมเดินทางไปพร้อมสมาคมดาราศาสตร์ฯ กว่า 30 ชีวิต เราใช้เวลาประมาณ 6 ชั่วโมงเดินทางไปถึงเขาพนมรุ้ง และจับจ้องพื้นที่เพื่อชมปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดช่องประตูเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวคณะอื่นๆ อีกจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 4 ครั้งในรอบปี โดยมีปรากฏการณ์ลอดช่องประตูขณะดวงอาทิตย์ขึ้นในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. และขณะดวงอาทิตย์ตกในช่วง ก.ย.-ต.ค.
ข้อมูลจากนักโบราณคดีประจำการของปราสาทพนมรุ้ง ระบุว่าปราสาทพนมรุ้งนั้นตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้งซึ่งเป็นภูเขาไฟที่ดับสนิทแล้ว และเป็นโบราณสถานศิลปะลพบุรีที่มีความงดงาม และมีความสำคัญมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย โบราณสถานดังกล่าวคือศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย
สำหรับเขาพนมรุ้งเปรียบเสมือนเขาไกรลาสซึ่งเป็นที่ประทับของพระศิวะ อันเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาลตามความเชื่อของศาสนาฮินดู การก่อสร้างปราสาทพนมรุ้งใช้หลายสมัยตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15-18 โดยผู้สร้างคือ “นเรนทราทิตย์” พระญาติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทนครวัด
ทั้งนี้ สันนิษฐานว่าผู้ก่อสร้างได้ออกแบบประตูปราสาทให้อยู่ในแนวเส้นทางการโคจร ของดวงอาทิตย์ โดยการวางตัวปราสาทในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตกเพื่อให้แสงจากดวงอาทิตย์ตก กระทบลอดผ่านไปยังศิวลึงค์ ที่ตั้งอยู่ตรงกลางปราสาทเพื่อถวายการบูชา จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอดช่อง 15 ประตู
เมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลดระดับลงสู่ขอบฟ้า และส่องแสงลอดช่องผ่าน 15 ประตู สังเกตเห็นเป็นลักษณะคล้ายไข่ปลาสีส้มแดงขนาดเล็กอยู่ระหว่างช่องประตูแล้ว ค่อยๆ ลดระดับลงจนลับขอบฟ้าหายไป ผู้คนที่มารอชมต่างเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างใจจดใจจ่อ ภายใต้การดูแลรักษาความสงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะทยอยกันกลับ เหลือแต่คณะดาราศาสตร์สัญจรของสมาคมดาราศาสตร์ฯ ที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้อยู่บนปราสาทนอกเวลา 06.00-18.00 น.ได้ ซึ่งทางคณะได้เตรียมกิจกรรมดูดาวต่อ
นายอารี สวัสดี เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า การที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงลอดช่องประตูทั้ง 15 ได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ในการออกแบบ และวางแปลนก่อสร้างตัวปราสาทเมื่อพันปีก่อน ตัวปราสาทพนมรุ้งมีการวางตัวในแนวตะวันออก-ตะวันตก ประกอบกับมีการวัดทิศเหนือใต้จริงโดยสังเกตการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ทำให้ ช่างในสมัยก่อนสามารถออกแบบให้ประตูตัวปราสาทตรงรับกับแสงอาทิตย์พอดี
