จากเด็กหญิงขี้สงสัยสู่นักวิจัยสตรีระดับโลก “ศ.ดร.ลอร์เดส เจ. ครูซ” นักชีวเคมีชาวฟิลิปปินส์ ผู้อุทิศชีวิตให้กับงานวิจัยและสังคม สตรีดีเด่นระดับนานาชาติจากเวทีลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ผู้เปลี่ยนพิษหอยทากทะเลร้ายกาจสู่ยาระงับความเจ็บปวดแทนมอร์ฟีนต่อลมหายใจผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้าย
ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนักวิจัยสตรีระดับนานาชาติ ศ.ดร. ลอร์เดส เจ.ครูซ (Lourdes J. Cruz) นักชีวเคมีผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาทางทะเล ผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติในฐานะผู้ทรงเกียรติในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจากเวที “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับนานาชาติในประเด็นที่สร้างปรากฏการณ์และคุณประโยชน์แก่วงการวิทยาศาสตร์นานาชาติ จากหัวข้องานวิจัยการเปลี่ยนพิษของหอยทากทะเลให้กลายเป็นยาระงับความเจ็บปวด
ศ.ดร.ลอร์เดส เจ. ครูซ เป็นนักชีวเคมี แห่งสถาบันศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล แห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ สำเร็จการศึกษาในระดับมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตในสาขาชีวเคมี มหาวิทยาไอโอวา สหรัฐฯ เป็นอาจารย์สอนด้านชีวเคมี ที่มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาชีวเคมีและชีวโมเลกุล ในปี 2523-2543
“คุณเชื่อไหม? ตลอด 40 ปีที่ทำงานมา ฉันไม่เคยเบื่อเลย” เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ พร้อมเล่าถึงความเป็นมาในชีวิตนักวิทยาศาสตร์ของเธอว่า จุดเริ่มต้นทั้งหมดอยู่ที่คุณพ่อของเธอ คุณพ่อของเธอเป็นนักชีวเคมีมาก่อน ทำให้เธอซึมซับนิสัยบางอย่างมาจากผู้เป็นพ่อ และการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่เปิดอิสระให้เธอและพี่ๆ ได้เล่นสนุกกับธรรมชาติอย่างเป็นอิสระ ได้คิดและหาคำตอบด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เธอมีความฝันอยากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพื่อค้นหาสิ่งต่างๆ ที่เธอยังไม่ทราบ และตั้งเป้าหมายการศึกษาเพื่อเข้าสู่สังคมนักชีวเคมีแบบพ่อของเธอ
“ตอนเด็กๆ ฉันชอบเล่นในสวนกับพี่ชาย เอาใบไม้ที่เป็นเถาวัลย์ชนิดหนึ่งมาบด แล้วนำไปอังกับแสงแดด รอสักพักหนึ่งเถาวัลย์นั้นก็กลายเป็นเจล ฉันกับพี่ชายสงสัยมากแล้วก็ชอบเล่นแบบนี้กันมากๆ และครอบครัวของฉัน พ่อ แม่ ก็ไม่เคยมีใครว่าเวลาฉันเล่นสนุก นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ฉันโตขึ้นมาเป็นนักวิทยาศาสตร์” ศ.ดร.ครูซ เล่าชีวิตในวัยเด็กซึ่งเป็นที่มาของความมุ่งมั่นและความรักในการวิจัย ที่เธอทุ่มเทเวลาในชีวิตทำงานอย่างหนักมาตลอด 40 ปี
ผลงานที่สร้างชื่อให้กับเธอในระดับนานาชาติ คือการศึกษาวิจัยสารประกอบของหอยทากทะเลและเปปไทด์ ที่ ศ.ดร.ครูซ เล่าว่าเกิดขึ้นมาจากความสนใจส่วนตัวของเธอ เนื่องจากหอยทากทะเลในประเทศฟิลิปปินส์มีเปลือกและลวดลายที่มีสีสันสวยงามแปลกตา ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากพยายามเก็บกลับไป โดยไม่มีใครทราบมาก่อนว่าหอยทากทะเลเหล่านี้ บางชนิดสามารถปล่อยพิษจากฉมวกที่มีลักษณะคล้ายฟันฉีดพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ทำให้เป็นอัมพาตจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ภายใน 30 นาที เธอจึงเริ่มงานวิจัยพื้นฐานชิ้นแรก โดยการศึกษาโปรตีนในพิษของหอยทากทะเลฟิลิปปินส์ จากการแบ่งและคัดแยกเปปไทด์ร่วมกับนักวิจัยต่างประเทศคนอื่นๆ ที่นำไปสู่การศึกษาพิษหอยทากทะเลในวงกว้างระดับโลก เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ทางด้านการแพทย์ในเรื่องการทำงานของระบบประสาทและสมองของมนุษย์
