xs
xsm
sm
md
lg

ปลื้มนักวิจัยต่างชาติใช้แสงซินโครตรอนของไทยศึกษาฝุ่นในระบบสุริยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.บรูซ ราเวล
ปลื้มนักวิจัยต่างชาติใช้แสงซินโครตรอนตรวจวัดรังสีเอกซ์ ศึกษาฝุ่นในระบบสุริยะ พร้อมชูทีมงานคุณภาพ ผลการทดลองดีเยี่ยม

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เผยว่ามีห้องปฏิบัติการแสงสยามถือเป็นห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย ด้วยเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีแสงขั้นสูงสำหรับรองรับงานวิจัยจากภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมีนักวิจัยต่างชาติขอเข้าใช้บริการแสงซินโครตรอนกว่า 30 โครงการต่อปี ซึ่งนอกจากเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพแล้ว ทางสถาบันฯ ยังมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่พร้อมพัฒนาสถาบันฯ ให้ก้าวเข้าสู่สากล เพื่อสร้างสรรค์ผลงานวิจัยในระดับแนวหน้า

เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.บรูซ ราเวล (Dr.Bruce Ravel) นักฟิสิกส์จากสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีสหรัฐฯ ( National Institute of Standard and Technology) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ได้รับเชิญมาบรรยายพิเศษในการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (ASEAN Workshop on X-ray Absorption Spectroscopy – AWX2016)

ในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.บรูซได้ขอใช้แสงซินโครตรอนในเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ณ ระบบลำลียงแสงที่ 8 สำหรับงานวิจัยของเขาอีกด้วย

ดร.บรูซ กล่าวว่า การมาซินโครตรอนไทยครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยที่ผ่านมาจะมาในฐานะวิทยากรของการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ASEAN Workshop on X-ray Absorption Spectroscopy โดยการเชิญของสถาบันฯ แต่ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกทีได้มาใช้แสงซินโครตรอนในเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8 ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จ.นครราชสีมา

"ปัจจุบันผมและทีมวิจัยกำลังศึกษาเรื่องฝุ่นในระบบสุริยะ หรืออนุภาคของแร่ขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอวกาศ ซึ่งได้ร่วมกับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในการศึกษาหาองค์ประกอบของฝุ่นเหล่านั้น แน่นอนว่าเราไม่สามารถเก็บตัวอย่างฝุ่นจากอวกาศมาวัดได้ เราจึงใช้วิธีวัดการดูดกลืนรังสีเอกซ์ของฝุ่น โดยใช้รังสีเอกซ์ที่เกิดขึ้นในอวกาศอยู่แล้ว ผ่านตัวรับสัญญาณตามสถานีอวกาศต่างๆ และนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกับผลการทดลองการดูดกลืนรังสีเอกซ์ที่วัดจากห้องปฏิบัติการแสงสยาม" ดร.บรูซกล่าว

โดยธาตุหลักๆ ที่ ดร.บรูซ กำลังศึกษาคือ แมกนีเซียม อะลูมิเนียม และซิลิกอน ซึ่งเขาข้อมูลที่วัดได้ในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับงานวิจัยของเขา นอกจากนี้เขายังรู้สึกประทับใจทีมงานทุกคน ที่คอยให้ความช่วยเหลือตลอดช่วงเวลาที่ทำการทดลอง และหากมีโอกาสเขาจะกลับมาใช้แสงซินโครตรอนที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนอีกแน่นอน

ด้าน ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ หัวหน้าทีมงานระบบลำเลียงแสงที่ 8 กล่าวปิดท้ายว่า ทีมงานช่วย ดร.บรูซทำการทดลองตลอดสามวันเต็ม บันทึกสเปกตรัมได้มากถึง 150 สแกน จากตัวอย่างหินแร่กว่า 30 ชนิด คาดว่าจะเป็นฐานข้อมูลขั้นเลิศของงานวิจัยอีกหลายๆ เรื่องในอนาคต



ดร.บรูซ ราเวล ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8 ห้องปฏิบัติการแสงสยาม จ.นครราชสีมา
กำลังโหลดความคิดเห็น