“แต่ไม่ได้เสียทีเดียว ซึ่งจากการรางวัดพบว่า ความคลาดเคลื่อนไปทางทิศเหนือ 5 องศา แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเป็นเพราะความบังเอิญ หรือความตั้งใจ ต้องรอศึกษาต่อไปว่า เป็นเฉพาะที่พนมรุ้งที่เดียว หรือปราสาทอื่นๆ ก็มีการเอียงในลักษณะนี้ด้วย ซึ่งเราจะทดลองวัดทิศเหนือ-ใต้แท้กันอีกครั้งหนึ่ง” นายอารีกล่าว
เมื่อถึงเวลาใกล้ค่ำดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลดระดับลงสู่ขอบฟ้า และส่องแสงลอดช่องผ่าน 15 ประตู สังเกตเห็นเป็นลักษณะคล้ายไข่ปลาสีส้มแดงขนาดเล็กอยู่ระหว่างช่องประตูแล้ว ค่อยๆ ลดระดับลงจนลับขอบฟ้าหายไป ผู้คนที่มารอชมต่างเก็บภาพเป็นที่ระลึกกันอย่างใจจดใจจ่อ ภายใต้การดูแลรักษาความสงบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนจะทยอยกันกลับ เหลือแต่คณะดาราศาสตร์สัญจรของสมาคมดาราศาสตร์ฯ ที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้อยู่บนปราสาทนอกเวลา 06.00-18.00 น.ได้ ซึ่งทางคณะได้เตรียมกิจกรรมดูดาวต่อ
ยามค่ำคืนบนเขาพนมรุ้งจะมืดสนิท มีเพียงหลอดไฟฟ้า 1 ดวงเท่านั้นที่คอยบอกทิศทาง สถานที่แห่งนี้จึงเหมาะที่สุดสำหรับการดูดาว เนื่องจากอยู่บนที่สูง ไร้แสงรบกวนและฟ้าเปิด ทางด้านสมาคมดาราศาสตร์ฯ ได้ตั้งกล้องโทรทรรศน์เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการดูดาวในคืนดังกล่าว พร้อมแจกเอกสาร แผนที่ดาวและไฟฉายแดงให้แก่คณะดาราศาสตร์สัญจร
ผู้ร่วมคณะดาราศาสตร์สัญจรในครั้งนั้นส่วนใหญ่มีพื้นฐานในการดูดาวกันอยู่แล้ว บางคนมีความเชี่ยวชาญ บางคนก็เพิ่งเริ่มต้น แต่บางต้นก็ตั้งใจที่จะได้รับความรู้เรื่องการดูดาวจากการเดินทางในครั้งนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันคือ “การดูกาวไม่ใช่เรื่องยาก แต่การหาสถานที่ดูดาวดีๆ ยากกว่า” และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้หลายคนเลือกเดินทางไปดูดาวพร้อมสมาคมดาราศาสตร์
เช้าวันเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง คณะดาราศาสตร์สัญจรได้ร่วมกันทดลองหาทิศเหนือทิศใต้แท้ตามที่นายอารีวางแผนไว้ โดย นายวรพล ไม้สน นักดาราศาสตร์สมัครเล่นในกิจกรรมดาราศาสตร์สัญจร อธิบายว่า การวัดทิศที่นิยมในปัจจุบันมีด้วยกัน 2 วิธี คือ การวัดทิศโดยใช้เข็มทิศ และการวัดทิศจากการกำหนดตำแหน่งผ่านจุดอ้างอิงหลายจุด ต่างจากคนโบราณที่อาศัยการวัดจากธรรมชาติในทิศตะวันออก – ตะวันตก ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะในรอบปีดวงอาทิตย์ไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดียวกันบนท้องฟ้าทุกวัน แต่จะเบนไปเรื่อยๆ เพราะโลกหมุนรอบตัวเอง และด้วยความเอียงของแกนโลกที่ 23 องศา 27 ลิปดา จึงเป็นเหตุให้ในการก่อสร้างและสถาปัตยกรรมทางดาราศาสตร์ต้องหาทิศเหนือ-ใต้จริงเสมอ
วรพล ระบุว่า การวัดทิศเหนือ-ใต้จริงทำได้อีก 2 วิธี คือ การหมายดาวเหนือ ซึ่งเป็นวิธีที่ทางคณะดาราศาสตร์สัญจรได้ทดลองในครั้งนั้น และการหมายเอาดาวดวงใดดวงหนึ่งของท้องฟ้าเป็นดาวเหนือ ซึ่งในปัจจุบันนิยมใช้ดาว “โพลาริส” ทิศเหนือแท้เกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก ไม่ใช่ทิศเหนือแม่เหล็กตามเข็มทิศ ซึ่งการวัดทิศเหนือ-ใต้แท้จะใช้เงาดวงอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ ของวัน หาว่าทิศเหนือจริงอยู่ตรงไหน จากนั้นจึงทำรางวัดและออกแบบปราสาทให้ถูกต้องตามทิศทาง
