xs
xsm
sm
md
lg

Rosalyn Yalow นักฟิสิกส์สตรีผู้พิชิตโนเบลแพทย์

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

Rosalyn Yalow
ในปี 1977 Rosalyn S. Yalow ได้รับการประกาศให้เป็นผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์ร่วมกับ Roger Guillemin และ Andrew Schally ด้วยผลงานที่สำคัญและโดดเด่นของเธอ คือ การประดิษฐ์เทคนิค Radioimmunoassay (RIA) ซึ่งเทคโนโลยีนี้ได้ปฏิรูปวงการการแพทย์อย่างมโหฬาร ทั้งๆ ที่เธอเรียนจบการศึกษาด้านฟิสิกส์ และไม่ได้เรียนชีววิทยาเลย แต่เมื่อเธอทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์การแพทย์ เธอกลับรู้วิชาเวชศาสตร์นิวเคลียร์ที่เธอถนัดมากกว่าแพทย์มืออาชีพหลายคนเสียอีก

ปัจจุบันเทคนิค RIA ที่เธอประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีสำคัญซึ่งใช้อะตอมของธาตุกัมมันตรังสีในการวัดความเข้มข้น (ที่น้อยนิด) ของสารต่างๆ เช่น ฮอร์โมน ยาเสพย์ติด วิตามิน ฯลฯ หรือแม้แต่ไวรัสในร่างกายคน การติดตามการกระจัดกระจายของธาตุกัมมันตรังสีในร่างกายในสามมิติ และการเห็นการสลายตัวของธาตุประเภทนี้ในบริเวณที่เป็นเนื้อร้าย หรือการติดตามความคล่องในการไหลของเลือดในเส้นเลือดสมองทำให้แพทย์ได้ข้อมูลที่สามารถช่วยให้รู้วิธีและยาที่เหมาะสมในการรักษาคนไข้ รวมถึงทำให้รู้สาเหตุที่ทำให้คนไข้ป่วยเป็นโรคต่างๆ ด้วย

Rosalyn Yalow เกิดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1921 ที่ New York City ในครอบครัวที่มีเชื้อชาติยิว แม้ทั้งบิดาและมารดาของเธอจะไม่ได้เรียนหนังสือถึงระดับมหาวิทยาลัย แต่คนทั้งสองก็ได้กระตุ้นลูกสาว Rosalyn ให้รักเรียนตั้งแต่เด็ก

เธอเล่าว่า ในวัยเด็กเธอชอบเรียนเคมีมาก เพราะรู้สึกว่า ครูที่สอนเธอนั้นสอนหนังสือดี และใจดี แต่เมื่อมารดาบอกให้เธอเลือกอาชีพเป็นครู เธอตอบปฏิเสธและบอกว่าต้องการจะเป็นนักวิทยาศาสตร์มากกว่า โดยเฉพาะนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ เพราะเธอ มี Marie Curie เป็นนักฟิสิกส์-เคมีในดวงใจ และต้องการเจริญรอยตาม
ภาพ Rosalyn Yalow (nobelprize.org)
เมื่ออายุ 20 ปี เธอสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาฟิสิกส์จาก Hunter College ซึ่งเป็นวิทยาลัยที่มีนิสิตเป็นสตรีล้วน และเป็นบัณฑิตสตรีสาขาฟิสิกส์คนแรกของวิทยาลัย จากนั้นเธอได้คิดจะเรียนต่อระดับปริญญาโทและเอก แต่ประสบอุปสรรคจากหลายสาเหตุเช่น เธอเป็นยิว และวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาสำหรับผู้ชาย แต่ช่วงเวลานั้นเป็นเวลาที่ใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ชายอเมริกันจำนวนมากถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหาร มหาวิทยาลัยจึงขาดแคลนนิสิตที่จะเรียน เธอจึงสมัครเข้ามหาวิทยาลัย และเมื่อได้รับข้อเสนอให้ไปเรียนต่อ ณ มหาวิทยาลัย Illinois ที่ Urbana – Champaign เธอก็ได้ตอบรับ และกลายเป็นนิสิตสตรีคนเดียวท่ามกลางนิสิตชาย 399 คน และเป็นผู้หญิงคนแรกที่จะทำปริญญาเอกด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ด้วย

ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ และสติปัญญาที่ดีเยี่ยม Rosalyn เรียนได้เกรด A ทุกวิชา เมื่ออายุ 22 ปี เธอได้เข้าพิธีสมรสกับ Aaron Yalow ซึ่งเป็นเพื่อนนิสิตปริญญาเอกที่กำลังเรียนที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน ในการทำวิทยานิพนธ์ เธอมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ Maurice Goldhaber (ผู้พบการสลายตัวของนิวเคลียสโดยรังสีเอ็กซ์ และรังสีแกมมาพลังงานสูง และพบการสลายตัวของธาตุ lithium, boron กับ nitrogen ด้วยนิวตรอน) ในปี 1945 Rosalyn วัย 24 ปีก็สำเร็จการศึกษาฟิสิกส์ระดับปริญญาเอกด้วยความเชี่ยวชาญด้านกัมมันตรังสี

หลังสำเร็จการศึกษา เธอได้ไปฝึกงานที่ห้องปฏิบัติการ Federal Telecommunications Laboratory ในตำแหน่งวิศวกรผู้ช่วย หลังจากที่เวลาผ่านไป 1 ปี เธอได้พบว่า งานที่กำลังทำเป็นงานไม่สร้างสรรค์เลย จึงลาออกและสมัครเป็นอาจารย์สอนฟิสิกส์ที่วิทยาลัยที่เคยเรียน คือ Hunter College ส่วนสามีของเธอได้งานทำที่โรงพยาบาล Montefiore ซึ่งอยู่ที่ Bronx ใน New York วันหนึ่งเมื่อเพื่อนของสามีแวะมาเยี่ยม และได้สนทนาวิชาการกับเธอ เขารู้สึกประทับใจในความสามารถด้านวิชาการของเธอมากจึงสนับสนุนให้ Rosalyn เปลี่ยนงานไปเป็นนักวิจัยด้านรังสีบำบัดที่โรงพยาบาล Bronx Veterans Administration (VA Hospital) ในปี 1947 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ พัฒนาเทคนิคการใช้สารกัมมันตรังสีเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และ Rosalyn ก็ตอบตกลง และได้ใช้ชีวิตที่เหลือของเธอทำงานประจำที่โรงพยาบาลนี้

เพราะ Rosalyn แทบไม่มีความรู้ด้านแพทย์ศาสตร์เลย เธอจึงต้องการหาผู้ร่วมงานที่เป็นแพทย์ที่ทำงานวิจัย หลังจากที่ได้สนทนากับ Solomon Berson ผู้ไม่มีความรู้ฟิสิกส์มาก ทั้งสองก็ได้ตกลงใจทำงานร่วมกัน คือจะพัฒนาเทคนิคการใช้ antibody ที่มีอะตอมกัมมันตรังสีเกาะติดเพื่อวัดปริมาณ antigen ในร่างกายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนทั้งสองต้องการหาวิธีวิเคราะห์โรคต่อม thyroid อักเสบ ด้วยการฉีดอะตอมกัมมันตรังสีเข้าไปในเลือดของผู้ป่วย แล้วติดตามวิถีทางเดินและการสลายตัวของอะตอมกัมมันตรังสีเหล่านั้น
Rosalyn Yalow ในห้องปฏิบัติการ (U.S.National Library of Medicine)
ในเวลาต่อมา I. Arthur Missky ได้เสนอแนะให้ Rosalyn และ Berson ใช้เทคนิคกัมมันตรังสีวิเคราะห์คนที่เป็นโรคเบาหวานว่าเกิดจากการสลายตัวอย่างรวดเร็วเกินไปของฮอร์โมน insulin โดย enzyme ชนิด insulinase ว่าจริงหรือไม่

ณ เวลานั้นวงการแพทย์มี insulin บริสุทธิ์ใช้แล้ว Rosalyn กับ Berson จึงทดลองฉีด insulin ที่สกัดได้จากสัตว์ และมีอะตอมกัมมันตรังสียึดติดเข้าในร่างกายคนไข้ และได้พบว่า insulin จะสลายไปจากเลือดอย่างช้าๆ ทั้งสองคิดว่าคงเป็นเพราะร่างกายสร้าง antibody ขึ้นมา ซึ่งจะไปยึดติดกับ insulin และเมื่อ antibody เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับร่างกายที่จะกำจัดออกไป

Rosalyn และ Berson ได้ส่งผลงานนี้ไปตีพิมพ์ในวารสาร The Journal of Clinical Investigation แต่ทางกองบรรณาธิการปฏิเสธไม่รับลงพิมพ์ให้ โดยอ้างว่าเป็นงานที่ไม่สำคัญ และไม่ได้ให้องค์ความรู้ใหม่ (Rosalyn ได้นำผลงานนี้ออกบรรยายในพิธีเลี้ยงฉลองรางวัลโนเบลของเธอ)

