xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษาชาวดัตช์ยก "งานวิจัยไทยเจ๋งสุดในละแวกนี้"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อเล็กซานเดอร์ แวน เซอวิลเลน ที่ปรึกษาแก้ปัญหา และการจัดการงานวิจัย ฐานข้อมูลเอลซีเวีย (Elsevier)
"เปรียบไทยเป็นฮับอาเซียน" ต่างชาติยก "งานวิจัยไทยเจ๋งสุดในละแวกนี้" ดีกว่าเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน วิทยาศาสตร์-การเกษตร-วิศวกรรมศาสตร์-พลังงานกำลังมาแรง โดยเฉพาะด้านการแพทย์ที่ถูกอ้างอิงมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ชี้เหล่าด็อกเตอร์ในมหาวิทยาลัยใหญ่ คือ กำลังสำคัญผู้ผลิตงานวิจัยขับเคลื่อนฐานความรู้ เตือนระวังมาเลย์วิ่งแซงเหตุไทยได้เงินสนับสนุนงานวิจัยจากจีดีพีน้อยไป

อเล็กซานเดอร์ แวน เซอวิลเลน (Alexander van Servellen) ชาวเนเธอแลนด์ ที่ปรึกษาแก้ปัญหา และการจัดการงานวิจัย ฐานข้อมูลเอลซีเวีย (Elsevier) กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง "Analysis of Thailand's Research Trend & Impact" ในการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 14 ว่าวันนี้เป็นโอกาสที่เขาผู้ซึ่งทำงานอยู่ในบริษัทฐานข้อมูลแอลซีเวียได้มาพบกับนักวิจัยเก่งๆ มากมายของประเทศไทย เขาเห็นความเคลื่อนไหวของงานวิจัยไทยอยู่ตลอดแต่ไม่มีโอกาสได้พูดให้คนไทยฟัง

อเล็กซานเดอร์ เล่าว่า เดิมทีการเข้าถึงข้อมูลทำได้ยาก ทุกคนต้องเข้าห้องสมุดเพื่อหาความรู้ที่ตัวเองต้องการ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่ เพียงแค่คลิกเดียวในเว็บไซต์ฐานข้อมูล เอกสารวิชา ผลงานตีพิมพ์วิทยาศาสตร์ก็จะมากองตรงหน้าเป็นหมื่นเป็นพันข้อมูล ทำให้การทำวิจัยสะดวกขึ้น และผู้คนทั้งโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำความรู้ไปใช้เกิดเป็นการอ้างอิงกันและกัน ทำให้ในระบบฐานข้อมูลเป็นเหมือนวัฏจักรความรู้ที่คนจากทั่วทั้งโลกได้ใช้ร่วมกัน

"งานวิจัยที่ดีต้องพร้อมทั้งผู้วิจัยและงบประมาณ แต่เป็นที่น่าตกใจเพราะ ประเทศไทยใช้เงินทุนกับการวิจัยเพียงแค่ 0.26 ของจีดีพีในประเทศ ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียใช้เงินอัดฉีดอยู่ที่ 0.6 ของจีดีพีทำให้มีการก้าวกระโดดของงานวิจัยจากที่เคยเป็นรองไทยอยู่มาก ก็กลับตีตื้นขึ้นมา ไม่ต้องพูดถึงประเทศแห่งการวิจัยในอาเซียนอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีเงินวิจัยสนับสนุนถึง 3.14 และ 2.68 ของจีดีพีตามลำดับจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมประเทศเหล่านี้ถึงมีความก้าวหน้าของนวัตกรรมเป็นอันดับต้นๆของโลก ในขณะที่ไทยก็ยังคงเป็นเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน ที่ยังหนีไม่พ้นจากคำว่าประเทศรายได้ปานกลาง" อเล็กซานเดอร์ กล่าวบนเวที

