xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 10 เด็กไทยไป “เซิร์น”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สถาบันแสงซินโครตรอน- เปิดความประทับใจ 10 นักเรียนไทย หลังได้รับพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพฯ ทรงคัดเลือกนักเรียน ม.ปลายผู้หลงใหลในฟิสิกส์ ให้ได้ไปเยือน “เซิร์น” สถาบันวิจัยฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ กรุงเจนีวา สวิส

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ คัดเลือกนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นเด็กไทยผู้หลงไหลในฟิสิกส์ ให้ได้มีโอกาสพบกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นนำระดับแนวหน้าของโลก ณ องค์การวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (The European Organization for Nuclear Research) หรือ “เซิร์น” สถาบันวิจัยฟิสิกส์อนุภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เซิร์น

การคัดเลือกเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ ได้ดำเนินการโดยสถาบันแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน โดยกำกับดูแ]ของมหาวิทยาลัย (วมว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ในขั้นต้นคัดเลือกนักเรียนที่มีศักยภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสม แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกนักเรียนจำนวน 12 คน และครูผู้ดูแลนักเรียนจำนวน 2 คน เข้าร่วมโครงการ


เซิร์นได้จัดให้กลุ่มนักเรียนไทยและกลุ่มนักเรียนสิงคโปร์จากโรงเรียนคณิตสาสตร์ละวิทยาศาสตร์เอ็นยูเอส (NUS High School of Mathematics and Science) ที่ถูกคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศได้ทำกิจกรรมร่วมกันในชื่อว่า “Singapore and Thailand Summer School” โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อเปิดโลกทัศน์ของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ให้มีโอกาสสัมผัสบรรยากาศการทำงานวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคและการประยุกต์ใช้

รูปแบบกิจกรรมแบ่งเป็น การฟังบรรยายจากนักวิจัยชั้นนำและการเยี่ยมชมสถานีวิจัยในเซิร์น อาทิ สถานีตรวจวัดอนุภาคแอตลาส (ATLAS) สถานีตรวจวัดอนุภาคซีเอ็มเอส (CMS) และการฟังบรรยายหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับฟิสิกส์อนุภาค ซึ่งนักเรียนไทยได้เผยประสบการณ์และความประทับใจที่พวกเขาได้รับ ดังนี้

น.ส. เหมือนฟ้า เนตรหาญ โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยลพบุรี
“ได้รู้จักเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งด้านการพัฒนาความรู้ทางฟิสิกส์อนุภาค เช่น ATLAS CMS และทางด้านการรักษาพยาบาล เช่น MRI, CT, PET, Hadron therapy เป็นต้น ได้เห็นความทุ่มเทของนักวิจัยที่ให้ความรู้ในเซิร์น ... เขามีความสุขที่จะถ่ายทอดความรู้ในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่... ทำให้ฟิสิกส์อนุภาคเป็นแนวทางประกอบการตัดสินใจในการประกอบอาชีพได้อีกทางหนึ่ง”

นายวทัญญู ฟูแสง โรงเรียน ยุพราชวิทยาลัย
“คนไทยน้อยคนนักที่จะได้สัมผัสกับเซิร์นด้วยตนเอง ไม่ต้องพูดถึงเครื่องเร่งอนุภาคและ detector ที่ปกติไม่เปิดให้เข้าชมอยู่แล้ว การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้เป็นการเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับแวดวงวิทยาศาสตร์ของโลก... ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียนสายวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี สิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้พวกเรานำมาพัฒนาประเทศชาติต่อไปในภายหน้าอย่างแน่นอน”

นายธิปยวิศว์ ชื่นจิตร โรงเรียน สามเสนวิทยาลัย
“ได้พบกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีความชำนาญในสาขานั้นๆ ข้าพเจ้าได้รับโอกาสในการซักถามข้อสงสัยต่างๆจากนักวิจัยผู้มากด้วยประสบการณ์ ซึ่งก็ทำให้ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ถูกต้อง และแม่นยำ การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจที่จะศึกษาวิชาฟิสิกส์ในเชิงทฤษฎีให้มากยิ่งขึ้นต่อไป”

