xs
xsm
sm
md
lg

วิจัยพบสารทดแทน BPA ในพลาสติกกระทบการสร้างอัณฑะในทารก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิจัยฝรั่งเศสวิจัยพบสารทดแทน BPA สารประกอบในพลาสติกซึ่งถูกแบนโดยหลายประเทศจากความกังวลผลกระทบต่อสุขภาพ ทว่าสารประกอบ 2 ชนิดที่คาดว่าปลอดภัยและทดแทนกันได้อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอัณฑะของตัวอ่อน

งานวิจัยดังกล่าวเผยแพร่ลงวารสารเฟอร์ติลิตีแอนด์สเตอริลิตี (Fertility and Sterility) ซึ่งเอเอฟพีระบุว่า เป็นผลงานวิจัยของนักวิจัยฝรั่งเศสที่แสดงให้เห็นว่า ไบฟีนอลเอฟ (bisphenol F) และไบฟีนอลเอส (bisphenol S) ที่นำมาใช้ทดแทนไบฟีนอลเอ (bisphenol A) หรือ BPA ซึ่งเป็นสารประกอบพื้นฐานในขวดพลาสติก พลาสติกบรรจุอาหารและอาหารกระป๋องนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพเช่นกัน

ผลการทดลองล่าสุดเผยว่า สารประกอบทั้งสองลดการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในตัวอ่อน ซึ่ง เรเน ฮาแบรต์ (Rene Habert) จากมหาวิทยาลัยปารีสดิเดอโร (Paris Diderot University) ผู้ร่วมวิจัยอธิบายแก่เอเอฟพีว่า การลดการผลิตเทสโทสเตอโรนอย่างที่เป็นผลจากสารไบฟีนอลเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาอัณฑะ และอาจจะส่งผลให้เป็นหมันได้
 
ทั้งนี้ BPA เป็นสารที่ใช้กันทั่วไปในการผลิตขวดน้ำพลาสติก อาหารกระป๋อง บรรจุภัณฑ์อาหารสำหรับไมโครเวฟและบรรจุภัณฑ์สำหรับแช่แข็ง รวมถึงบัตรเอทีเอ็ม บัตรเครดิต แผ่นซีดีและดีวีดี ซึ่งบางการศึกษาเผยว่าสารดังกล่าวมีความเกี่ยวโยงกับปัญหาระบบสมองและระบบประสาท ความบกพร่องในการสืบพันธุ์และโรคอ้วน อีกทั้งในการศึกษาเมื่อปี 2013 ระบุว่า ทารกในครรภ์ที่ได้รับสารดังกล่าวอาจจะเป็นมะเร็งเต้านมได้เมื่ออายุมากขึ้น ขณะที่การศึกษาเมื่อต้นเดือน ม.ค.2015 พบว่า ปลาที่ได้รับสารนี้แม้ในความเข้มข้นต่ำก็มีอาการสมาธิสั้น  

หลายประเทศ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐ และแคนาดา ห้ามใช้ BPA ในขวดนม ขณะที่ฝรั่งเศสห้ามใช้สารนี้ในบรรจุภัณฑ์อาหรทุกประเภท โดยเริ่มมาตรการตั้งต้นปีนี้เป็นต้นไป แต่สารไบฟีนอลเอฟและไบฟีนอลเอสถูกนำมาใช้ทดแทน ทว่าหลายหน่วยงาน ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัยปารัสดิเดอโร สถาบันวิจัยสุขภาพและการแพทย์ฝรั่งเศส (French Institute of Health and Medical Research: Inserm) และคณะกรรมการพลังงานปรมาณูฝรั่งเศส ระบุว่า โครงสร้างทางเคมีของสารเหล่านี้แทบไม่แตกต่างกัน อีกทั้งยังไม่มีงานวิจัทั้งในมนุษย์หรือในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ทดสอบอันตรายของสารทดแทนทั้งสองนี้

สำหรับงานวิจัยล่าสุด ได้ศึกษาผลกระทบของสารเคมีต่อเนท้อเยื่อลูกอัณฑะตัวอ่อนที่เพาะเลี้ยงในจานทดลอง ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ใช้เมื่อปี 2012 เพื่อประเมินความเสี่ยงของ BPA ต่อการสืบพันธุ์ในเพศชาย ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเจ้าของผลงานวิจัยล่าสุดแถลงว่า งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแรกที่แสดงผลกระทบทางกายภาพเชิงลบของไบฟีนอลเอฟและเอสที่มีต่อมนุษย์






*******************************


กำลังโหลดความคิดเห็น