xs
xsm
sm
md
lg

หากสำเร็จ...โรงงานนี้จะเป็นต้นแบบแปลง “กากมัน” เป็นพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงงานแห่งแรกในไทยที่สามารถผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น
เคยเป็นที่กังวลว่าหากปลูกพืชพลังงานมากๆ จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกพืชอาหารและสั่นคลอนความมั่นคงอาหาร แต่ด้วยเทคโนโลยีต้นแบบจากญี่ปุ่นที่แปลงของเหลือทิ้งจากโรงงานแป้งได้ อาจเป็นทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว

หลังจากสรรหาผู้มีศักยภาพทดสอบเทคโนโลยีของญี่ปุ่นในการผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลัง ในที่สุด บริษัท เอี่ยมบูรพา เอทานอล จำกัด ก็ได้รับเลือกให้เป็นผู้ดำเนินการทดสอบเทคโนโลยีดังกล่าว โดยได้ตั้งโรงงานต้นแบบขึ้นใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ซึ่งพร้อมเดินเครื่องผลิตเอทานอลในปี 2557 นี้

โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานแห่งแรกในไทยที่สามารถผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นที่พัฒนาขึ้นโดย บริษัท ซัปโปโร บริเวอรีส์ จำกัด บริษัท อิวาตะ เคมิคัล จำกัด และมหาวิทยาลัยยามากูชิ ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากองค์การพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (NEDO) ประเทศญี่ปุ่น และการประสานงานจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)

สำหรับเอี่ยมบูรพาเอทานอลนั้นเป็นบริษัทในเครือบริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด ซึ่งมีกำลังการผลิตแป้งมันสำปะหลังส่งออกวันละ 500 ตัน และสามารถเชื่อมโยงกำลังการผลิตกับบริษัทในเครือได้สูงสุด 3,400 ตันต่อวัน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ นายวิเชียร สุขสร้อย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส จาก สนช. มองมามีศักยภาพในการป้อนวัตถุดิบเพื่อเดินเครื่องจักรในโรงงานผลิตเอทานอลได้ รวมถึงศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตเอทานอลจาก 800 ลิตรต่อวันเป็น 200,000 ลิตรต่อวันได้ในอนาคต

ศักยภาพของโรงงานต้นแบบดังกล่าวสามารถผลิตเอทานอลด้วยกำลังผลิตสูงสุด 800 ลิตรต่อรอบการผลิต โดยกระบวนการผลิตนั้นจะใช้กากมันสำปะหลังแบบเปียก 9 ส่วนต่อกากมันสำปะหลังแบบแห้งอีก 1 ส่วน เข้าเครื่องบดให้ละเอียดเพื่อเหมาะแก่การหมัก จากนั้นนำไปต้มให้แต่แป้งเปียก แล้วลดอุณหภูมิให้เหลือ 40 องศาเซลเซียส เพื่อนำไปหมักด้วยยีสต์และใช้เอนไซม์ช่วยเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้ได้เป็นน้ำตาลสำหรับผลิตเอทานอลต่อไป

“เอทานอลที่ได้มีความเข้มข้น 10% จากนั้นจะถูกนำไปกลั่นเป็นเอทานอล 99.8% ซึ่งเป็นเกรดที่ใช้ผสมกับน้ำมันได้” วิเชียรกล่าว พร้อมอธิบายว่าสัดส่วนกากมันสำปะหลัง 9:1 นั้นเป็นสัดส่วนที่คุ้มทุนที่สุด เนื่องจากกากเปียกไม่มีราคา ขณะที่กากแห้งมีต้นทุนสูงกว่า แต่มีปริมาณแป้งเยอะกว่า

ทางด้าน มร.มูเนะฮิโกะ ซึชิยะ กรรมการบริหาร NEDO ให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงเหตุผลในการเลือกประเทศไทยเพื่อสร้างโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลนี้ว่า เนื่องจากไทยผลิตมันสำปะหลังส่งออกเป็นรายใหญ่ของโลก แต่น่าเสียดายที่ทิ้งกากมันปะหลังไปเฉยๆ ซึ่งน่าจะนำมาผลิตเป็นเอทานอล

