xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักสูตรช่วยได้ไหม? แก้นักวิทย์พูดไม่รู้เรื่อง-นักข่าวสื่อสารผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(จากซ้ายไปขวา) ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์, ศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว, ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล และ กรรณิการ์ เฉิน
"พูดอะไรกันไม่เห็นเข้าใจ .. ทำไม? นักวิทยาศาสตร์พูดจาไม่รู้เรื่อง" ปัญหาเรื้อรังที่ทำให้สังคมไทยยังดูห่างไกลจากวิทยาศาสตร์ เพียงเพราะการสื่อสารที่ยังไม่เข้าที่เข้าทาง ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงคืออะไร? แล้วสถาบันการศึกษาควรเข้ามามีบทบาทอย่างไร? ผู้เกี่ยวข้องร่วมไขคำตอบ

ศ.ดร.สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาของการสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง เกิดจากคนส่วนมากมองว่าการเรียนวิทยาศาสตร์กับชีวิตจริงเป็นเรื่องแยกส่วนกัน เป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ ใช้เรียนไปเพื่อสอบผ่านได้เลื่อนชั้นเท่านั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและทำให้วิทยาศาสตร์ในสังคมไทยยังเดินไปได้ช้า ต้องโทษระบบการศึกษาที่ยัดเยียดความรู้ทฤษฎีให้เด็ก ก่อนการสอนให้เด็กคิดเป็น

"คนส่วนมากมักจะบอกว่า นักวิทยาศาสตร์พูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งผมเองในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ไม่เถียง แต่อยากใช้คำว่า เราสื่อสารไม่เก่งมากกว่า จริงๆ นักวิทยาศาสตร์สื่อสารได้ดีนะแต่ดีในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน ปัญหานี้เองต้องแก้ที่ทักษะดัานการสื่อสารของตัวนักวิทยาศาสตร์ หรือหาผู้แทนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถสื่อสารเรื่องราวๆยากๆให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ โดยเฉพาะเวลาเกิดปัญหา หรือมีเรื่องราวแปลกๆ ในสังคม มหาวิทยาลัยหรือสถานศึกษาต้องจัดหานักวิทยาศาสตร์ที่สื่อสารได้ดี หรือนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ออกมาตอบคำถามให้สังคมเป็นบทบาทที่มีประโยชน์ และดูจะเหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับบทบาทของสถานศึกษา คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เผย

เช่นเดียวกับ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นักวิจัยที่ผันตัวมาเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง ได้ระบุถึงวิธีแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยไม่เป็นที่นิยมว่ามี วิธีแก้อยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือการทำให้วิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่เข้าใจง่าย น่าสนใจ เพราะไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่ไม่สนใจวิทยาศาสตร์ คนแทบทั้งโลกก็มีแนวโน้มเข้าศึกษาในหลักสูตรวิทยาศาสตร์น้อยลง แม้กระทั่งสหรัฐฯ ประเทศมหาอำนาจแห่งวิทยาศาสตร์

อีกวิธีหนึ่ง ดร.นำชัย ระบุว่าคือการบูรณาการกันระหว่างวิทยาศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ที่สถานศึกษาควรเข้ามามีบทบาท ในเรื่องของหลักสูตรการสื่อสารวิทยาศาสตร์ หรือ Science Communication หรืออาจเป็นความร่วมมือระหว่างคณะให้อาจารย์ทางนิเทศศาสตร์มาสอนการสื่อสารให้เด็กในคณะนี้วิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นเรื่องยากหรือง่ายย่อมขึ้นอยู่กับผู้บริหาร แต่สิ่งที่สถานศึกษา ครูบาอาจารย์สามารถทำได้ทันทีและควรทำมากที่สุด คือการฟอร์มทีมผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านไว้ เพื่อช่วยตอบคำถามสังคมเวลามีข่าวแปลกๆ หรือเกิดเหตุร้ายต่างๆ เพราะสถานศึกษาเป็นแหล่งรวมปัญญาและคนให้ความเชื่อถือมากที่สุด

"สถานศึกษาต้องหนักแน่นในบทบาทผู้ตอบปัญหาสังคม ต้องอธิบายไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านไปตีความกันเอาเอง แต่นักวิทยาศาสตร์ต้องตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังพูดกับใคร ไม่ใช่พูดแต่เรื่องยากๆทั้งที่มันอาจไม่ยากเพื่อให้คนอื่นรู้ว่าฉันนี่แหละคือนักวิทยาศาสตร์ ต้องลดการใช้ศัพท์เทคนิคหันมาพูดจาภาษาง่ายๆ ที่ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ และสุดท้ายความหวังของสังคมอย่างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ที่จะเป็นใครก็ได้ อาจเป็นนักนิเทศศาสตร์ที่อุทิศตัวเพื่อมาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ซึ่งประเทศไทยยังไม่มี อาจเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยตรงที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้วแต่เรียนรู้ศิลปะการสื่อสารเพิ่มเติม ก็ล้วนแล้วแต่จะช่วยเหลือสังคมได้ทั้งสิ้น"

