"งานวิจัยจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าขาดฐานข้อมูลที่ดี" นักวิจัยเกือบทุกคนน่าจะเห็นด้วยกับประโยคนี้ เพราะรู้กันดีว่า กว่าจะผลิตผลงานวิจัยได้สักเรื่อง ตีพิมพ์วารสารวิชาการได้แต่ละฉบับต้องผ่านการอ่านและค้นคว้าข้อมูลจากวารสาร หรือที่เรียกกันติดปากว่า "เปเปอร์" มามากแค่ไหน ซึ่งในวันนี้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ จะพาไปดูวิธีสืบค้นข้อมูลแบบชาญฉลาด ตรงจุด ตรงประเด็น จากคนวงในวงการฐานข้อมูลอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ "ทอมสัน รอยเตอร์"
ดร.หนิง หนิง (Dr.Ning Ning) ที่ปรึกษาด้านการแก้ปัญหา แห่งสถาบันฐานข้อมูลวิจัยทอมสัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "Connecting The Dots Across The Research Ecosystem" ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ว่า ปัจจุบันข้อมูลทางงานวิจัยเยอะมาก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่นักวิจัยส่วนใหญ่สามารถอ่านงานวิจัยได้เพียงปีละ 200-300 ฉบับเท่านั้น การสืบค้นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ตรงกับจุดมุ่งหมายจริงๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ดร.หนิง หนิง อธิบายว่า การตีพิมพ์วารสารเป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าของงานวิจัย ทั้งในด้านขององค์ความรู้ ความมีอิทธิพลระดับองค์กรและด้านพาณิชย์ ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฐานข้อมูลของนักวิจัย เพราะสามารถอ้างอิงได้ว่าการทดลองใดมีการทำมาก่อนแล้ว ใช้ติดต่องานกับกลุ่มวิจัยอื่นๆ ผ่านการอ้างอิง อีกทั้งเป็นตัวชี้วัดผลงานทางวิชาการของนักวิจัยที่นำไปสู่รางวัลต่างๆ อย่างรางวัลโนเบล
"การสืบค้นข้อมูลที่สำคัญและมีประโยชน์เปรียบเสมือนการทำอาหาร อาหารที่ดีต้องมาจากเครื่องปรุงที่ดี งานวิจัยก็เช่นกันต้องมาจากข้อมูลที่มีคุณภาพ ซึ่งแนวทางในการชี้วัดเพื่อหาวารสารก็ไม่ได้มีมากมายจนยุ่งยากเกินไป แต่ที่ควรคำนึงถึงเป็นประการต้นๆ คือ เนื้อหาข้อมูลของวารสารว่ามีเนื้อหาเชิงกว้าง เชิงลึกอย่างไร มีข้อมูลครบถ้วนหรือไม่, ดัชนีชี้วัด อิมแพคแฟคเตอร์ (impact factor,H-index) ที่บอกจำนวนคนอ่านและนำไปใช้อ้างต่อ, ความหลากหลายระดับนานาชาติ ว่าเป็นที่ยอมรับในระดับไหน มีสังคมที่นำไปใช้ในวงกว้างเพียงใด และการเข้าถึงวารสารจากผู้อ่านทั่วโลก (accessibility)" ดร.หนิง หนิง กล่าวในการบรรยาย
เคล็ดลับในการกรองข้อมูลที่ตรงประเด็นต่อสายงานต่างๆ ดร.หนิง หนิง เผยว่ามี 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่ การจัดหมวดหมู่, การใช้คำค้นที่สื่อความหมายวงแคบ และการเชื่อมโยงข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ผู้วิจัยสามารถกรองข้อมูลจากวารสารนับหมื่นฉบับให้เหลือเพียงหลักสิบได้
วิธีแรก "การจัดหมวดหมู่การสืบค้น" (Categories) โดยเลือกดูจากหมวดหมู่ของงานวิจัย เพื่อหาว่ามีงานใดที่มีความสำคัญต่อศาสตร์นั้นๆ บ้าง โดยอาจเลือกดูจากการจัดอันดับวารสาร หรือการจัดอันดับสาขาวิชาของวารสาร แต่การดูเพียงการจัดอันดับ หรือดัชนีชี้วัดต่างๆ อาจจะไม่ได้สะท้อนภาพทั้งหมดของงานวิจัย เช่นค่าอิมแพคแฟคเตอร์ของวารสารชีววิทยาระดับเซลล์ (Cell Biology) ก็ไม่สามารถใช้เทียบวัดกับวารสารทางด้านการจัดการได้ เนื่องจากภูมิหลังของงานวิจัย การตีพิมพ์ และการอ้างอิงของในแต่ละสาขาวิชามีความแตกต่างกัน ในกรณีที่วารสารมีการตีพิมพ์งานที่หลากหลาย ก็อาจมีความจำเป็นต้องดูการจัดอันดับจากดัชนีชี้วัดแยกเฉพาะตามสาขาวิชาไป ในขณะที่งานวิจัยใดที่มีควาหลากหลายของสาขาวิชามาก ก็มีแนวโน้มที่จะมีอิทธิพลต่อผู้คนมากกว่างานวิจัยสาขาเดี่ยว
"การใช้คำค้นสื่อความหมาย" (Text mining/Text clustering) โดยการใช้คีย์เวิร์ดที่บางทีคำ 1 คำอาจปรากฏอยู่ในงานวิจัยหลายสาขาวิชา นอกจากนั้นการใช้คำค้น ยังใช้ได้กับการหาสิทธิบัตร หาวารสาร หรือหัวข้อที่เป็นกระแสในด้านของการวิจัยและพัฒนาในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ยังสามารถจัดกลุ่ม (Clustering) ตามการอ้างอิง เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่าแต่ละสาขาวิชา มีความสนใจแหล่งเงินทุนที่เกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง
มาถึงวิธีสุดท้าย "การเชื่อมโยงข้อมูล" (Connection of information) เพราะในปัจจุบันข้อมูลกระจายตัวอยู่ตามที่ต่างๆ เหมือนเป็นจุดที่กระจายอยู่ทั่วโลก ซึ่งผู้วิจัยมีหน้าที่เชื่อมโยงจุดต่างๆ เข้าด้วยกัน ประกอบกับการหาหัวข้อเชิงกว้าง การติดต่อกับกลุ่มองค์กร เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและบริษัทต่างๆ เพื่อหาความร่วมมือทางการวิจัย ซึ่งจุดนี้ประเทศไทยค่อนข้างขาด เพราะงานวิจัยส่วนใหญ่ของไทยจะมุ่งเน้นในสาขาที่มี impact สูง และมีแหล่งเงินทุนวิจัยมาก
นอกจากนี้อิทธิพลของงานวิจัยยังขึ้นอยู่กับคุณภาพของงาน ความร่วมมือกับกลุ่มองค์กรต่างๆ และการประยุกต์ให้สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เช่น การมีสิทธิบัตร งานวิจัยจึงต้องมีความเกี่ยวโยงกับภาคส่วนต่างๆ ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการข้อมูล โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยควรสนับสนุนให้มีการแชร์ข้อมูล และเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก โดยสร้างระบบจัดการฐานข้อมูลในสถาบันให้เชื่อมโยงถึงกัน โดยการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 14 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค. 57 ณ โรมแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี
*******************************
*******************************