“ทราบว่าไทยมีความต้องเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล โดยมีเป้าหมายที่ 66,000,000 ลิตรต่อปี และญี่ปุ่นก็มีเทคโนโลยีในการผลิตเอทานอลด้วยยีสต์ที่อุณหภูมิสูงๆ ได้ จึงน่านำมาทำตรงนี้ได้ โดยปกติการผลิตเอทานอลต้องหมักที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส แต่ญี่ปุ่นมียีสต์ที่ทำปฏิกิริยาได้ที่ 50 องศาเซลเซียส และยังมีเอนไซม์ที่ช่วยให้ทำปฏิกิริยาได้เร็วขึ้น” มร.ซึชิยะกล่าว

นอกจากไทยแล้ว มร.ซึชิยะเผยว่า NEDO ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ยังให้การสนับสนุนการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาลในอินโดนีเซียด้วย แต่ใช้เทคโนโลยีของเอกชนญี่ปุ่นอีกราย และใช้ยีสต์ต่างชนิดกัน ซึ่งการสนับสนุนเทคโนโลยีทั้งในไทยและอินโดนีเซียนี้ จะทำให้ภาคเอกชนของญี่ปุ่นได้แข่งขันกัน

“ภารกิจของ NEDO มี 2 อย่าง คือ 1. แก้ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งของญี่ปุ่นและของโลก และ 2. จัดกิจกรรมแก้ปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม แล้วส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนญี่ปุ่นไปพร้อมๆ กัน” กรรมการบริหาร NEDO กล่าว

ทั้งนี้ ในโครงการต้นแบบ NEDO ได้ให้ทุนสนับสนุน 276 ล้านบาทในส่วนของเครื่องจักรและเทคโนโลยี โดยเอี่ยมบูรพาเอทานอลได้ลงทุนในส่วนการก่อสร้างโรงงานต้นแบบเองอีก 30 ล้านบาท

มร.ซึชิยะ บอกอีกว่า โรงงานต้นแบบผลิตเอทานอลจากกากมันสำปะหลังนี้จะเดินเครื่องไปจนถึงเดือน ก.พ. 59 จากนั้นเทคโนโลยีจะตกเป็นของ สนช. โดยมีเอี่ยมบูรพาเอทานอลเป็นผู้รับดำเนินการ และทางเอกชนของญี่ปุ่นทั้งสองรายที่ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีก็จะเผยแพร่ผลงานแก่สาธารณะ ส่วน NEDO ก็จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องแล้ว

ส่วน นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอี่ยมบูรพา จำกัด เผยว่า บริษัทมีวัตถุดิบเป็นกากมันสำปะหลังอย่างเหลือเฝือสำหรับผลิตเอทานอล โดยปกติหากเป็นกากแบบเปียกจะขายได้เพียง 30 สตางค์ ซึ่งจะมีเกษตรกรรับซื้อไปเลี้ยงในช่วงหน้าแล้งที่ขาดแคลนหญ้าสด ส่วนกากแห้งขายได้กิโลกรัมละประมาณ 3 บาท แต่กากแห้ง 3 กิโลกรัม จะผลิตเอทานอลได้ 1 ลิตร ซึ่งมีมูลค่าสูงกว่า

อย่างไรก็ดี นางจิตรวรรณ เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ฯ ว่ายังไม่ได้มองถึงตลาดที่จะมารองรับเอทานอลจากโรงงาน แต่ในเบื้องต้นจะผลิตให้ได้คุณภาพเพื่อเป็นที่ยอมรับเสียก่อน และมองช่องทางไว้คร่าวๆ ว่าจะปูทางสู่การผลิตพลังงานเพื่อภาคเกษตร

ลานมันในโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังของเอี่ยมบูรพา ใกล้ๆ โรงงานผลิตเอทานอล
ขั้นตอนการรับซื้อมันสำะหลังที่มีการคำนวณเปอร์เซนต์แป้งจากความถ่วงจำเพาะ
วิเชียร สุขสร้อย นำชมกองกากมันสำปะหลังจากการผลิตแป้งมันสำปะหลัง
กากมันสำปะหลังแบบเปียก
ส่วนหนึ่งของโรงงานต้นแบบผลิตเอทานอล
วิเชียร สุขสร้อย อธิบายกระบวนการผลิตเอทานอลในโรงงานต้นแบบ
นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล
มร.มูเนะฮิโกะ ซึชิยะ






กำลังโหลดความคิดเห็น