xs
xsm
sm
md
lg

ชวนลูกหนี้ กยศ.สร้างธุรกิจด้วยงานวิจัย วว.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
วว.จับมือ กยศ. ปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่สร้างอาชีพ สร้างรายได้จากงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แก้ปัญหาเด็กตกงานไม่มีเงินคืนกองทุน เชิญชวนลูกหนี้ส่งแผนธุรกิจชิงโอกาสเป็นเถ้าแก่น้อย เรียนรู้เทคโนโลยี แผนธุรกิจ และศึกษาดูงานฟรี 50 อัตรา ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 เม.ย.

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมปั้นนักธุรกิจรุ่นใหม เปิดตัวโครงการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ด้วยงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ณ โรงแรมมารวย กาเด้นท์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 58

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า ในแต่ละปีมีผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. เพื่อใช้ในการศึกษามากกว่า 800,000 ราย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าการค้างชำระยังเป็นไปไม่ถึงตามเป้าหมาย เนื่องจากนักศึกษากว่ากึ่งหนึ่งที่จบไปแล้วยังไม่มีงานทำ ทำให้ที่ผ่านมาเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในการให้กู้ยืมเงินในเด็กนักศึกษารุ่นถัดไปจากความไม่รับผิดชอบต่อส่วนรวมของรุ่นพี่

“กยศ.จึงได้มีการประสานงานพูดคุยกับหน่วยงานพันธมิตรเพื่อให้ต้นเหตุของการค้างชำระจากปัญหาการว่างงานของเด็กจบใหม่ลดลง เป็นที่มาของความร่วมมือกับ วว.ในครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ.ได้เป็นเจ้าของธุรกิจโดยใช้ต้นทุนจากงานวิจัยของ วว.และความช่วยเหลือของหน่วยงานพันธมิตรทางด้านเงินทุนจากธนาคารต่างๆ รวมไปถึงช่องทางการจัดจำหน่ายและแผนธุรกิจ ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ” ดร.ฑิตติมากล่าว

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว.มีเทคโนโลยีอยู่หลายด้าน ภายหลังจากหารือกับ กยศ.จึงได้จัดทำโครงการสร้างอาชีพขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่จากการถ่ายทอดงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนักวิชาการและหน่วยงานพันธมิตรของ วว.โดยมีจุดมุ่งหมายที่อยากจะเห็นนักศึกษาที่จบใหม่ หรือแม้แต่ผู้ที่ประกอบอาชีพแล้วและเคยเป็นผู้กู้ กยศ.มีอาชีพ มีรายได้ นำมาซึ่งผลลัพธ์ทางอ้อมคือ การคืนเงินที่กู้ยืมเงินไปจาก กยศ.

นายยงวุฒิ ระบุว่า วว.ได้เลือกเทคโนโลยีที่น่าสนใจและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงพร้อมนำสู่เชิงพาณิชย์ ไว้เป็นแนวทางเบื้องต้นให้ผู้สนใจไว้ทั้งสิ้น 5 ด้านคือ ด้านเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และเทคโนโลยีการเกษตรเช่น การผลิตปุ๋ยเคมีตรงตามมาตรฐาน การเพาะเห็ดเมืองหนาวและเมืองร้อนซึ่งเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาด, เทคโนโลยีบล็อกประสาน เพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทดแทนไม้, เทคโนโลยีแปรรูปอาหาร เช่น การทำซอส การทำน้ำสลัดและเครื่องปรุงต่างๆ สร้างทางเลือกใหม่ให้ผู้บริโภค, เทคโนโลยีผลิตเครื่องสำอางจากสมุนไพร เช่น การพัฒนาสารสกัดและผลิตภัณฑ์ต่างๆ สู่ภาคอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ได้

