ในวันที่ 8 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันออกพรรษานี้ คนไทยทุกภูมิภาคจะสามารถชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงได้ทั่วประเทศ ซึ่งครั้งนี้ก็ถือเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ ที่เราจะสามารถสังเกตปรากฏการณ์แบบเต็มดวงได้ โดยครั้งล่าสุดจันทรุปราคาเต็มดวงที่เห็นได้ในประเทศไทยเกิดเมื่อ 3 ปีก่อนในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2544 ซึ่งก็ถือว่านานพอสมควร ที่เราไม่ได้เห็นปรากฏการณ์เช่นนี้
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลก ผู้สังเกตบนโลกจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งไปทีละน้อยจนดวงจันทร์เข้าไปอยู่เงามืดทั้งดวง และเริ่มมองเห็นดวงจันทร์เว้าแหว่งอีกครั้งหนึ่งเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกจากเงามืดของโลก
ช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกบางส่วนจะเรียกว่า “จันทรุปราคาบางส่วน” และช่วงที่ดวงจันทร์โคจรเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวง เรียกว่า “จันทรุปราคาเต็มดวง” จะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นสีแดงอิฐ เนื่องจากระหว่างเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงนั้น ยังคงมีแสงจากดวงอาทิตย์บางส่วนไปตกยังดวงจันทร์ โดยแสงบางส่วนนั้น ได้เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศโลกและหักเหแสง ซึ่งแสงที่มีความยาวคลื่นสั้นอย่างแสงสีฟ้านั้นจะถูกกระเจิงออกไปหมด เหลือแต่แสงที่มีความยาวคลื่นยาวอย่างแสงสีส้มหรือแดงไปตกบนดวงจันทร์ ทำให้เราเห็ดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐ
โอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะมีโอกาสเพียงประมาณปีละ 1 – 2 ครั้ง และปรากฏการณ์จันทรุปราคาสามารถเกิดได้สูงสุดในรอบปีประมาณ 4 ครั้ง แต่จะไม่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง โดยในการเกิดปรากฏการณ์ แต่ละครั้งสามารถมองเห็นจากประเทศไทยอย่างน้อยปีละครั้ง
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในคืนวันที่ 8 ตุลาคม นี้จะเกิดในช่วงที่ดวงจันทร์กำลังขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก ในเวลา 18.00 น. โดยประมาณ ซึ่งขณะนั้นคงต้องบอกว่าท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท และจะยังคงมีแสงทไวไลท์อยู่ จึงอาจจะสังเกตเห็นได้ในช่วงหัวค่ำได้ยากสักนิด
หากใครที่โชคดีบริเวณจุดสังเกตมีท้องฟ้าที่ใสเคลียร์และไม่มีสิ่งบดบังบริเวณขอบฟ้า จะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ในช่วงเต็มดวงได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 18.00 น. โดยประมาณ โดยครั้งนี้ดวงจันทร์จะอยู่ในเงามืดของโลกทั้งดวงจนถึงเวลา 18.24 น. หลังจากนั้นดวงจันทร์จะค่อยๆ เคลื่อนออกจากเงามืดของโลกกลายเป็นจันทรุปราคาแบบบางส่วน
เทคนิคและวิธีการ
เทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพปรากฏการณ์นั้น ก็เป็นเรื่องที่เราควรต้องทราบกันก่อน เพื่อจะได้วางแผนในการถ่ายภาพให้ประสบความสำเร็จเพราะปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆครับ เอาหล่ะมาดูกันว่าเราจะมีวิธีการในการถ่ายภาพกันอย่างไรบ้าง
1. เลือกใช้เลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 mm. ขึ้นไปเพื่อให้ๆได้ภาพดวงจันทร์ที่มีขนาดใหญ่พอที่จะเห็นรายละเอียดพื้นผิวดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน โดยปกติแล้วดวงจันทร์ขณะเต็มดวงจะมีขนาดปรากฏบนท้องฟ้าเพียง 0.5 องศาเท่านั้น หรือหากเหยียดแขนให้สุดแล้วใช้นิ้วก้อยเทียบกับดวงจันทร์ ดวงจันทร์จะมีขนาดครึ่งหนึ่งของนิ้วก้อยเท่านั้น
