xs
xsm
sm
md
lg

สู้แล้งด้วยรัก "ลิ่มทอง" พิพิธภัณฑ์มีชีวิตแห่งใหม่ที่บุรีรัมย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ พร้อมคณะ เป็นประธานในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำฯ
ฟื้นหมู่บ้านแร้นแค้นด้วยความรัก-สามัคคี สู่ชุมชนต้นแบบจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริฯ ด้วยการแบ่งสรรปันน้ำ สร้างแก้มลิง-ถนนน้ำเดิน-สระพวง-คลองซอย-คลองดักน้ำหลาก "แก้น้ำแล้ง ลดน้ำท่วม" พลิกชีวิตชาวบ้าน 1,700 หลังคาเรือนอยู่ดีกินดีตามวิถีพอเพียง ยึดคติ "มีน้ำเท่ากับมีเงิน" สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำด้วยการทำนาปีและการเกษตรผสมผสาน

"เดิมทีบ้านเราลำบากมาก น้ำท่วมก็ท่วมเลย น้ำแล้งก็แล้งเลย ช่วงน้ำมากก็มากเหลือเกิน ช่วงน้ำน้อยก็น้อยจนทำมาหากินอะไรแทบไม่ได้" หนึ่งในประโยคสั้นๆจากปาก "น้าน้อย" สนิท ทิพย์นางรอง ผู้แทนเครือข่ายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชนบ้านลิ่มทอง วัย 49 ปี ที่เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ขณะกำลังเตรียมตัวเพื่อร่วมในพิธีเปิด "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์

น้าน้อย เล่าว่า ชุมชนบ้านลิ่มทอง ประสบปัญหาน้ำแล้งมานานกว่า 50 ปี ในสมัยยังเด็กเธอและเพื่อนๆ ต้องเดินทางจากบ้านไปไกลหลายกิโลเมตร เพื่อตักน้ำจากบ่อเพื่อกลับมาใช้ดื่มกินที่บ้าน ด้วยความยากลำบากทำให้เธอมุ่งมั่นว่า สักวันเธอจะต้องแก้ปัญหาน้ำเหล่านี้ให้หมดไปให้ได้ จึงได้เริ่มพัฒนาที่ดินทำกินและบริหารจัดการแหล่งน้ำด้วยการศึกษาจากแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ด้วยตัวเองมาตั้งแต่ปี 2540 และมาเริ่มเอาจริงเอาจังกลับมาสำรวจพื้นที่ในชุมชนบ้านลิ่มทอง ฐานที่อยู่ของตัวเองหลังจากได้รับการอบรมเรื่องแนวคิดการจัดการน้ำ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ในปี 2546

เธอจึงนำแนวคิดที่ได้มาใช้กับจากครัวเรือนเล็กๆ ในชุมชนบ้านลิ่มทองบนพื้นที่ 3,700 ไร่ในปี 2548 เริ่มต้นจากการสำรวจพื้นที่และแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรทำให้ทราบถึงปัญหา เพราะชุมชนบ้านลิ่มทองมีแหล่งน้ำธรรมชาติจาก “ลำมาศ” ที่เป็นเพียงช่วงสั้นๆที่เดียวเท่านั้นไม่มีการกระจายแหล่งน้ำ หรือนำมาเก็กกักสำรองไว้ในพื้นที่ เธอจึงออกให้ความรู้แก่ชาวบ้านถึงความสำคัญของแหล่งน้ำ เกิดเป็นความร่วมแรงร่วมใจในการขุดคลองดักน้ำหลากเชื่อมต่อลำมาศ และทำสระแก้มลิงเชื่อมต่อคลองดักน้ำหลากเป็นพื้นที่สำรองน้ำ ก่อนส่งเข้าพื้นที่เกษตรผ่านทางคลองซอยเข้าสระประจำไร่นา ทำให้มีนำอุปโภค บริโภค และใช้ทำการเกษตรเพียงพอมากขึ้นในปี 2550

หลังจากประสบความสำเร็จในระยะแรก ทำให้เริ่มมีองค์กรต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนเข้ามาให้ความช่วย ทั้งในส่วนของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย (นพค.52 บุรีรัมย์), มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์, มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ที่ให้การสนับสนุนในเรื่องของกำลังการขุดคลองชลประทาน และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ศูนย์กลางในการหาความรู้ของน้าน้อยและคนในชุมชน เกิดการขยายผลเป็นโครงการใหญ่ขึ้น มีการขุดคลองดักน้ำหลากรวมระยะทางกว่า 3,207 กิโลเมตร, สระแก้มลิงและสระน้ำประจำไร่นามากกว่า 100 สระ ที่สามารถเก็บกักน้ำได้มากกว่า 1.17 ล้านลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 71,566 ไร่ 3 ตำบลในอำเภอนางรอง เป็นประโยชน์ต่อคนในพื้นที่กว่า1,694 ครัวเรือนในอีก 6 ปีต่อมา