"ถึงแม้ประเทศไทยจะมีเงินสนับสนุนทุนวิจัยน้อย แต่ข้อดีอย่างหนึ่งคือ ประเทศไทยมีบุคลากรที่ศึกษาต่อจำนวนมาก มีนักศึกษาปริญญาโทแสนคน และปริญญาเอกอยู่อีกจำนวนหนึ่งซึ่งแปรผันตรงกับจำนวนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดิมใน 5 ปีก่อนจากในช่วง 0.1-0.5 % มาอยู่ที่ 0.97-0.99 % ของผลงานวิจัยของโลก ทำให้พูดได้ว่าแรงงานสำคัญที่ทำให้ปริมาณผลงานวิจัยของไทยเดินหน้าก็คือ เหล่านักศึกษาปริญญาเอกและด็อกเตอร์จากหน่วยงานและมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ" อเล็กซานเดอร์ กล่าวในการบรรยาย

ทั้งนี้ เล็กซานเดอร์ กล่าวว่าผลงานวิจัยไทยที่โดดเด่นมักเป็นหัวข้อทางวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ แต่ที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับการอ้างอิงในงานวิจัยของประเทศเพื่อนบ้านสูง คืองานวิจัยด้านเกษตร และสิ่งแวดล้อม โดยงานวิจัยทางการแพทย์ของไทย เกี่ยวกับโรคมะเร็ง โรคติดต่อเป็นที่ใช้อ้างอิงมากกว่าค่ามาตรฐานเฉลี่ยของคนทั้งโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีได้ว่างานวิจัยของคนไทยมีประสิทธิภาพและสามารถใช้ประโยชน์ได้ในวงกว้าง

"ประเทศไทยมีผลงานตีพิมพ์ดีๆเยอะ เยอะกว่าเพื่อนบ้านในระดับหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งผู้ผลิตงานวิจัยส่วนมากมาจากมหาวิทยาลัยใหญ่ๆของไทย 2-3 สถาบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ในขณะเดียวกันสถาบันเล็กๆก็สามารถตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่มีอิมแพคแฟคเตอร์สูงๆได้ เพราะมีการทำวิจัยร่วมกับสถาบันวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เรียกได้ว่าประเทศไทยสามารถเป็นฮับของอาเซียนได้ เช่นเดียวกับสหรัฐฯที่เป็นฮับทางด้านงานวิจัยของโลก" อเล็กซานเดอร์ เผยแก่ทีมข่าว ASTV-ผู้จัดการออนไลน์

ด้าน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า เขาเห็นด้วยกับการบรรยายของอเล็กซานเดอร์ทุกประการ ประเทศไทยมีบุคลากรจำนวนมาก และมีความพร้อมมากกว่าเพื่อนบ้านจริง โดยสกว. เองมีหน้าที่สนับสนุนงานวิจัยทั้งทางด้านนโยบายและทุนวิจัย ซึ่งต้องบอกก่อนว่าในรัฐบาลนี้มีการสนับสนุนงานวิจัยมากขึ้นกว่ารัฐบาลก่อนๆ แต่ก็ยังไม่มากเท่าประเทศอื่นอย่างญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่ถือว่าเป็นผู้นำ แต่เชื่อว่าด้วยศักยภาพที่มีอยู่ในขณะนี้ประเทศไทยจะสามารถครองแชมป์ความเป็นฮับของอาเซียนเอาไว้ได้ และพัฒนาขึ้นไปด้วยความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน

"จากการบรรยายโดยคุณอเล็กซานเดอร์ จากเลซีเวียฐานข้อมูลที่เราใช้กันอยู่เป็นประจำก็น่าจะทำให้นักวิจัยไทยยิ้มออกบ้าง และมีแรงพัฒนางานวิจัยขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งสกว. ก็พร้อมที่จะสนับสนุนงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพและมีความโดดเด่นอยู่แล้ว" ผอ.สกว.เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างการประชุม "นักวิจัยรุ่นใหม่ พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว." ครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 ต.ค. 57 ณ โรมแรมแอมบาสซาเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน จ.ชลบุรี







*******************************

กำลังโหลดความคิดเห็น