xs
xsm
sm
md
lg

ล่าดาวหาง "เลิฟจอย" ก่อนแสงค่อยๆ จางหาย

เผยแพร่:   โดย: ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

ภาพถ่ายดาวหางเลิฟจอย Comet Lovejoy (C/2014 Q2) คืนวันที่ 11 มกราคม 2558 ณ บริเวณดอยอินทนนท์ โดยจากภาพถ่ายสามารถบันทึกภาพส่วนหัวของดาวหางซึ่งจะมีแก๊สประทุลอยออกมาห่อหุ้มนิวเคลียสเรียกว่า  โคมา (Coma) เห็นเป็นสีเขียวได้ชัดเจน ซึ่งส่วนนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งรายละเอียดของ หางแก๊ส (Ion tail) ที่มีลักษะเป็นเส้นตรงชี้ไปทางทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งตาเปล่าไม่สามารถมองเห็นได้ แต่กล้องถ่ายภาพสามารถบันทึกภาพส่วนของหางไว้ได้ (ภาพโดย : ศุภฤกษ์  คฤหานนท์, ธนกฤต  สันติคุณาภรต์ / Camera : Nikon D800 / Lens : Takahashi Epsilon 180ED / Focal length : 500 mm. / Aperture : f/2.8 / ISO : 2500 / Exposure : 90 sec )
สำหรับในช่วงเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นช่วงที่ดีที่สุดในการสังเกตการณ์ดาวหางเลิฟจอยได้อย่างชัดเจน เนื่องจากในช่วงเดือนมกราคมนี้ เป็นช่วงที่ดาวหางอยู่ใกล้โลกและมีความสว่างมาก ซึ่งในเดือนมกราคมนี้ดาวหางเลิฟจอยจะมีความสว่างปรากฏประมาณ 4 - 5 โดยดาวหางดวงนี้ได้เคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุด ไปเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่ระยะห่าง 70 ล้านกิโลเมตร และจะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 30 มกราคม 2558

ดังนั้น ช่วงนี้เรามาลองล่าดาวหางกันดีกว่าครับ เพราะดาวหางไม่ได้เห็นกันได้ง่าย และดาวหางนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การตามล่าถ่ายภาพดาวหางเราจะพบการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของดาวหางได้ทุกวัน เรียกว่าอาจทำให้เราได้ตื่นเต้นได้เสมอ สำหรับช่วงต้นปีนี้ก็ถือเป็นโอกาสดี ที่เราจะได้ลองถ่ายภาพดาวหางกัน เพราะดาวหางสว่างดวงนี้มาปรากฏให้เราได้เห็น ในช่วงที่ท้องฟ้าของประเทศไทยส่วนใหญ่ “ใสเคลียร์” เหมาะแก่การถ่ายภาพดาวหางกันอีกด้วยครับ ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับดาวหางกันก่อนครับ

ดาวหาง คือ...
ดาวหาง คือ วัตถุชนิดหนึ่งในระบบสุริยะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ มีส่วนที่ระเหิดเป็นแก๊สเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดชั้นฝุ่นและแก๊สที่ฝ้ามัวล้อมรอบ และทอดเหยียดออกไปภายนอกจนดูเหมือนหาง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ไปบนนิวเคลียสของดาวหาง นิวเคลียสหรือใจกลางดาวหางเป็น "ก้อนหิมะสกปรก" ประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย และมีฝุ่นกับหินแข็งปะปนอยู่ด้วยกัน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร

เมื่อดาวหางอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์จะเป็นเพียงก้อนน้ำแข็งที่ไม่มีหาง แต่เมื่อดาวหางโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์น้ำแข็งเหล่านี้จะระเหิดเป็นแก๊ส โดยด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะมีแก๊สประทุลอยออกมาห่อหุ้มนิวเคลียส เรียกว่า "โคมา" (Coma) ซึ่งมีอาจขนาดหลายร้อยหลายพันกิโลเมตร ลมสุริยะหรืออนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ปะทะโคมาให้ปลิวไปยังด้านหลังกลายเป็น "หาง" (Tail) ยาวนับล้านกิโลเมตร

