ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- สุดยอด ! นักวิจัยไทยประสบความสำเร็จใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนเปลี่ยนสีไข่มุกเป็นสีทองอร่ามตาและคิดค้นกระบวนการพิมพ์ลวดลายสีทองลงบนไข่มุกได้เป็นครั้งแรกของโลก ชี้ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการอัญมณีระดับโลก เร่งจดสิทธิบัตร พร้อมเปิดตัวในงาน GIT 2014 ที่ เชียงใหม่ 8-9 ธ.ค.นี้ หวังเพิ่มมูลค่าให้กับอุตฯ อัญมณีไทย
วันนี้ (28 พ.ย.) ที่สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ นักวิจัยผู้คิดค้นและผลิตต้นแบบไข่มุกสีทองด้วยแสงซินโครตรอน เปิดแถลงความสำเร็จในการเปลี่ยนไข่มุกสีขาวเป็นสีทองด้วยแสงซินโครตรอนว่า กลุ่มนักวิจัยระบบลำเลียงแสงที่ 8 ได้ทำการค้นคว้าวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีไทยอย่างต่อเนื่อง เช่นความร่วมมือกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ศึกษาพลอยไพลิน การศึกษากระบวนการเปลี่ยนสีของทับทิม การทำความเข้าใจองค์ประกอบที่มีผลต่อสีของโทแพซและการหาธาตุที่เป็นองค์ประกอบในกลไกการเปลี่ยนสีของไข่มุกดำ เป็นต้น
จากการใช้เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอ็กซ์ศึกษาไข่มุก นั้น ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่นำมาสู่นวัตกรรมการวิจัยเพื่อผลิตไข่มุกสีทองและการพิมพ์ลวดลายสีทองลงบนไข่มุกด้วยแสงซินโครตรอน ซึ่งเป็นนวัตกรรมจากเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนที่จะช่วยทำให้ไข่มุกน้ำจืดซึ่งปกติมีราคาต่ำ สามารถเปลี่ยนสีเป็นไข่มุกสีทองที่โดดเด่น สวยงาม ได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก โดยทีมงานวิจัยได้ใช้เวลาในการวิเคราะห์ทดลองการเปลี่ยนสีไข่มุกเป็นสีทองมานานกว่า 1 ปีจึงประสบความสำเร็จดังกล่าว
สำหรับเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-ray Absorption Spectroscopy) ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มีความพิเศษที่มีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ชนิดของอะตอมที่มีปริมาณน้อยและโครงสร้างของสารประกอบได้อย่างละเอียด ซึ่งสีสันอันสวยงามของอัญมณีนั้นเกิดจากชนิดของแร่ รูปแบบโครงสร้างของสารประกอบ และอะตอมของธาตุชนิดต่างๆ ที่เจือปนอยู่ในผลึก โดยธาตุเจือปนบางชนิดนั้นมีอยู่ในปริมาณน้อยมาก ตรวจสอบได้ยากโดยวิธีทั่วๆ ไป แต่เป็นตัวการสำคัญในการเกิดสี
การที่เทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์สามารถวิเคราะห์ชนิดธาตุ โครงสร้างสารประกอบ รวมถึงสถานะออกซิเดชันของอะตอมที่สนใจได้อย่างชัดเจน จึงทำให้เราสามารถศึกษาหาองค์ประกอบของธาตุและสารประกอบที่มีผลต่อสีและความงามของอัญมณีแต่ละชนิดได้ เทคนิคที่ใช้ทำให้ไข่มุกมีสีทองแวววาว มีประกายเหมือนทองคำ และ คงความสวยงามของไข่มุกตามธรรมชาติไว้ได้ น่าจะเป็นการเปิดตัวอัญมณีประเภทไข่มุกในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจ
ดร.ณิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการคิดค้นกระบวนการพิมพ์ลวดลายบนไข่มุกนั้น นับเป็นการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดสำหรับถ่ายทอดลวดลายสีทองลงบนไข่มุกที่มีประสิทธิภาพ เราสามารถสร้างสรรค์ความงามอันเป็นเอกลักษณ์ตามแบบฉบับที่ต้องการได้ ด้วยลายพิมพ์ที่สร้างจากความละเอียดของเส้นสีทองในระดับไมโครเมตร
ดังนั้น เทคนิคนี้จึงสามารถใช้ในการถ่ายทอดตัวอักษรขนาดเล็ก หรือลวดลายที่มีรายละเอียดการพิมพ์ลายที่วิจิตรประณีตได้ มีประโยชน์อย่างมากในการเพิ่มมูลค่าไข่มุกด้วยลวดลายที่จะสามารถทำให้ไข่มุกกลายเป็นเครื่องประดับและของที่ระลึกที่มีเอกลักษณ์และทรงคุณค่า
“ ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการอัญมณีระดับโลก ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีจากประเทศไทยด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงของแสงซินโครตรอน” ดร.ณิรวัฒน์ กล่าว
ขณะนี้ได้มีการจดสิทธิบัตรฝีมือคนไทยไว้เรียบร้อยแล้วทั้งเทคนิคการเปลี่ยนไข่มุกสีทองและกระบวนการพิมพ์ลายสีทองลงบนไข่มุก และ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนจะนำผลงานวิจัยครั้งนี้ไปจัดแสดงซึ่งเป็นการเปิดตัวครั้งแรกที่งาน The 4th International Gem and Jewelry Conference หรือ GIT 2014 ซึ่งเป็นงานประชุมวิชาการที่มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านอัญมณีระดับโลกมาร่วมเสวนาและแสดงความคิดเห็น ที่ โรงแรมฮอลิเดย์อินท์ จ.เชียงใหม่ วันที่ 8-9 ธันวาคม นี้ด้วย