คณะดาราศาสตร์สัญจรวางแผนหาทิศเหนือทิศใต้แท้โดยเริ่มจากหาเส้นเมอริเดียนของปราสาทหินพนมรุ้งเพื่อหาคำตอบว่าปราสาทสร้างขึ้นตามทิศเหนือทิศใต้แท้หรือตามแบบดาราศาสตร์หรือไม่ โดยจัดตัวแทนสังเกตการเคลื่อนที่ของเงาตลอดวัน ซึ่งจะบันทึกตำแหน่งเงาทุกครึ่งชั่วโมง เพื่อหาเส้นตัดเส้นโค้งและเส้นตั้งฉากที่ลากไปสู่มิศเหนือและทิศใต้แท้ แต่เกิดอุปสรรคทำให้การทิศดังกล่าวไม่สำเร็จ
ระหว่างวันก่อนเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาคณะดาราศาสตร์สัญจรได้เดินทางไปเยือน “ปราสาทเมืองต่ำ” ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปราสาทหินพนมรุ้ง ตามหลักฐานทางโบราณคดีระบุว่า ปราสาทเมืองต่ำสร้างขึ้นหลังปีพุทธศตวรรษที่ 16 ประมาณเมื่อพันปีก่อนสร้างก่อนปราสาทพนมรุ้ง โดยเป็นอิทธิพลศิลปะขอมแบบคลังและแบบบาปวนเพื่อถวายพระศิวะ ชื่อ “เมืองต่ำ” เกิดจากการเปรียบเทียบกับปราสาทพนมรุ้งที่มีอีกชื่อว่า “เมืองสูง” เนื่องจากตั้งอยู่บนภูเขา
ปราสาทเมืองต่ำ มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยอิฐ หินทรายและศิลาแลง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก โดยมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ “บาราย” ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กินเนื้อที่กว่า 5 แสนตารางเมตร สร้างขึ้นตามความเชื่อ บารายคือ มหาสมุทรของจักรวาลที่ล้อมรอบเขาพระสุเมร ในอดีตใช้ประโยชน์ในการชำระร่างกายให้สะอาดของผู้ที่มาสักการะปราสาทพนมรุ้ง เป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชุมชนในสมัยโบราณ และในปัจจุบันก็ยังคงไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำ
หลังเยี่ยมชมปราสาทเมืองต่ำทางคณะได้เดินทางกลับไปยังปราสาทพนมรุ้ง ท่ามกลางประชาชนจำนวนหนึ่งที่เริ่มจับจองพื้นที่เพื่อรอชมจันทรุปราคาเช่นกัน แต่เมฆอึมครึมที่ปกคลุมส่อแววว่า คณะดาราศาสตร์สัญจรอาจจะไม่ได้เห็นปรากฏการณ์คราสบังดวงจันทร์ ซึ่งตามเวลาในประเทศไทยดวงจันทร์จะปรากฏเมื่อถูกคราสบังไปบางส่วนแล้ว และเป็นตามที่หวั่นใจเนื่องจากเมฆบดบังดวงจันทร์จนผ่านไปถึงเวลา 20.00 น. ซึ่งใกล้เวลาสิ้นสุดปรากฏการณ์ เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์ในช่วงท้ายเพียง 5 นาที แล้วเมฆก็บดบังดวงจันทร์อีกครั้ง
“เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่การสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้าจะ มีอุปสรรค เพราะมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่เป็นองค์ประกอบทั้ง เมฆ ลม ฝน หรือแสงสว่างที่รบกวน เป็นสิ่งที่คนทำงานกับธรรมชาติต้องเผื่อใจและยอมรับให้ได้ เพราะขนาดเราอยู่บนที่ทำเลดีเรายังเห็นเพียงแค่นี้ อีกหลายพื้นที่ในประเทศไทยก็คงไม่เห็นเหมือนกัน” นายอารีแก่คณะดาราศาสตร์สัญจร
ประสบการณ์รอชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาในวันออกพรรษาท่ามกลางอารยธรรมขอม แม้ว่าจะไม่เป็นไปตามคาด แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้และยอมรับว่า เราไม่อาจฝืนธรรมชาติได้
*******************************