“ตัวป้าเองจบแค่ป.4 ทำได้แค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว ได้เห็นคนในหมู่บ้านลืมตาอ้าปาก มีน้ำไว้ใช้ทำนา ปลูกผักได้ตลอดปี มีเงินพอกินพอใช้แบบพอเพียงแค่นี้ก็พอใจ เพราะป้าเริ่มจากตัวเองโดยการศึกษาโครงการตามแนวพระราชดำริของในหลวงผ่านอินเทอร์เน็ต แต่ที่คิดว่าเป็นสิ่งสำคัญและทำให้โครงการสำเร็จได้เป็นเพราะ เราทำจริงโดยการพึ่งพาตัวเองไม่ได้อยู่เฉยรอความช่วยเหลือจากคนอื่น เริ่มเดินช้า ๆจากบ้านตัวเองคือ ชุมชนบ้านลิ่มทอง ต.หนองโบสถ์ ในการสำรวจและเก็บข้อมูลในพื้นที่ แล้วนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียม เครื่องระบุพิกัด (GPS) วิเคราะห์ทางไหลของน้ำ ทำแผนที่น้ำและระดับความสูงของพื้นที่ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับข้อมูลในพื้นที่จริง แล้วจัดทำระบบสระพวงขึ้นเพื่อเชื่อมต่อต้นน้ำเข้ามายังคลองดักน้ำหลาก แก้มลิง สระน้ำประจำไร่นาและถนนน้ำเดิน แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าหมู่บ้านตอนบนอย่าง ต.ชุมแสง ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นน้ำจะมีการจัดการน้ำที่ดีและเผื่อแผ่ลงมายังหมูบ้านปลายน้ำ จึงเกิดเป็นโครงการต่อขยายการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่าง ต.ชุมแสง, ต.ทุ่งแสงทอง และต.หนองโบสถ์ซึ่งอยู่ในพื้นที่ปลายน้ำและมีความแห้งแล้งมากกว่า” น้าน้อย เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ผู้ร่วมอุดมการณ์อีกคนหนึ่ง ที่ร่วมงานกับน้าน้อยมาตั้งแต่แรกเริ่ม อย่าง "น้าไว" หรือ ทองม้วน รังพงศ์ ทีมงานกำลังหลักของน้าน้อย ผู้เสียสละที่ดินกว่า 21 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่รองรับน้ำสาธารณะ ได้เผยถึงความสำเร็จของโครงการให้ฟังว่า พื้นที่แห่งนี้ปลูกข้าวนาปีมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย นิยมปลูกข้าวเจ้ามากกว่าข้าวเหนียว แต่เพราะปริมาณน้ำในพื้นที่มีจำกัด ดินไม่อุดมสมบูรณ์ทำให้ผลผลิตข้าวแต่ก่อนมีปริมาณน้อยมาก อยู่ที่ 1-2 กระสอบต่อไร่ แต่เมื่อมีน้ำ มีระบบการจัดการที่ดีขึ้น ดินก็เริ่มกลับมาอุ้มน้ำ มีสารอาหารทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเพิ่มขึ้นถึง 8-10 กระสอบต่อไร่ และยังสามารถปลูกพืชหมุนเวียน อาทิ กล้วย มะพร้าว มะละกอ ส้มโอ แตงโม ข้าวโพด ได้ตลอดทั้งปี ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงวันละ 500 บาท นับเป็นรายได้ที่พอเพียงสำหรับคนในพื้นที่ และช่วยลดปัญหาคนย้ายถิ่นฐาน

ความสำเร็จที่จับต้องได้ ทำให้ชาวบ้านคนอื่นๆ และในพื้นที่ใกล้เคียงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและอยากทำตาม เกิดการเสียสละที่ดินของตัวเองคนละเล็กคนละน้อย เพื่อให้เป็นทางน้ำผ่านเพราะทุกคนตระหนักดีแล้วว่าถ้าไม่มีน้ำ ถึงมีที่ดินมากมายก็ไร้ประโยชน์ ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์และไม่กลับมาแห้งแล้งแบบในอดีต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ โดยเฉพาะ ต.ชุมแสง ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่ในฤดูน้ำหลาก น้ำจากลำมาศจะไหลเข้าท่วมพื้นที่ของชาวบ้าน ให้กลายเป็นถูกกักเก็บไว้ในสระส่วนรวมของหมู่บ้านและแก้มลิงแทน หรือในบางครั้งที่ท่วมหนักจำนวนวันที่น้ำท่วมก็ลดลงจากเดิมหลายเท่าตัว ทำให้มีผู้สนใจจากหลายพื้นที่เดินทางมาดูงานมากมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ น้าไวกล่าว