"ทั้งหมดนี้เราจะสอนให้ฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่ผู้สนใจสมัครและส่งแผนธุรกิจที่แสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอยากประกอบธุรกิจใน 5 หัวข้อข้างต้น เข้ามาที่เว็บไซต์ของ กยศ.เราจะทำการการคัดเลือกผู้ที่เขียนแผนธุรกิจได้น่าสนใจและเป็นไปได้ 50 คนแรก มาเข้ารับการอบรมการเขียนแผนธุรกิจ และศึกษาดูงานในสถานที่จริงตามความสนใจ จากนั้นจะคัดเลือกเหลือเพียงแค่ 10 คนที่จะได้รับการอบรมและฝึกงานต่อกับ วว.เป็นเวลา 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงทำแผนการตลาดร่วมกับสำนักการจัดการเทคโนโลยี วว.ต่อเพื่อวิเคราะห์การลงทุน วางแผนการตลาดเพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเสนอแผนธุรกิจจ่อสถาบันการเงินต่อไปที่จะทำให้ธุรกิจในอนาคตสามารถเดินต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง" นายยงวุฒิ อธิบายรายละเอียด

ด้าน ดร.สุริยา สาสนรักกิจ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. เจ้าของหลักสูตรสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ เผยว่า โครงการที่จะจัดขึ้นในปีนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 และค่อนข้างมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จดีกว่าใน 2 ครั้งแรก เพราะการดำเนินโครงการหลักสูตรในครั้งที่ 1 ตั้งแต่ช่วงปี'55 ที่ วว.ร่วมมือกับ กยศ.นำนักศึกษาที่เพิ่งจบใหม่มาเข้ารับการอบรม ซึ่งภายหลังจากจบโครงการ กลับไม่มีผู้ใดที่สนใจนำโครงการไปสานต่อเป็นผู้ประกอบการเพราะต้องการเข้าทำงานในบริษัทมากกว่า

สำหรับการดำเนินโครงการในครั้งที่ 2 ดร.สุริยาระบุว่า ได้ขยายโอกาสให้กับนักศึกษาจบใหม่ที่มีความสนใจจริงๆ หรือผู้ที่จบนานแล้วแต่ยังไม่มีงานทำ หรือมีงานทำแล้วอยากประกอบอาชีพเสริม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีแต่บางส่วนก็ยังไม่สามารถนำมาประกอบอาชีพได้ เพราะยังขาดเงินทุนและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แต่ก็ยังเกิดเป็นผู้ประกอบรายการใหม่ทางด้านเกษตรกรรม และด้านการใช้ประโยชน์ของสมุนไพรประมาณ 5-6 ราย จากผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้นประมาณ 50 คน

"บทเรียนจาก 2 ครั้งก่อน ทำให้เราพยายามผนึกกำลังกับพันธมิตรให้มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้ผู้มาเข้าร่วมหลักสูตรในครั้งนี้ประสบความความสำเร็จตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นออกขาย โดยนอกจากจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แล้ว วว.ยังร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ทั้งสถาบันการเงิน การสร้างเครื่องมือ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ช่องทางการขาย ตลอดจนการเขียนแผนพัฒนาธุรกิจต่างๆ เพื่อเข้ามาช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่มั่นใจได้ว่าหากเขามีความมุ่งมั่นเพียงพอ ธุรกิจของเขาจะเดินได้อย่างมั่นคงด้วยการสนับสนุนจาก วว.” ดร.สุริยา ระบุ

ผู้กู้ยืมเงิน กยศ.ที่สนใจโครงการสร้างอาชีพฯ ทั้งที่ยังอยู่ในโครงการ หรือออกจากโครงการไปแล้ว สามารถยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.58 ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.studentloan.or.th หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ 02-6104888
ผู้บริหาร วว.และ กยศ.ถ่ายภาพร่วมกัน
ดร.สุริยา สาสนรักกิจ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน วว.
(ขวา) ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
เทคโนโลยีวัสดุหนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจ
การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์หนึ่งในหัวข้อที่ วว.มีความเชี่ยวชาญ
เทคโนโลยีการเกษตรอีก 1 ทางเลือกที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย
การพัฒนาสมุนไพรเป็นเครื่องสำอางสามารถทำรายได้ให้ผู้ประกอบการอย่างมหาศาล
การแปรรูปอาหารเป็นงานวิจัยอีกด้านที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้ความสนใจ






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น