หางของดาวหางมี 2 ชนิดคือ หางแก๊สและหางฝุ่น "หางแก๊ส" (Ion tail) มีลักษะเป็นเส้นตรงชี้ไปทางทิศตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ มีสีฟ้าเกิดจากแก๊สของดาวหางได้รับพลังงานดวงอาทิตย์แล้วคายประจุออกมา ส่วน "หางฝุ่น" (Dust tail) เกิดจากมวลของดาวหางที่พ่นออกมาจากนิวเคลียส มวลเหล่านี้เคลื่อนที่โค้งไปตามทิศทางที่ดาวหางโคจร เมื่อดาวหางโคจรรอบดวงอาทิตย์ก็จะสูญเสียมวลไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดทั้งดวง
ตัวอย่างภาพดาวหางเฮล-บอปป์ ที่แสดงให้เห็นหางฝุ่นและหางแก๊สได้อย่างชัดเจน
วิธีการสังเกตการณ์หางเลิฟจอย
ในการสังเกตดาวหาง ผู้เริ่มต้นสังเกตอาจเริ่มจากการใช้ตำแหน่งกลุ่มดาวนายพรานเป็นหลัก จากนั้นในทิศทางเดียวกันจะสังเกตเห็นกลุ่มดาววัว หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อดาวธง โดยในช่วงเดือนมกราคมนี้ ผู้สังเกตสามารถสังเกตดาวหางได้ตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00น. ในทางทิศตะวันออก เป็นต้น ซึ่งดาวหางจะมีการเปลี่ยนแปลงระยะทางเพียงเล็กน้อยในแต่ละวัน ซึ่งภายในเวลา 2 สัปดาห์ นี้ดาวหางเลิฟจอยจะเคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาววัว กลุ่มดาวแกะ และกลุ่มดาวสามเหลี่ยม ผู้สังเกตสามารถสังเกตดาวหางได้ตลอดทั้งเดือนมกราคมนี้ และหลังจากที่ดาวหางโคจรผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ไปแล้ว ความสว่างของดาวหางจะเริ่มจางลงเล็กน้อย โดยในช่วงปลายเดือนมกราคมตั้งแต่วันที่ 26 จะมีผลกระทบจากแสงของดวงจันทร์จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สังเกตดาวหางได้ยากขึ้น

ในเดือนกุมภาพันธ์ดาวหางจะอยู่ระหว่างกาแล็กซีแอนโดรเมดากับกลุ่มดาวเพอร์เซอุส และจางหายไป ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม โดยสามารถสังเกตเห็นดาวหางได้ด้วยตาเปล่า ผ่านกล้องสองตากำลังขยายตั้งแต่ 7 เท่าได้อย่างชัดเจน

ตำแหน่งดาวหางเลิฟจอย ในช่วงเดือนมกราคม 2558
จากตำแหน่งของดาวหางข้างบน จะเห็นได้ว่าดาวหางมีการเปลี่ยนตำแหน่งทุกๆ วัน และจะค่อยๆ จางลงเรื่อยๆ ดังนั้น ช่วงนี้ควรรีบถ่ายภาพก่อนที่ดาวหางจะจางหายไปในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม
เทคนิคและวิธีการในการถ่ายภาพดาวหาง

สำหรับเทคนิคในการถ่ายภาพดาวหางในคอลัมน์นี้ ผมจะขอแนะนำวิธีการแบบที่ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากเหมือนนักดาราศาสตร์ถ่ายกันนะครับ โดยวิธีนี้จะเป็นการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล SLR แบบ 1 Shot เท่านั้น

ก่อนที่เราจะถ่ายภาพดาวหางนั้น เราควรทราบข้อมูลเบื้องต้นและลักษณะของดาวหางก่อน โดยขออธิบายดังนี้ โดยการประพฤติตัวของดาวหางนั้น จะมีการเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจากประสบการณ์ การถ่ายภาพดาวหางนั้น ทุกๆ นาที ดาวหางจะเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ ดังนั้น การถ่ายภาพควรต้องใช้เวลาถ่ายให้น้อยที่สุด ที่ไม่ดูว่าดาวหางยืดเป็นเส้น โดยขออธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้

1. เลือกใช้ความไวแสงสูง เพื่อให้กล้องสามารถบันทึกรายละเอียดในส่วนต่างๆ ของดาวหางได้ดีที่สุด

