นักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างนวัตกรรมทรงคุณค่า นำปลวกป่าไร้ค่าจากนครปฐมพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนให้โลก วิจัยพบแบคทีเรีย 3 สายพันธุ์ คาดเป็นเทคโนโลยีอนาคต
ศาสตราจารย์ ดร. สุเมธ ชวเดช ร่วมกับคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยใช้เชื้อเพลิงหลัก ได้แก่ น้ำมันถ่านหินและก๊าซ ทั้งภาคการผลิต การคมนาคมขนส่ง และผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งราคาเชื้อเพลิงดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณสำรองทรัพยากรเชื้อเพลิงของโลกมีจำกัด นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ
แนวคิดหนึ่งในการแก้ไขปัญหาพลังงานอย่างยั่งยืน คือการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานที่สามารถผลิตได้ไม่สิ้นสุด ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์ ลม น้ำ คลื่น ความร้อนใต้พิภพ ก๊าซชีวภาพและชีวมวล ดังนั้น ในหลายประเทศรวมทั้งไทย จึงมีการส่งเสริมการนำพลังงานทดแทนมาใช้ให้มากขึ้น
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีชีวมวลในปริมาณมาก โดยเฉพาะวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น ซังข้าวโพด ชานอ้อย ฟางข้าว เป็นต้น ดังนั้น การนำมาผลิตเป็นพลังงานเพื่อใช้ประโยชน์จึงได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะนอกจากได้ใช้ประโยชน์โดยตรงแล้ว ยังเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธกล่าวอีกว่า ปลวกมีความสามารถย่อยไม้ต่างๆ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เนื่องจากมีจุลินทรีย์ในระบบทางเดินอาหารของปลวก เช่นเดียวกับสัตว์เคี้ยวเอื้องและสัตว์อีกหลายชนิด จุลินทรีย์เหล่านี้จะทำหน้าที่ย่อยสารเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสให้เป็นน้ำตาลต่างๆ ปลวกจึงนำน้ำตาลเหล่านี้ไปใช้ในการดำรงชีวิตได้
ดังนั้น กลุ่มวิจัยจึงริเริ่มคัดแยกจุลินทรีย์ที่มีความสามารถย่อยเซลลูโลสจากปลวก โดยมุ่งเน้นกลุ่มแบคทีเรีย เนื่องจากสามารถนำมาเพิ่มจำนวนและควบคุมได้ง่ายกว่าจุลินทรีย์กลุ่มอื่นๆ ผลที่ได้รับคือ ความสำเร็จในการคัดแยกแบคทีเรีย 3 สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยเซลลูโลสเป็นน้ำตาลจากปลวกป่าที่นำมาจากสวนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐมด้วยการนำสายพันธุ์แบคทีเรียที่คัดแยกได้มาทดลองย่อยวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรต่างๆ ได้แก่ ชานอ้อย ซังข้าวโพด กากมันสำปะหลัง และฟางข้าว พบว่าสามารถย่อยเซลลูโลสได้สูงถึง 70% ในเวลา 12ชั่วโมง
“นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นในการโคลนนิ่งอีโคไล (E.coli) ซึ่งเป็นแบคทีเรียอยู่ในลำไส้ใหญ่มนุษย์ โดยนำยีนส์ของแบคทีเรียสายพันธุ์ที่คัดแยกได้มาใส่ในแบคทีเรียอีโคไล โดยแบคทีเรียที่โคลนนิ่งนี้จะง่ายต่อการเลี้ยง การขยายจำนวนและมีความปลอดภัยกว่า โดยต้องทำการโคลนนิ่งอีกหลายตัว เพื่อให้สามารถผลิตชนิดน้ำย่อยเซลลูโลสและเฮมิเซลลูโลสให้ครบทุกตัว ก่อนนำไปประยุกต์ให้ใช้งานจริงในการย่อยวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปเป็นน้ำตาล จากนั้นจึงนำน้ำตาลที่ผลิตได้ไปผลิตเอทานอลต่อไป โดยสามารถใช้เทคโนโลยีทั่วไปที่มีอยู่แล้ว” ศาสตราจารย์ ดร.สุเมธ กล่าว