“อันดับแรกฉันศึกษาก่อนว่าพิษของพวกมันฆ่าคนได้อย่างไร ทำให้คนเป็นอัมพาตได้อย่างไร จากการศึกษาส่วนประกอบของโปรตีนในพิษที่มีอยู่มากมาย เพราะระบบประสาทของมนุษย์จะสามารถส่งต่อกระแสประสาทได้จากสัญญาณของศักย์ไฟฟ้าที่ไหลเข้าออกเซลล์ แต่เมื่อได้รับพิษเข้าไป พิษของหอยทากทะเลจะเข้าไปขัดขวางที่ช่อง (Ion Channal) ทำให้การรับส่งศักย์ไฟฟ้าในเซลล์ผิดปกติ ไม่ต่อเนื่อง เป็นเหตุให้ร่างกายไม่สามารถขยับ และเป็นอัมพาตในที่สุด เป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นต่อมาเกี่ยวกับการศึกษาในเรื่องของการทำงานในประสาทและสมอง”
ศ.ดร.ครูซ ระบุว่า สารประกอบโปรตีนที่สกัดจากพิษของหอยทากทะเล มีชื่อว่า “โคโนทอกซิน” (Conotoxin) เป็นเปปไทด์ที่มีปฏิกริยาต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ซึ่งหอยทากทะเลแต่ละสายพันธุ์จะมีปริมาณของโคโนทอกซินที่แตกต่างกันไป ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างมากในงานวิจัยของเธอ ที่ต้องศึกษาพิษของหอยทากทะเลกว่า 700 ชนิด เพื่อนำมาสกัดเป็นสารประกอบในการพัฒนายาระงับอาการเจ็บปวดและรักษาอาการผิดปกติทางประสาทที่เป็นทางเลือกทดแทนการใช้มอร์ฟีน (Prialt : The Primary Alternative to Morphine) เพื่อเป็นตัวเลือกทางการแพทย์สำหรับใช้ในการระงับความเจ็บปวดในคนไข้ โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
“ผลิตภัณฑ์ที่เสร็จแล้ว คือ ยาระงับปวดจากเปปไทด์โคโนทอกซินของหอยทากทะเล ที่ได้รับการยืนยันจากงานวิจัยและทางการแพทย์แล้วว่ามีประสิทธิภาพดีกว่ามอร์ฟีน 1,000 เท่าและไม่ทำให้เสพติดหรือเกิดอาการดื้อยา ไม่ทำให้เกิดการแพ้เพราะผลิตจากสารสกัดระดับเปปไทด์ และได้รับการพัฒนาจากบริษัทด้านชีวเทคโนโลยีให้เป็นยาแก้ปวด สำหรับผู้ที่เข้ารับการรักษามะเร็ง แต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะยังอยู่ในลักษณะของยาฉีด ซึ่งจะใช้ยากกว่ามอร์ฟีนที่ในขณะนี้มีการทำออกมาให้ใช้ง่ายขึ้นในรูปแบบของมอร์ฟีนเม็ด นอกจากนี้ยังมีสารพิษชนิดโคแนนโทคิน (Conantokin) ที่กำลังพัฒนาสู่การรักษาโรคลมบ้าหมู และสารประกอบพิษหลายชนิดที่กำลังอยู่ในกระบวนการวิจัยเพื่อผลิตออกมาในการป้องกันอาการอัมพาตจากการถูกพิษของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือกอีกด้วย ซึ่งยังต้องผ่านการทดสอบทางคลินิกอีกมากก่อนจะนำออกมาใช้จริงได้ ”
ขณะนี้ ศ.ดร.ครูซ เกษียณอายุราชการแล้วแต่ยังคงดำเนินงานวิจัยโดยการดูแลสมาชิกในห้องปฏิบัติการ และเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ควบคู่ไปกับการอุทิศตัวให้แก่ชุมชนและสังคม ด้วยการจัดตั้งศูนย์พัฒนาความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ห่างไกล (Rural LINC) ด้วยความร่วมมือจากอาสาสมัครและผู้ร่วมบริจาค โดยการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปสอนเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล ชนเผ่าต่างๆ จัดฝึกอบรมครูให้มีความรู้และเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ที่ดีและแปลกใหม่ จัดเวิร์คช็อปให้เด็กๆ ได้เล่นสนุกเหมือนที่เธอเคยได้รับจากครอบครัวในวัยเด็ก เพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจในวิทยาศาสตร์และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
“ที่ฟิลิปปินส์ สัดส่วนของผู้เรียนวิทยาศาสตร์และนักวิจัยมีอยู่น้อยมากระดับ 100 คนจากประชากร 1 ล้านคน โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีโอกาสน้อยมากที่ได้รับทุนวิจัย แถมยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เมื่อแต่งงานมีครอบครัว เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในประเทศ ฉันก็จะช่วยแก้เท่าที่ฉันทำได้ ฉันอยากให้คนมาเรียนวิทยาศาสตร์กันเยอะๆ ถ้ามันไม่สนุกจริง ฉันไม่อยู่กับมันทั้งชีวิตหรอก” ศ.ดร.ครูซ ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์