2. ถ่ายด้วยเลนส์ไวแสง หรือกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังการรวมแสงมากๆ

3. เลือกความยาวโฟกัสที่เหมาะสม ที่สามารถเก็บรายละเอียดต่างได้ครบทุกส่วน ซึ่งดาวหางแต่ละดวงนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป
ในการถ่ายภาพดาวหางเลิฟจอย ดวงนี้ผมและน้องชายได้ใช้กล้องที่มีความยาวโฟกัสที่แตกต่างกัน เพื่อทดลองถ่ายภาพว่าความยาวโฟกัสที่เหมาะสมที่จะสามารถเก็บรายละเอียดได้ครบและดีที่สุด เนื่องจากดาวหางแต่ละดวงนั้น บางดวงอาจเห็นหางได้สั้น บางดวงก็อาจสังเกตเห็นหางได้ยาว และดาวหางดวงนี้ผมและน้องชายเราเลือกใช้กล้องที่ความยาวโฟกัส 500 mm. เพราะหางของดาวหางดวงนี้ค่อนข้างยาวพอสมควร
4. ควรติดตั้งกล้องบนขาตั้งกล้องแบบตามดาว เพื่อให้กล้องสามารถถ่ายภาพดาวหางให้ได้นานที่สุด ที่จะยังไม่ทำให้ดาวยืด

5. ควรเปิดระบบ Long Exposure Noise Reduction และ High ISO Speed Noise Reduction เพื่อให้กล้องช่วยลดสัญญาณรบกวนของภาพได้ดีขึ้น และการเปิดระบบ High ISO นั้นระบบของกล้องก็จะช่วยลดสัญญาณรบกวนในส่วนเงามืดทำให้ได้รายละเอียดที่ดีขึ้น เมื่อใช้ความไวแสงสูง

6. ควรถ่ายภาพดาวหางในตำแหน่งกลางท้องฟ้า หรือตำแหน่งที่ดาวหางอยู่สูงจากขอบฟ้ามากที่สุด เพราะสามารถหลีกหนีมวลอากาศที่หนาแน่ที่ขอบฟ้าได้ดีกว่า และจะได้ภาพที่ใสเคลียร์มากที่สุด

7. สำหรับการถ่ายภาพด้วยเลนส์มุมกว้าง มักพบปัญหาภาพสว่างไม่เท่ากันทั่วทั้งภาพ สำหรับผู้ที่พอมีทักษะด้านการประมวลผลภาพ ควรถ่ายภาพ Flat Fields (ทำได้โดยการถ่ายภาพที่ความเข้มแสงสม่ำเสมอ เช่น แสงของท้องฟ้า แสงจากฉากขาวที่มีค่าความเข้มแสงสม่ำเสมอ ควรใช้เวลาในการถ่ายที่ให้แสงประมาณ 40% - 60% ของประสิทธิภาพของ CCD เพื่อป้องกันการอิ่มตัวของซีซีดีขึ้น)
ตัวอย่างการถ่ายภาพ Flat Fields โดยการใช้ผ้าขาวคลุมหน้ากล้องแล้วใช้ไฟสีขาวฉายบริเวณหน้ากล้องให้แสงสว่างสม่ำเสมอแล้วถ่ายภาพ โดยเวลาในการถ่ายที่ให้แสงประมาณ 40% - 60% ของประสิทธิภาพของ CCD สามารถดูจากค่าฮิสโตรแกรมของกล้องให้อยู่ที่ค่ากลาง ไม่สว่างหรือมืดจนเกินไป
ทิ้งท้ายก่อนจบไว้นิด... สำหรับใครที่ยังไม่เคยลองถ่ายภาพดาวหาง ส่วนตัวผมคิดว่าช่วงนี้น่าออกไปลองล่าภาพดาวหางกันดูนะนครับ เพราะดาวหางสว่างแบบนี้ไม่ได้หาดูกันได้ง่ายๆ อย่างน้อยหากไม่ได้ภาพ ก็ยังได้ประสบการณ์การสังเกตดาวหางครับ ยังไงก็คุ้มครับ

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”

อ่านบทความ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน














กำลังโหลดความคิดเห็น