xs
xsm
sm
md
lg

รอแจ้งเกิด “ม.ทีวี” ทีวีดิจิตอลมหา’ลัย สาระบันเทิงครบครันสู่สังคม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย... เกศกาญจน์ บุญเพ็ญ

จนถึงวันนี้กระแส “ทีวีดิจิตอล” ยังเกาะติดอยู่บนพื้นที่ข่าวเพราะมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แม้หลายเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปิดให้ภาคเอกชนประมูลช่องสัญญาณและเริ่มแพร่ภาพกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่ทีวีดิจิตอลมิได้มีพื้นที่เฉพาะธุรกิจเท่านั้น แต่ยังมีช่องสัญญาณทีวีดิจิตอลสาธารณะที่ กสทช. เปิดให้หน่วยงานราชการ กระทรวง ทบวง กรม และองค์กร ที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือสถาบันการศึกษายื่นเรื่องเพื่อขอใบอนุญาตด้วย ซึ่งขณะนี้รอเพียง กสทช. เปิดอย่างเป็นทางการเท่านั้น

มหาวิทยาลัยเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ตื่นตัว และพร้อมที่จะโลดแล่นภายใต้ระบบทีวีดิจิตอลสาธารณะดังกล่าว เพื่อเปิดเผยตัวตนความเป็นอุดมศึกษาให้คนรู้จักมากขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้มีมติเดินหน้ายืนยันที่จะผลักดันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดทีวีดิจิตอลของมหาวิทยาลัย และจะยื่นเรื่องต่อ กสทช. เพื่อขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลบริการสาธารณะ ประเภทที่ 1 สำหรับการออกอากาศในการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ พร้อมกำหนดชื่อว่า “More TV” หรือ “ม.ทีวี”

“กว่าจะได้ชื่อนี้มาก็ไม่ใช่ง่ายเราได้จัดประกวดเพื่อเฟ้นหาชื่อที่จะเป็นสื่อแทนความเป็นมหาวิทยาลัยทั้งหมด จนได้ชื่อ “More TV” หรือ “ม.ทีวี” มีความหมายว่า “ทีวีมหาวิทยาลัยหรือมากกว่าทีวี” ที่เลือกชื่อนี้เพราะต้องการสื่อว่าการศึกษาไม่มีที่สิ้นสุด มีสิ่งให้เรียนรู้เหมือนเราได้ผจญภัยอยู่ตลอดเวลา” รศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย ทัดศรี รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายกำกับทีวีดิจิตอลมหาวิทยาลัย กล่าวถึงที่มาของชื่อ
ซุ่มเงียบเตรียมงานชนิดที่ไม่ยอมเผยไต๋ให้คนนอกล่วงรู้ รศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทปอ. ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีจุฬาฯ เป็นแกนกลาง มีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน 33 แห่ง เข้าร่วมผลิตรายการ ทปอ. มีเป้าหมายให้ทีวีดิจิตอลมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนำความรู้สู่สังคม สู่ประชาชนทั่วประเทศได้รับสื่อใหม่ๆ ที่มีพื้นฐานข้อมูลถูกต้องชัดเจนที่สะท้อนมาจากการวิจัย ทั้งยังเปิดโอกาสให้ นิสิต นักศึกษาเรียนรู้ ฝึกฝนในการถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน หรือหากชุมชนได้รับชมรายการแล้วเห็นเรื่องไหนดี สนใจก็นำความรู้ไปต่อยอด เกิดการสร้างแบบอย่างที่ดีให้สังคม

ด้วยเหตุนี้ คอนเซ็ปต์ของทีวีดิจิตอลมหาวิทยาลัย จึงเน้นการพัฒนารายการสู่สังคม ชุมชน ด้วยรูปแบบรายการที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น สารคดี รายการสาระบันเทิงเพื่อการศึกษา (Edutainment) เรื่องราวความก้าวหน้าทางวิชาการ ซึ่งจะเป็นวิชาการบนพื้นที่ฐานที่พิสูจน์ได้ มีงานวิจัยรองรับมีหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่งานวิจัยบนหิ้งแบบที่ชอบคิด เป็นต้น ที่สำคัญเป็นรายการที่เหมาะสำหรับผู้ชมทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีคณะ/สาขาวิชาที่เปิดสอนหลากหลายเราจึงมีศักยภาพมากพอที่จะผลิตรายการที่ตอบสนองสู่ผู้ชมทุกกลุ่ม

“เราจัดโปรแกรมรายการไว้หลากหลาย เช่น รายการสำหรับเด็กเล็ก พัฒนาการเรียนรู้ของเด็กควรสอนอย่างไร หรือสอนให้เด็กคิดอย่างสร้างสรรค์ให้ได้ผลควรจะสอนแบบใด รายการเกี่ยวกับสุขภาพ ผู้สูงอายุ อาหาร วัฒนธรรม หรือการนำความรู้ในด้านต่างๆ ไปสู่ชุมชน รวมไปถึงการศึกษาอาเซียนด้วย เชื่อว่าผู้ชมรายการผ่านทีวีดิจิตอลมหาวิทยาลัยจะได้รับบรรยากาศการชมที่แตกต่าง ได้รับความสนุกสนานและซึมซับความรู้ไปอย่างไม่รู้ตัว วิชาการที่น่าเบื่อก็ดูสนุกและเข้าใจง่าย จะไม่ได้เป็นแนวเกมโชว์ หรือการทดลองแบบที่เคยรับชมมาแน่นอน” ประธานคณะกรรมการ กล่าวและว่า ส่วนผังรายการที่สมบูรณ์มีอะไรบ้างนั้น ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ทุกรายการได้เสนอให้ ทปอ. และอธิการบดีรับทราบแล้ว
รศ.ทพ.นพ.ดร.สิทธิชัย ตอกย้ำความเป็นทีวีดิจิตอลมหาวิทยาลัย ว่า ในการผลิตนั้นไม่ได้จ้างบุคคลภายนอก แต่ใช้ศักยภาพและทรัพยากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกแห่งมีคณะนิเทศศาสตร์ และคณะศึกษาศาสตร์ หลายแห่งมีสตูดิโอที่สามารถจะใช้ถ่ายทำได้เบ็ดเสร็จ รวมไปถึงใช้ในการเชื่อมต่อสัญญาณถ่ายทอดออกอากาศได้ทันที โดยคณะกรรมการได้วางแนวปฏิบัติเพื่อให้การทำงานเป็นแนวทางเดียวกัน และขณะนี้ผลิตได้ทั้งสิ้น 600 ตอนสำเร็จ 100% พร้อมเผยแพร่ทันทีที่ กสทช. ประกาศให้ยื่นและอนุมัติใบอนุญาตฯ
...ทันทีที่ กสทช. ไฟเขียว ม.ทีวี ได้แพร่ภาพ คงเป็นโอกาสที่ทุกคนจะได้เห็นโลกการศึกษาในรูปแบบที่แตกต่าง และได้เรียนรู้ที่จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยแก้ไขและยกระดับการศึกษาไทย เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่






กำลังโหลดความคิดเห็น