ทางด้านสื่อมวลชนอาวุโสผู้คลุกคลีอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนมาเป็นเวลานานอย่าง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด แสดงทัศนะว่า ปัญหาคนไม่สนใจวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์ยาก นักวิทยาศาสตร์พูดไม่เข้าใจเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกมาหลายสิบปีแล้วตั้งแต่สมัยเขายังหนุ่ม ความผิดทั้งหมดอยู่ที่สื่อมวลชนและนักวิทยาศาสตร์เพราะเป็นหน้าที่โดยแท้แต่ทำไมถึงไม่พยายามทำความเข้าใจ ไม่ใช่ความผิดของประชาชน

"ผู้ส่งสารอย่างนักข่าวเมื่อรู้ตัวว่าไม่มีพื้นความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ก็ควรศึกษาเพิ่ม วารสารงานวิจัย บทความวิทยาศาสตร์ต่างประเทศ หนังสือสาระมีมากมายก็ควรอ่านให้เกิดความรู้ นักวิจัยมีก็ควรปรึกษา ส่วนนักวิทยาศาสตร์เองเมื่อรู้ว่าตัวเองสื่อสารไม่เก่งก็ควรศึกษาเพิ่ม ไม่ต้องมากมายเพียงแค่ให้รู้หลักการก็ไม่น่าจะยากเกินไป ในเรื่องของสถานศึกษาผมเห็นว่าการทำหลักสูตรวิทยาศาสตร์ในนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์น่าจะยากอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าใช้วิธีดึงอาจารย์ที่มีความชำนาญเข้าไปช่วยสอนน่าจะเป็นไปได้มากกว่า และในส่วนของห้องสมุด การสืบค้นที่จะเป็นแหล่งอ้างอิงที่ดีของนักข่าวควรจะเปิดกว้างมากขึ้น และสุดท้ายอยู่ที่การสนับสนุนให้มีนักสื่อสารวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นมาในสังคม เพื่อเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจซึ่งในปัจจุบันแทบไม่มีอยู่เลย

ทั้งนี้ เป็นการแสดงความเห็นระหว่างเสวนาในเรื่อง "บทบาทของสถาบันการศึกษาต่อการส่งเสริมการขับเคลื่อนการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในสังคมไทย" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ต.ค.57 ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 จตุรัสจามจุรี โดยความร่วมมือระหว่าง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย และบริษัท ทรู วิชันส์

พร้อมกันนี้ ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ยังสอบถามความเห็นไปยัง ปรีดา อัครจันทโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า การเปิดหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ในคณะนิเทศศาสตร์โดยตรงยังคงเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัจจัยทางด้านบุคลากร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ และหลักสูตรการศึกษาที่ยังไม่รองรับทำให้ขาดความพร้อมในหลายๆ ด้าน แต่ในระดับชั้นปริญญาโทและนิสิตนอกคณะที่เลือกเรียนนิเทศศาสตร์เป็นวิชาโทสามารถทำได้ และมีการเรียนการสอนหลักสูตรแบบนี้แล้วในหลายๆ มหาวิทยาลัย รวมทั้งจุฬาฯ ซึ่งไม่เพียงแต่คณะวิทยาศาสตร์ ก่อนหน้านี้ในคณะสหเวชศาสตร์หรือคณะเภสัชศาสตร์ก็ได้มีประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับการสื่อสารให้แก่นิสิต เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงได้

"ทางที่ดีผมว่าให้ผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ มาเข้าคอร์สเรียนการสื่อสารน่าจะง่ายกว่า ซึ่งก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สถาบันการศึกษาควรเปิดช่องทางให้กับนิสิตหรือแม้กระทั่งอาจารย์ได้เข้ามาทำความเข้าใจ และเมื่อสื่อสารเป็น รู้จักนำหลักการต่างๆไปใช้กับความรู้ที่มีอยู่ ต่อให้เป็นเรื่องยากสักแค่ไหนพวกคุณก็สามารถสื่อสารออกไปให้สังคมเข้าใจได้อย่างแน่นอน" ปรีดากล่าวทิ้งท้าย
บรรยากาศในการเสวนา ณ อพวช. ชั้น 5 จามจุรีสแควร์
ศ.ดร. สุพจน์ หารหนองบัว คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการบริหาร บ. ไทยวิทัศน์ จำกัด
ดร. นำชัย ชีววิวรรธน์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)







กำลังโหลดความคิดเห็น