"คนมาดูงานเยอะมาก เกือบทุกภาค ทั้งจังหวัดใกล้เคียงและที่เดินทางมาไกลโดยเฉพาะ โดยเฉพาะทางแถบอีสานนี่มากันหมด แต่ต่างประเทศอย่างจีน ญี่ปุ่น กัมพูชาก็มีมาดู เพราะชุมชนของเราแก้ปัญหาครอบคลุม ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ไปจนถึงการจัดการน้ำที่ทุกชุมชนต้องมี แต่อาจจะยังขาดหลักการจัดการที่เป็นระบบ ซึ่งส่วนมากผู้ที่มาดูงานก็บอกกับป้าว่าจะนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตัวเองในการบริหารจัดการ ซึ่งป้าก็เชื่อว่าอย่างน้อยคนที่มาดูต้องได้อะไรกลับไปและนำไปใช้ได้แน่ๆ เพราะขนาดพื้นที่เราแห้งแล้งขนาดนี้ ขาดโอกาส ขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในหลายๆด้านเรายังทำได้แล้วทำไมพื้นที่อื่นๆ จะทำไม่ได้ สำคัญที่การพึ่งตัวเอง และความสามัคคีของคนในชุมชน และถ้าใครสนใจที่จะมาดูงานในพื้นที่ให้ติดต่อมายังหมู่บ้านโดยตรง พวกเรายินดีต้อนรับ ทั้งคณะเล็ก คณะใหญ่ คราวละไม่เกิน 60-100 คน เราจะมีชาวบ้านซึ่งเป็นคนในชุมชนโดยแท้คอยให้คำแนะนำ" น้าไว เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ความสำเร็จทั้งหมดทั้งมวล จากการพึ่งพาตัวเองในการบริหารจัดการน้ำ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ทำให้เครือข่ายการบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนบ้านลิ่มทอง ชนะเลิศการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 57 ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่สร้างความปิติยินดีให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่เป็นอย่างมาก และเพื่อให้ชุมชนอื่นๆ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนผ่านพื้นที่จริง ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้เปิดให้เป็นชุมชนบ้านลิ่มทองเป็น "พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ บ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์" ณ ศูนย์อินเทอร์เน็ตบ้านโคกพลวง โดยมีส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมงานเพื่อชื่นชมในความสำเร็จ
น้าน้อย สนิท ทิพย์นางรอง ผู้แทนเครือข่ายบริหารจัดการน้ำระดับชุมชนบ้านลิ่มทอง แกนนำผู้พลิกชีวิตหมู่บ้านแห้งแล้งให้กลับคืนมาอีกครั้ง
ชาวบ้านจับปลาด้วย ยอ เครื่องมือจับปลาท้องถิ่นสำหรับพื้นที่น้ำไหล ในลำมาศ
สระแก้มลิงเก็บน้ำเพื่อการเกษตร
สระเก็บน้ำเฉลิมพระเกียรติ 80 ปีได้รับการสนับสนุนการสร้างจากมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย
ถนนน้ำเดิน สร้างด้วยซีเมนต์ขุดเป็นช่องลึก เป็นทางเดินน้ำขนาบไปกับถนน
คลองไส้ไก่ หรือ คลองซอย คลองที่ขุดขึ้นเพื่อแบ่งสรรปันน้ำจากแหล่งน้ำใหญ่ ที่จะส่งตรงไปยังหมูบ้านและแปลงเกษตร
คลองชลประทาน ขุดเชื่อมต่อกับลำมาศ เพื่อใช้ป็นน้ำสำรองสำหรับการปลูกข้าวนาปี
ข้าวนาปีอุดมสมบูรณ์ด้วยน้ำจากคลองชลประทาน ใกล้พร้อมเก็บเกี่ยว
ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล รับกล้วยและผลไม้ที่ชาวบ้านปลูกขึ้นจากแปลงเกษตรผสมผสาน
สวนครัวเรือนต้นแบบ ปลูกพืชหมุนเวียนตามแบบเศรษฐกิจพอเพียง
มะละกอ หนึ่งในผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน
เห็ดฟาง หนึ่งในผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน
ดาวเรือง หนึ่งในผลผลิตไม้ดอกที่ได้จากการทำการเกษตรแบบผสมผสาน
น้าไว ทองม้วน รังพงศ์  ทีมงานน้าน้อย
ถ้วยพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสชนะเลิศการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำและชุมชน
ชาวบ้านชุมชนลิ่มทอง และหมูบ้านใกล้เคียงเข้าร่วมพิธีเปิดพิพธภัณฑ์ฯ อย่างอบอุ่น






*******************************


*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น