xs
xsm
sm
md
lg

อุดมศึกษาในเอเชียขยายตัวก้าวกระโดด ระดับ ป.ตรี บางประเทศเพิ่ม 4 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยูเนสโกเผยงานวิจัยอุดมศึกษาเอเชีย พบขยายตัวอย่างก้าวกระโดด เฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้เรียน ป.ตรี ขยายตัวรวดเร็ว บางประเทศเพิ่มถึง 4 เท่า เตือนระวังคุณภาพโดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนอาจารย์

วันนี้ (19 พ.ค.) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก เปิดตัวรายงานวิจัย “Higher education in Asia : Expanding Out , Expanding Up”การก้าวสู่ความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยในเอเชีย : ตีแผ่ยุทธศาสตร์สู่มหาวิทยาลัยระดับโลก โดย เจี๋ยนเฉลี่ยวหลิง (Chioa-Ling Chien ) นักวิจัยและนักวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษาทั่วโลกประจำสถาบันด้านสถิติยูเนสโก หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า รายงานดังกล่าวจัดทำโดยทีมนานาชาติ ใช้เวลาจัดทำประมาณ 2 ปี และสืบค้นข้อมูลย้อนหลังไปกว่า 20 ปี เพื่อสำรวจสถานการณ์ด้านอุดมศึกษาของเอเชีย พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อุดมศึกษาของเอเชียขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภาครัฐให้การสนับสนุนการสร้างวิทยาเขตใหม่ๆ และส่งเสริมการขยายตัวของภาคเอกชน จำนวนผู้เรียนในระดับปริญญาตรีจึงเพิ่มขึ้นหลายเท่าในเวลาอันสั้นมาก บางประเทศเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า ในเวลา 5 ปี สาเหตุเพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมในเอเชียเจริญเติบก้าวกระโดด จึงต้องการแรงงานที่มีการศึกษาและคุณภาพรองรับ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยต่างๆ เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ในระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานที่มีทักษะประกอบอาชีพสูงขึ้น

ในด้านคุณภาพนั้น หลายประเทศประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนประเทศในอาเซียนอย่างไทยและมาเลเซีย ประสบความสำเร็จพอควร ทั้งนี้ ประเทศที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยและสามารถเชื่อมโยงงานวิจัยสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมได้ จะส่งผลทางอ้อมให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจดีขึ้น

ขณะที่ ศ.เดวิด ดับเบิลยู เช็ปแมน มหาวิทยาลัยมินเนโซตาหนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า ขณะที่อุดมศึกษาในเอเซียขยายตัวอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องคุณภาพ จากการวิจัยพบว่า เริ่มเห็นปัญหาในหลายประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาจารย์ที่มีคุณภาพมาเติบให้กับการขยายอุดมศึกษา อย่างเช่น ประเทศจีนมีอาจารย์วุฒิปริญญาเอกและปริญญาโทเพียงร้อยละ 15 และ 35 ตามลำดับ ส่วนประเทศเวียดนามมีร้อยละ 14 และ 46 ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลต่อเรื่องคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ประเทศเหล่านี้จึงพยายามเพิ่มการลงทุนด้านบัณฑิตศึกษามากขึ้น แต่มาตรการเช่นนี้อาจส่งผลให้งบประมาณสำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรีลดลง นอกจากนั้น ประเทศต่างๆ ก็ต้องตัดสินหาความสมดุลในการลงทุนกับมหาวิทยาลัยเกิดใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนผู้เรียนระดับอุดมศึกษา กับการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพให้มหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับโลกของตัวเอง ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยและมาเลเซีย เป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาอุดมศึกษาสำหรับประเทศในกลุ่ม Middel Income countries ประเทศรายได้ปานกลาง สามารถขยายการศึกษาระดับปริญญาโทและเอก เพิ่มงานวิจัย ขณะเดียวกันอุดมศึกษาของไทยก็มีอิสระทางความคิดและมีความมุ่งมั่นในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ

ด้าน ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดี ม.มหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศต่างๆ ทั่วเอเชีย ไม่ได้ต้องการเพียงเพิ่มจำนวนนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาเท่านั้น ยังมุ่งมั่นในการสร้างความแข็งแกร่งของการวิจัยด้วย แต่งบประมาณสนับสนุนการวิจัยของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันอย่างมาก เช่น เกาหลีใต้ทุ่มงบสนับสนุนการวิจัยร้อยละ 4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ญี่ปุ่น ร้อยละ 3.4 สิงคโปร์ ร้อยละ 2.2 จีน ร้อยละ 1.1 มาเลเซีย ร้อยละ 0.8 และไทย ร้อยละ 0.25 ประเทจีนและประเทศสิงคโปร์ มีความแข็งแกร่งทางด้านการวิจัยอย่างมาก ตั้งแต่ปี 2008-2011 โดยประเทศจีนมีงานวิจัยในระดับ World Class ถึง 53 ชิ้น ส่วนประเทศสิงคโปร์ 37 ชิ้น ฮ่องกง 22 ชิ้น ประเทศญี่ปุ่น 16 ชิ้น ประเทศเกาหลีใต้ 14 ชิ้น และประเทศมาเลเซีย 6 ชิ้น ส่วนประเทศไทยยังไม่มีงานวิจัยในระดับ World Class
 




กำลังโหลดความคิดเห็น