สดร.เผยเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงใน 20 มี.ค.นี้ เห็นชัดสุดเฉพาะตอนเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอาร์กติก แต่ไม่เห็นในไทย ส่งทีมนักวิชาการไปบันทึกภาพและเก็บข้อมูล ณ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ มาฝากคนไทยทั้งประเทศ
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยว่า วันศุกร์ที่ 20 มี.ค.58 จะเกิดปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาเต็มดวง” เวลาประมาณ 17:10-17:13 น. ตามเวลาในประเทศไทย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์และลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก เมื่อดวงจันทร์ค่อยๆ เคลื่อนที่เข้ามาอยู่ในแนวเดียวกับดวงอาทิตย์ สิ่งที่ปรากฏแก่สายตาของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก คือ แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ลดลง รูปร่างของดวงอาทิตย์จะเกิดเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ที่เปลี่ยนรูปร่างในแต่ละค่ำคืนหรือถูกบังจนหมดทั้งดวงขึ้นอยู่กับรูปแบบการบัง
สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาในวันที่ 20 มี.ค.58 จะเป็นแบบ “สุริยุปราคาเต็มดวง” เนื่องจากเป็นช่วงที่ดวงจันทร์โคจรมาใกล้โลก ทำให้เราเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์พอจะบังดวงอาทิตย์ได้หมด เมื่อวัตถุทั้งสามเรียงตัวกันในแนวเส้นตรง จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญมาก ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นโคโรนาและวิเคราะห์ธาตุองค์ประกอบที่มีอยู่ในบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ของดวงอาทิตย์ได้
ตารางแสดงเวลาการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
ณ เมืองลองเยียร์เบียน หมู่เกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ (ละติจูด : 78.2575 ํN ลองจิจูด : 15.5306 ํE)
ขั้นตอนการเกิดปรากฏการณ์ | เวลามาตรฐาน | เวลาท้องถิ่น เมืองลองเยียร์เบียน | เวลาในประเทศไทย | มุมเงย (องศา) | มุมราบ (องศา) |
C1 เริ่มเกิดสุริยุปราคาบางส่วน | 09:11:52.2 | 10:11:52.2 | 16.11 น. | 10.1 | 151.1 |
C2 เริ่มเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง | 10:10:41.5 | 11:10:41.5 | 17.10 น. | 11.2 | 166.0 |
Max กึ่งกลางอุปราคา | 10:11:55.4 | 11:11:55.4 | 17.11 น. | 11.2 | 166.4 |
C3 สิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวง | 10:13:09.4 | 11:13:09.4 | 17.13 น. | 11.2 | 166.7 |
C4 สิ้นสุดสุริยุปราคาบางส่วน | 11:12:18.9 | 12:12:18.9 | 18.12 น. | 11.6 | 181.8 |
“เป็นที่น่าเสียดายว่าประเทศไทยไม่อยู่ในบริเวณที่สามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้ แม้จะตรงกับช่วงกลางวันตามเวลาในประเทศไทย เนื่องจากแนวการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงพาดผ่านทางตอนเหนือมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรอาร์กติก ผ่านหมู่เกาะแฟโรของเดนมาร์กและหมู่เกาะสฟาลบาร์ของนอร์เวย์ บริเวณที่สามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ได้แก่ ทวีปยุโรป ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ตอนเหนือของทวีปแอฟริกา และด้านตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชีย” ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติม
ดังนั้น สดร.จึงวางแผนเดินทางไปศึกษาและเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ ณ เมืองลองเยียร์เบียน หมู่เกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการสังเกตสุริยุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ สามารถสังเกตได้นานถึง 2 นาที 28 วินาที โดยจะเก็บภาพสุริยุปราคาเต็มดวงมาฝากชาวไทย โดยติดตามชมผ่านช่องทางต่างๆ ของสถาบันฯ ได้แก่ ทางเว็บไซต์ที่ www.narit.or.th และแฟนเพจเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ www.facebook.com/NARITpage และสามารถเกาะติดการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ณ เมืองลองเยียร์เบียน ประเทศนอร์เวย์ ได้ที่ http://www.timeanddate.com/eclipse/in/norway/longyearbyen
*******************************