เอดิสันทำให้เรามีหลอดไส้ส่องสว่าง แต่นักวิทยาศาสตร์โนเบลฟิสิกส์ปีล่าสุดทำให้เรามี “หลอดแอลอีดี” ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผลพวงจากการพัฒนาแอลอีดีสีน้ำเงินที่เป็นความท้าทายสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และภาคอุตสาหกรรมนานถึง 3 ทศวรรษ
สตัฟฟาน นอร์มาร์ก (Staffan Normark) เลขาธิการราชบัณฑิตสภาด้านวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี 2014 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2014 ได้แก่ ชูจิ นากามูระ (Shuji Nakamura) นักฟิสิกส์อเมริกันผู้เกิดในญี่ปุ่น จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาบาร์บารา (University of California, Santa Barbara) สหรัฐฯ , และ 2 นักวิจัยญี่ปุ่น คือ ฮิโรชิ อามาโนะ (Hiroshi Amano) จากมหาวิทยาลัยนาโกยา (Nagoya University) ญี่ปุ่น และ อิซามุ อากาซากิ (Isamu Akasaki) จากมหาวิทยาลัยเมโจ (Meijo University) และมหาวิทยาลัยนาโกยา ญี่ปุ่น “สำหรับนวัตกรรมไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน ซึ่งสร้างแหล่งพลังงานแสงขาวที่สว่างจ้าและประหยัดพลังงาน”
รายละเอียดจากคณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า ผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสกส์ปีนี้ จากผลงานการประดิษฐ์แหล่งกำเนิดแสงที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นั่นคือ ไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงินหรือแอลอีดสีน้ำเงิน (LED) โดยเจตนารมย์ของ อัลเฟร็ด โนเบล (Alfred Nobel) ผู้ก่อตั้งรางวัลโนเบลปรารถนามอบรางวัลให้แก่ผู้ที่สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งแอลอีดีสีน้ำเงินสามารถให้แสงสีขาวด้วยวิธีใหม่ และด้วยหลอดไฟแอลอีดีทำให้เรามีแหล่งกำเนิดแสงที่มีอายุใช้งานยาวนานและมีประสิทธิภาพมากกว่าแหล่งกำเนิดแสงแบบเก่า แม้มีหลอดแอลอีดีสำเงินแค่ 20 ปี แต่ก็ทำให้เราทุกคนได้ประโยชน์จากการสร้างแสงขาวได้วิธีใหม่อย่างสิ้นเชิง
“มีไดโอดเปล่งแสงสีแดงและเขียวมานานก่อนที่จะมีการพัฒนาไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน แต่หากไม่มีไดโอดเปล่งแสงสีน้ำเงิน ก็ไม่สามารถสร้างหลอดไฟแสงขาวได้” รายงานข่าวจากคณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุ โดย อิซามุ อากาซากิ , ฮิโรชิ อามาโนะ และชูจิ นากามูระ ได้สร้างลำแสงสว่างสีน้ำเงินจากสารกึ่งตัวนำที่พวกเขาพัฒนาขึ้นเมื่อราวต้นทศวรรษที่ 1990 ซึ่งการพัฒนาไดโอดเปล่งสีน้ำเงินนี้ ถือเป็นความท้าทายสำหรับวงการวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมถึง 3 ทศวรรษ
“พวกเขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่ทุกคนล้มเหลว อากาซากิทำงานร่วมกับอามาโนะที่มหาวิทยาลัยนาโกยา ขณะที่นากามูระ เป็นลูกจ้างของบริษัท นิเชียเคมิคอลส์ (Nichia Chemicals) ซึ่งเป็นบริษัทเล็กๆ ในโทกุชิมะ สิ่งประดิษฐ์ของพวกเขาถือเป็นการปฏิวัติ หลอดไส้เคยส่องสว่างในศตวรรษที่ 20 แต่ในศตวรรษที่ 21 จะส่องสว่างด้วยหลอดแอลอีดี” คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุ
1 ใน 4 ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลกคือการผลิตแสงสว่าง ซึ่งหลอดแอลอีดีจะช่วยประหยัดทรัพยากรของโลกได้ โดยหลอดแอลอีดีที่ให้แสงขาวนั้นมีอายุการใช้งานนานกว่าและใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการพิสูจน์ว่าหลอดแอลอีดีมีประสิทธิภาพมากกว่า ด้วยค่าความส่องสว่างมีหน่วยเป็นลูเมน (lumen) ต่อกำลังไฟฟ้าที่มีหน่วยเป็นวัตต์ (watt) ที่สูงกว่า โดยสถิติล่าสุดระบุว่าหลอดแอลอีดีหลอดเดียวให้ค่าความสว่าง 300 ลูเมนต่อวัตต์ (lm/W) และมีอายุการใช้งาน 100,000 ชั่วโมง ขณะที่หลอดไส้ให้ความสว่างเพียง 16 lm/W มีอายุการใช้งาน 1,000 ชั่วโมง และหลอดฟลูออเรสเซนต์ให้ความสว่าง 70 lm/W มีอายุการใช้งาน 10,000 ชั่วโมง
“เชื่อว่าหลอดแอลดีจะเพื่อคุณภาพชีวิตให้แก่ประชากรโลกกว่า 1.5 พันล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงโครงข่ายไฟฟ้าได้ ด้วยหลอดไฟที่ใช้พลังงานต่ำร่วมกับแหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ราคาถูก” คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุ
รวมแล้วมีผู้ได้รับรางวัลโนเบลที่เกิดในญี่ปุ่นทั้งหมด 21 คน โดยในจำนวนนั้นเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ 10 คน โดยมอบรางวัลโนเบล (Nobel Prize) ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1901 ตามเจตนารมย์ของ อัลเฟร็ด โนเบล โดยประกาศผลงรางวัลทุกปีในช่วงต้นเดือน ต.ค.และมีพิธีพระราชทานรางวัลในวันที่ 10 ธ.ค.ซึ่งตรงกับวันเสียชีวิตของผู้ก่อตั้งรางวัล
*******************************