นาย ณัชชนก คำพิทักษ์ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น (ศึกษาศาสตร์)
“ได้ความรู้เกี่ยวกับการนำความรู้ทางด้านฟิสิกส์อนุภาคไปประยุกต์ใช้ ทั้งในเชิงการแพทย์เช่นการทำ CT/MRI scans และในด้านคอมพิวเตอร์ และสามารถนำความรู้ที่ได้มา ไปเล่าต่อให้แก่บุคคลรอบข้าง เช่น รุ่นน้องที่โรงเรียน ทำให้รู้จักและสนใจในฟิสิกส์อนุภาคมากขึ้น”

น.ส. อรุณเริ่ม กิตติรัตนชัย โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“แน่นอนว่าในการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เราได้รับความรู้ทางด้านฟิสิกส์มากมายและได้สัมผัสความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม แต่นั่นไม่ใช่สิ่งเพียงสองสิ่งที่เราได้รับจากโครงการนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้รับมาอย่างมากคือการใช้ชีวิต ดูแลตัวเอง และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และผู้คนรอบๆ ตัวเรา...ได้เห็นสิ่งที่ใหม่แปลกตาน่าสนใจมากมาย”

นาย สรัช ลิ่วศิริรัตน์ โครงการห้องเรียนวิทยาศาสตร์ (วมว) โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย
“การเข้าฟังบรรยายสุดพิเศษ จากนักฟิสิกส์ระดับโลก โจนาธาน อาร์.เอลลิส (Jonathan R. Ellis) แห่งเซิร์น..... John บอกว่า ถ้าอยากเป็นอะไร ทำอะไร เราต้องชอบที่จะทำสิ่งนั้น แล้วเราจะประสบความสำเร็จและมีความสุข เมื่อจอห์นพูดจบผมมีแรงบันดาลใจที่จะเป็นนักฟิสิกส์ทันที”

นาย สาริศ วิเศษสุมน โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย (โครงการโอลิมปิก)
“ได้เข้าใจฟิสิกส์อนุภาค และการประยุกต์ใช้เครื่องเร่งอนุภาคมากขึ้น ผ่านทั้งการบรรยาย และไปเยี่ยมชมเครื่องมือจริง เป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาฟิสิกส์อนุภาค และฟิสิกส์ด้านอื่นๆ ต่อไป”

นาย บรรณวิชญ์ พิมพานุวัตร โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
“ได้รับความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับฟิสิกส์อนุภาคทั้งในทางทฤษฎีและการทดลอง .... หลักการทำงานของเครื่องเร่งอนุภาคและเครื่องตรวจวัดอนุภาคที่ทำงานอยู่ที่ CERN ..... นอกจากด้านฟิสิกส์แล้ว ยังได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของคนในเมืองเจนีวา การใช้ชีวิตประจำวัน ภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม คนที่นี่มีมารยาทดีมากๆ เมื่อเราจะข้ามถนน รถยนต์ที่วิ่งมาจะจอดให้เราข้ามถนนก่อน ไม่ว่าเขาจะวิ่งมาเร็วแค่ไหนก็ตาม”

นาย ณภัทร ศิริพรสวรรค์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
“ไปดูเครื่องตรวจวัด CMS ซึ่งตั้งอยู่ใต้ดินในเมือง Cessy ประเทศฝรั่งเศส ตอนเวลา 12:20 นาฬิกา ซึ่งวันนี้ผมรู้สึกตื่นเต้นมากที่สุด ก่อนลงไปเจ้าหน้าที่ได้อธิบายการทำงานของเครื่อง CMS เช่นระบบแม่เหล็ก ระบบวัดรอยทางอนุภาค การหาพลังงาน การหาโมเมนตัม การลงไปนั้นทำโดยการลงลิฟท์ซึ่งผมคาดว่าน่าจะเป็นวิธีการเดียว.... เมื่อลงไปต้องเดินตามทางเล็กๆประมาณ 2 นาที โดยมีระบบตรวจสอบบุคคลที่ละเอียดและแน่นหนามาก”

น.ส.ภัทราพร สิงคนิภา นายพลช เธียรธัญญกิจ และนายปภพ เรืองเดช โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
“ได้มีโอกาสไปชม CMS ของจริงที่ใต้ดินลึกลงไป 100 เมตรซึ่งทำให้ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมากเป็นหนึ่งในสิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด ได้เรียนรู้กลไกการทำงาน บริเวณการชน และการใช้เครื่องจักรและระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมด้วยนั่นเอง”







*******************************



*******************************
กำลังโหลดความคิดเห็น