เมื่อถูกปฏิเสธ เธอกับ Berson ได้ทุ่มเททำงานต่อ โดยการเพิ่มปริมาณ insulin ที่ไม่มีอะตอมกัมมันตรังสี เข้าไปในเลือด ทีละน้อยๆ และพบว่า ปริมาณ insulin ที่มีอะตอมกัมมันตรังสีเริ่มแยกตัวจาก antibody การวัดปริมาณ insulin ที่มีอะตอมกัมมันตรังสีทำให้รู้ปริมาณ insulin ที่ไม่มีกัมมันตรังสีในร่างกาย

RIA จึงเป็นเทคนิคที่ทำให้แพทย์รู้ปริมาณ insulin ในร่างกายคน

ในปี 1959 Rosalyn กับ Berson ได้พัฒนาเทคนิคนี้ต่อเพื่อใช้ในการวัดฮอร์โมนชนิดต่างๆ เช่น human growth, adrenocorticotropic, parathyroid และ gastrin

ความสำเร็จเหล่านี้ได้ทำให้ทั้งสองมีชื่อเสียงมาก แต่ในปี 1972 Berson ก็ถึงแก่กรรมในวัย 53 ปี และไม่รู้ว่าในอีก 5 ปีต่อมา ผลงานที่เขาทำร่วมกับ Rosalyn จะได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาแพทย์ศาสตร์

เมื่อเพื่อนร่วมงานเสียชีวิต Rosalyn รู้สึกเสียใจมาก เพราะตระหนักดีว่า ความสำเร็จที่ได้มาเกิดจากวิธีคิดของ Berson ส่วนเธอนั้นมีความสามารถด้านเทคนิค
Solomon Berson เพื่อนร่วมงาน Rosalyn Yalow
ในปี 1976 Rosalyn ได้รับรางวัล Albert Lasker Basic Medical Research Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ส่อว่าผู้รับรางวัล Lasker จะได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในเวลาต่อมา และความคาดหวังของทุกคนก็เป็นจริง เพราะปี 1977 เธอเป็นสตรีคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ (คนแรกคือ Gerty Cori ในปี 1947)

ในปี 1988 เธอได้รับเหรียญ National Medal of Science จากประธานาธิบดีสหรัฐด้วยผลงาน RIA ของเธอ

ในด้านงานสังคม เธอได้ทุ่มเทเวลาเผยแพร่ความรู้ด้านกัมมันตรังสี เพื่อสังคมและประชาชนจะไม่ได้ตื่นกลัวอย่างไร้เหตุผล และทุกหนแห่งที่เธอไปบรรยาย เธอมักกล่าวส่งเสริมสตรีให้มาเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น

สำหรับผลงาน RIA ของเธอนั้น เธอและ Berson ไม่ได้จดสิทธิบัตรใดๆ เพราะทั้งสองต้องการให้โลกได้รับประโยชน์จากการค้นพบมากที่สุด

แม้จะต้องทำงานวิจัยเต็มเวลา แต่เธอก็ได้แบ่งเวลาให้ครอบครัวด้วย ตามปกติหลังจากที่ได้เตรียมอาหารให้ลูก 2 คนและสามีแล้ว เธอจะหวนกลับไปทำงานที่ห้องปฏิบัติการอีกในยามค่ำคืน เธอเชื่อว่า เธอทำงานทั้งสองอย่างได้ คือ ทั้งวิจัยและดูแลครอบครัว เพราะเธอรักงานทั้งสองรูปแบบมากเท่าๆ กัน แต่เธอจะไม่ทุ่มเทชีวิตให้งานมากเท่า Marie Curie กระนั้นเธอก็เป็นนักวิทยาศาสตร์ต้นแบบของสตรีหลายคน

Rosalyn Yalow เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.2011 ที่ New York สิริอายุ 89 ปี

ทุกวันนี้ที่ Veterans Administration Hospital ใน New York มีห้องปฏิบัติการ Berson-Yalow ซึ่งยังทำหน้าที่เสริฟ cocktail ที่มี iodine-131 (สารกัมมันตรังสี) ให้คนไข้เพื่อศึกษาความผิดปกติอันเนื่องจากเบาหวาน (diabetes) อันเป็นเทคนิคที่ Berson และ Yalow ได้พัฒนาร่วมกัน

อ่านเพิ่มเติมจาก Life Atomic: A History of Radioisotopes in Science and Medicine โดย Angela N.H. Creager จัดพิมพ์โดย University of Chicago Press ในปี 2013

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์










กำลังโหลดความคิดเห็น