2. ใช้ระบบวัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) เพราะระบบนี้จะเลือกคำนวณเฉพาะพื้นที่ส่วนที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นและจะไม่อ่านค่าแสงจากบริเวณอื่นๆ ซึ่งจะใช้พื้นที่ประมาณ 2-3 % กลางช่องมองภาพในการวัดแสงทำให้ได้แสงที่พอดี แต่ภาพดวงจันทร์ก็อาจยังจะได้แสงที่ยังไม่พอดีซึ่งอาจจะสว่างโอเวอร์อยู่บ้าง ดังนั้นเราจะเป็นต้องปรับชดเชยแสงควบคู่ไปด้วย ซึ่งระบบวัดแสงเฉพาะจุดจะช่วยประหยัดเวลาในการปรับชดเชยภาพได้เร็วขึ้น
3. ปิดระบบออโต้โฟกัสของเลนส์ รวมทั้งปิดระบบกันสั่นของเลนส์ด้วย และใช้ระบบแสดงแบบ Live View ในการช่วยโฟกัสภาพ โดยการเพิ่มกำลังขยายจากจอหลังกล้องในการช่วยปรับโฟกัสได้ละเอียดและคมชัดมากขึ้นกว่าการปรับโฟกัสด้วยตาเปล่าจากช่องมองภาพ
4. คำนวณค่าความเร็วชัตเตอร์ให้เหมาะสมกับทางยาวโฟกัสที่ใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ภาพดวงจันทร์เบลอจากการเคลื่อนที่ของดวงจันทร์เอง ในกรณีที่ถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบอยู่กับที่นิ่งๆ ดังนี้
4.1 หากใช้กล้องประเภท Full Frame ก็อาจใช้ค่า 400/ทางยาวโฟกัส เช่น ใช้กล้องแบบ Full Frame กับเลนส์เทเลโฟโต้ 500 mm. จะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำที่สุดเท่ากับ
400/500 = 0.8 วินาที
4.2 หากใช้กล้องประเภท APS-C ก็อาจใช้ค่า 200/ทางยาวโฟกัส เช่น ใช้กล้องแบบ Full Frame กับเลนส์เทเลโฟโต้ 500 mm. จะได้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำที่สุดเท่ากับ
200/500 = 0.4 วินาที
ดั้งนั้นหากคำนวณค่าความเร็วชัตเตอร์ไว้คร่าวๆ แล้วเราก็ต้องระมัดระวังไม่ควรถ่ายภาพดวงจันทร์ด้วยค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำกว่าที่คำนวณไว้ ซึ่งปกติเราก็จะใช้การเพิ่มค่าความไวแสงในการชดเชยค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำมากเกินไป
***แต่หากสามารถถ่ายภาพบนขาตั้งกล้องแบบตามดาวได้ก็ตัดปัญหานี้ไปได้เลยครับ***
5. เลือกค่าความไวแสง (ISO) ตั้งแต่ 800-1600 เนื่องจากขณะดวงจันทร์อยู่ในเงามืดทั้งดวงแสงจากดวงจันทร์จะลดลงมาก ดังนั้นเพื่อป้องกันภาพเบลอจึงจำเป็นต้องใช้ค่าความไวแสงสูงๆ เพื่อไม่ให้ชัตเตอร์ช้าเกินไป
6. ใช้ขาตั้งกล้องที่มีความมั่นคงและควรเลือกใช้โหมดการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องและถ่ายภาพจำนวนครั้งละหลายๆ รูปเพื่อที่จะนำภาพมาเลือกภาพที่ดีที่สุด เพราะขณะเกิดปรากกฏการณ์อาจมีเมฆบดบัง หรือเคลื่อนที่ผ่าน หรือถ้าจะให้ได้ภาพที่ดีที่สุดก็ควรเป็นขาตั้งกล้องแบบตามดาวได้ครับเพราะจะช่วยให้กล้องเคลื่อนที่ตามดาวตลอดและสามารถใช้ค่าความไวแสง และความเร็วชัตเตอร์ต่ำได้ ซึ่งทำให้กล้องเปิดรับแสงได้นาน ภาพก็จะมีความสว่างเห็นรายละเอียดได้ดีกว่า
7. การบันทึกข้อมูลควรเลือกรูปแบบไฟล์เป็น RAW format เพื่อความยืดหยุ่นของการปรับภาพในภายหลังได้สะดวกยิ่งขึ้น
อีกเทคนิคหนึ่งสำหรับใครที่ไม่มีเลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีทางยาวโฟกัสสูงๆ ก็สามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์ในอีกรูปแบบหนึ่งคือการถ่ายภาพปรากฏการณ์แบบซีรีย์ โดยเริ่มถ่ายตั้งแต่ช่วงที่ดวงจวันทร์ขึ้นจากขอบฟ้า จนสิ้นสุดปรากฏการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วนำภาพถ่ายในแต่ละช่วงมารวมกันใน Photoshop ก็จะได้ภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาในรูปแบบที่ไม่ซ้ำใครและสวยกว่าใครๆ ได้อีกด้วยครับ
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งสุดท้ายในปีนี้ ในประเทศไทยเห็นเพียง 24 นาที ทุกพื้นที่ของประเทศ ดังนั้น จะเห็นว่าเรามีเวลาไม่นานมากที่จะถ่ายภาพปรากฏการณ์แบบเต็มดวงนี้ ซึ่งหากใครที่พลาดโอกาส ในครั้งนี้ก็ยังมีครั้งต่อไปในปีหน้า ซึ่งจะตรงกับวันที่ 4 เมษายน 2558 กันอีกครั้งครับ
อีกตัวอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพปรากฏการณ์ โดยการถ่ายแบบแบบซีรีย์แบบต่อเนื่องแล้วนำมาต่อกันด้วยโปรแกรม Photoshop ซึ่งถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างในช่วง 70 mm.
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน