xs
xsm
sm
md
lg

นานา "หินสี" กว่า 40 แบบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ข้อมูลโดย ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

ทำความรู้จัก "หินสี" กว่า 40 แบบ นานาหินจากการรวบรวมข้อมูลโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญอัญมณีจากมหาวิทยาลัยบูรพา จันทบุรี


ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี กล่าวว่า หินสีที่พบในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น หิน แร่ และวัสดุที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งทำมาจากแก้ว และพลาสติก หินจะมีแร่มากกว่า 2 ชนิด ส่วนแร่จะเป็นแร่เพียงชนิดเดียว ซึ่งแร่ที่ค้นพบแล้วในปัจจุบันมีมากกว่า 3,800 ชนิด แต่แร่ที่พบเห็นได้บ่อยมีไม่เกิน 50 ชนิดเท่านั้น

พร้อมกันนี้ ดร.ภูวดล ได้เอื้อเฟื้อรูปภาพและข้อมูลที่เก็บสะสมไว้ ให้แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้นำออกเผยแพร่ โดย แบ่งหินสีออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้

1. หินธรรมชาติ คือหินที่มีแร่ตั้งแต่สองแร่ขึ้นไป หินที่มักได้รับความนิยมได้แก่

1.1หินยูนาไคส์ (Unakite) ประกอบด้วยแร่สีชมพูคือ ออโทเครส (Orthoclase) สีเขียวคือแร่อิพิโดต (Epidote) และสีใสไม่มีสีคือแร่ควอร์ต (quartz)

1.2 หินลาปิส ลาซูรี่ (Lapis Lazuri) ประกอบด้วยแร่สีน้ำเงินคือแร่ลาซูไรต์ (Lazurite) สีขาวคือแร่แคลไซต์ (calcite) และสีทองคือแร่ไพไรต์ (Pyrite)

1.3 หินรูบี้อินซอยไซต์ (Ruby in Zoisite) ประกอบไปด้วยสีแดงคือทับทิม สีเขียวคือแร่ซอยไซต์ (หากมีสีฟ้าอมม่วงจะเรียกแทนซาไนต์; Tanzanite) และสีดำคือแร่แอมพิโบล์

1.4 หินควอร์ตไซต์ (Quartzite) เป็นหินแปรที่มีแร่ควอร์ตขนาดเล็กอัดแน่นเป็นก้อน นิยมนำมาย้อมสีต่างๆเพื่อเลียนแบบแร่อื่นๆ เช่น เลียนแบบทับทิมหรือหยกเจดไดต์ เป็นต้น

2. แร่ธรรมชาติ คือ ของแข็งอนินทรีย์สารเนื้อเดียวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีสูตรเคมีที่แน่นอน (อาจเปลี่ยนแปลงได้ในวงจำกัด) และมีโครงสร้างที่เป็นระเบียบ แร่ที่ได้รับความนิยมได้แก่

2.1 แร่ควอร์ต (quartz) เป็นแร่ที่มีความหลากหลาย สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มหลักได้สองกลุ่ม คือ

2.1.1  แร่ผลึกเดี่ยว (Single crystal) ซึ่งจะประกอบด้วย
-ร๊อกคริสตัล (Rock Crystal) หรือเขี๊ยวหนุมาน สีใสไม่มีสี
-อเมทิสต์ (Amethyst) มีสีม่วงแดง
-ซิทิน (Citrine) มีสีเหลือง 
-อเมทิน (Ametrine) มีสีม่วงแดงและสีเหลืองในแร่เดียวกัน
-สโมกกี้ควอร์ต (Smoky quartz) มีสีควันบุหรี่
-รูทิเลตเต็ตควอร์ต (Rutilated quartz) ควอร์ตที่มีเส้นเข็มรูไทล์สีทองเป็นมลทินภายใน (ไหมทอง)
-ทัวร์มาลีเนตควอร์ต (Toumalinated quartz) ควอร์ตที่มีเส้นเข็มทัวร์มาลีนสีดำเป็นมลทินภายใน
-โรสต์ควอร์ต (Rose quartz) คอร์ตที่มีมลทินเส้นใยสีชมพูของแร่ดูมอนเทอไรต์ (Dumortierite)
-อเวนจูรีนควอร์ต (Aventurine quartz) ควอร์ตที่มีมลทินไมก้า (mica) สีเขียวปะปนอยู่ ทำให้เมื่ออยู่ภายใต้แสงจะสะท้อนแสงระยิบระยับ
อเมทิสต์ (Amethyst) มีสีม่วงแดง
ซิทิน (Citrine)
ร๊อกคริสตัล (Rock Crystal) หรือเขี๊ยวหนุมาน
สโมกกี้ควอร์ต (Smoky quartz)
รูทิเลตเต็ตควอร์ต (Rutilated quartz)
ทัวร์มาลีเนตควอร์ต (Toumalinated quartz)
2.1.2 แร่ผลึกมวลรวมควอร์ต (Aggregate) ประกอบด้วยกลุ่มที่เป็นเม็ด (granular) เช่น คริสโซเพรส (Chrysoprase) จัสเปอรื (Jasper) และ คาร์นีเลี่ยน (Carnelian) และกลุ่มที่เป็นเส้นใย (Fibrous) เช่น อะเกต (Agate) โอนิกซ์ (Onyx) และ ไทเกอร์อาย (Tiger eye) มักนำมาย้อมสีให้ได้สีต่างๆที่สวยงาม

2.2. แร่ฟันม้า (Feldspar) เป็นกลุ่มแร่อีกกลุ่มที่มีความหลากหลายที่เกิดจากความแตกต่างกันขององค์ประกอบทางเคมีของแคลเซียม โซเดียมและโพแทสเซียม แร่ที่ได้รับความนิยมได้แก่
- แลปบราไรต์ (Labradorite) มีสีพื้นสีขาวและมีเหลือบสีฟ้า
- โอลิโกเครส ซันสโตน (Oligoclase sunstone) จะมีการสะท้อนแสงระยิบระยับจากมลทินแผ่นทองแดง
-มุกดาหาร (Moonstone) จะแสดงเหลือบสีขาวถึงสีฟ้าเมือกระทบแสง


2.3. โกเมน (Garnet) มีได้หลากหลายสี เช่น แดง เขียว เหลือง ส้ม แต่สีที่นิยมนำมาใช้คือสีแดงแก่ก่ำ ในกลุ่มของแร่โรโดไรต์ (Rhodolite)

2.4 โอปอล (Opal) มีทั้งแบบที่มีการเล่นสี (Play of color) และแบบไม่มีการเล่นสี แต่มีสีพื้นที่สวยงาม เช่นสีชมพู


2.5 ทัวร์มาลีน (Tourmaline) มีได้หลากหลายสี เช่น เขียว ชมพู เหลือง แดง และมีมากกว่าหนึ่งสีในเม็ดเดียวกัน สีที่นิยมคือสีเขียว นอกจากนี้ทัวร์มาลีนยังมีคุณสมบัติ "เพียโซอิเลกทริค (Piezoelectric)" คือ เมื่อได้รับแรงกล จะทำให้เกิดแรงดันไฟฟ้าเนื่องจากความมีชั้วของผลึก สามารถพบได้ในแร่อื่นๆ เช่น ควอร์ต โทแพซ คอรันดัม เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้หลักการนี้ในการผลิตนาฬิกาที่ใช้แบตเตอรี่อีกด้วย


2.6 อความารีน (Aquamarine) เป็นพลอยในกลุ่มของแร่เบริล (Beryl) มีสีฟ้าน้ำทะเล

2.7 เทอร์คอยซ์ (Turquoise) พลอยขี้นกการะเวก มีสีฟ้าอมเขียวหรือเขียวอมฟ้า และอาจมีลายเส้นบนผิวได้

2.8 หยก (Jade) เป็นชื่อเรียกสามัญที่ใช้เรียกหินสีเขียว เช่น เจดไดต์ (Jadeite) เนฟไฟต์ (Nephrite) เซอร์เพนทีน (Serpentine) หินอ่อนสีเขียว (Green marble) เป็นต้น โดยหยกที่ได้รับความนิยมและมีค่ามากที่สุดคือหยกเจดไดต์ มีได้หลากหลายสี เช่น เขียว ม่วง น้ำตาล และขาว โดยจะมีสีโทนสว่างสดใส

2.9 ไพไรต์ (Pyrite) แร่สีทองเกิดจากเหล็กซัลไฟต์ (Fe2S) มักมีคนเข้าใจผิดว่าเป็นทอง จึงได้ชื่อว่าทองคนโง่

2.10 โทแพซ (Topaz) มีหลากหลายสี สีที่ได้รับความนิยมคือสีฟ้า ซึ่งเกิดจากการฉายรังสี

2.11  คอรันดัม (Corundum) เป็นชื่อของแร่อลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3) มีความแข็ง 9 ตามโมห์สเกล มีหลากหลายสี เช่นสีแดง เรียกว่า ทับทิม (Ruby) สีน้ำเงิน เรียกว่า ไพลิน (Blue sapphire) สีเหลือง เรียกว่า บุษราคัม (Yellow sapphire) สีเขียว เรียกว่า เขียวส่อง (Green sapphire) เป็นต้น

2.12 แก้วธรรมชาติ (Natural glass) แก้วธรรมชาติที่นิยมนำมาใช้มีหลายชนิด เช่น เทกไทต์ (Tektite) คือแก้วที่เกิดจากการชนของอุกาบาตบนผิวโลก ทำให้ทรายบริเวณรอบจุดที่ชนเกิดการหลอมละลายและเย็นตัวกลายเป็นเทกไทต์ ออบซิเดียน (obsidian หรือ snow flake) เป็นแก้วที่ได้จากการที่ลาวา (Lava) เย็นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ได้เป็นของแช็งเนิ้อแก้ว โดยออบซิเดืยนจะมีสีดำ น้ำตาล จนถึงสีเขียว ส่วนสโนว์เฟลก (Snowflake) คือหินออบซิเดียนที่มีจุดสีขาวบนผิว

2.13 นิล (Black spinel, Pyroxene) แร่ซึ่งมีสีดำ สามารถพบร่วมกับพลอยคอรันดัมในแหล่งต่างๆ

2.14 ฮีมาไทต์ (Hematite) เป็นแร่เหล็กออกไซด์ (Fe2O3) ซึ่งมีสีเทาดำและมีประกายแบบโลหะ

2.15 ปะการัง (Corals) สีที่นิยมคือสีแดง แต่มักนำสีขาวมาย้อม
 
2.16 มาลาไคต์ (Malachite) เป็นแร่ที่มีองค์ประกอบของทองแดงเป็นตัวให้สีเขียว มักมีลักษณะที่เป็นลายเส้น แสดงความเป็นชั้นของสี

2.17 ฟลูออไรต์ (Fluorite) มีหลากหลายสีและมักแสดงเส้นสีเป็นชั้นๆ มีความแข็ง 4 ตามโมห์สเกล

2.18 โรโดไนต์ (Rhodonite) แร่ซิลิเกตสีชมพูซึ่งมีแมงกานีสเป็นตัวให้สี มักมีแร่สีดำของแมงกานีสออกไซด์ปะปนอยู่

2.19 โรโดโครไซด์ (Rhodochrosite) แร่คาร์บอเนตสีชมพูซึ่งมีแมงกานีสเป็นตัวให้สี มักแสดงลักษณะของเส้นสีเป็นชั้น

2.20 ฮาวไลต์ (Howlite) เป็นแร่สีขาวที่มักมีลายเซ็นที่ผิว นิยมนำมาย้อมสีเพื่อขายเป็นเทอร์คอยซ์

2.21 แมกนีไซต์ (Magnesite) เป็นแร่สีขาวที่มักมีลายเซ็นที่ผิว นิยมนำมาย้อมสีเพื่อขายเป็นเทอร์คอยซ์

2.22 แคลไซต์ (Calcite) เป็นแร่แคลเซียมคาร์บอเนตที่มีหลากหลายสี เช่น ขาว เหลือง เขียว เป็นต้น มีความแข็ง 3 ตามโมห์สเกล มักแสดงเส้นสีที่เป็นชั้นๆ

3.แก้วและพลาสติก

มีการนำแก้วและพลาสติกมาเลียนแบบแร่ต่างๆ เช่น การนำแผ่นทองแดงใส่ลงในแก้วเพื่อเลียนแบบซันสโตน เรียกว่า ทรายทอง (Goldstone) โดยสามารถสังเกตได้จากมลทินแผ่นทองแดงที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมและหกเหลี่ยม หรือการนำเส้นใยแก้วนำแสงมาเจียเป็นพลอย เช่น Cathay stone ซึ่งจะแสดงปรากฎการณ์ตาแมว (Cat's eye) เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการนำแก้วมาใส่สีต่างๆเพื่อใช้เลียนแบบพลอยชนิดอื่นๆ โดยสามารถสังเกตมลทินฟองอากาศ ซึ่งมักไม่พบในแร่ธรรมชาติ  พลาสติกประเภทเรซิ่นได้รับความนิยมในการเลียนแบบแร่ต่างๆเช่นกัน สามารถสังเกตได้จากสีสันที่สวยงาม มลทินฟองอากาศและมลทินเส้นการไหล และมักมีความถ่วงจำเพาะและความแข็งต่ำ

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ "หินสี" เพิ่มเติม >> รู้เท่าทัน “ หินสี ”



ชมวิธีแยกหินสีง่ายๆ ใน >> SuperSci: 6 วิธีแยกหินสี ของจริง VS ของปลอม


ดร.ภูวดล วรรธนะชัยแสง อาจารย์ประจำคณะอัญมณี ม.บูรพา






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น