เอเอฟพี - ในยามที่ร้านค้าแน่นขนัดไปด้วยผู้คน การจราจรยุ่งเหยิง และต้นส้มจี๊ดปรากฏให้เห็นทั่วทุกที่ในกรุงฮานอยเช่นนี้ นั่นหมายความได้เพียงอย่างเดียวคือ งานเทศกาลวันตรุษญวน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่รู้สึกรื่นเริงไปกับงานเทศกาลนี้
งานวันตรุษญวน หรือในภาษาท้องถิ่นว่า เต๊ต (Tet) เป็นการเฉลิมฉลองวันปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ และยังเป็นวันหยุดสำคัญที่สุดของเวียดนาม ส่งผลให้การเกิดบริโภค และการเดินทางอย่างมากมายมหาศาลก่อนเข้าช่วงวันหยุดยาวทั่วประเทศ
แต่ในปีนี้ นักวิจารณ์ต่างถกเถียงกันว่า แท้จริงแล้ววันหยุดเนื่องในวันตรุษญวนนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอันเปราะบางของประเทศ
“วันหยุดยาว และการผลิตลดต่ำเป็นเวลาหลายสัปดาห์ในช่วงเทศกาลวันเต๊ตกำลังสร้างปัญหาต่อการพัฒนาเวียดนาม” ฝ่าม จิ ลาน นักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เซินเวียด
“เป็นเรื่องยากที่จะทำทุกอย่างให้เสร็จ เมื่อบรรดาหน่วยงานรัฐต่างๆ ไม่อยู่ในบรรยากาศของการทำงาน” ฝ่าม จิ ลาน กล่าว พร้อมแนะนำว่า รัฐบาลน่าจะกำหนดวันหยุดในระยะสั้นเพื่อฉลองทั้งปีใหม่ และเต๊ต เพื่อปรับปรุงการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
วันเต๊ต ถือเป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการนาน 5 วัน รวมทั้งวันหยุดชดเชยอีก 2 วัน สำหรับพนักงานที่ต้องทำงานในวันเสาร์ และในปีนี้ รัฐบาลให้พนักงานรัฐหยุดงานนาน 9 วัน โรงเรียนปิดการเรียนการสอนนานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ โรงพยาบาลปิดทำการ ถนนหนทางเริ่มโล่งเมื่อยิ่งเข้าใกล้วันหยุด
“เวียดนามกำลังพยายามที่จะบูรณาการเข้าสู่เศรษฐกิจโลก และการหยุดประจำปีในช่วงวันเต๊ต ยิ่งเพิ่มความไร้ประสิทธิภาพต่อเศรษฐกิจ และการตัดสินใจของรัฐบาล” คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญเวียดนาม กล่าว
วันตรุษญวน หรือ เต๊ต เป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์ในเวียดนาม ที่สังคมวัฒนธรรมแบบขงจื๊อยังฝังแน่น และเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมที่ใช้เวลามาก เช่น การให้ของขวัญ อั่งเปา การทำความสะอาดตกแต่งบ้านเรือนด้วยต้นส้ม และต้นพีช การปรุงอาหารเลี้ยงครอบครัว และญาติมิตร เป็นต้น
ลูกหลานต้องทำพิธีเคารพบรรบุรุษ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน และหลังจากปีใหม่ ที่ในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ (31) ผู้คนมักออกไปวัด และศาลเจ้าต่างๆ
กิจกรรมเหล่านี้เติบโตเป็นที่นิยมในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา หลังตลาดปฏิรูปในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และรัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการดำเนินพิธีกรรมตามประเพณีดั้งเดิม
แต่ เจิ่น ดิ่ง ทู ที่มีอาชีพทนายความได้ระบุลงในหนังสือพิมพ์เวียดวีคลี่ย์ว่า การบริโภคอย่างมากมายที่เกิดขึ้นช่วงวันเต๊ตไม่ใช่เรื่องดี
“เต๊ตไม่เหมาะกับเศรฐกิจยุคใหม่” เจิ่น ดิ่ง ทู กล่าว และชี้ว่า เวียดนามเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่ประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยมีค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 63 ดอลลาร์ต่อเดือน
ประเทศกำลังดิ้นรนกับปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง ทั้งภาคธนาคารที่เต็มไปด้วยหนี้เสีย และการล้มละลายจำนวนมาก ในปี 2556 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวที่ 5.43% เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังแสดงผลงานย่ำแย่ที่สุดในรอบมากกว่า 10 ปี เมื่อปี 2555
“หลายคนมีหนี้สินมากมายไปกับการจับจ่ายช่วงวันเต๊ต” เจิ่น ดิ่ง ทู กล่าว
“ในช่วงหลายวันก่อนเริ่มวันหยุดอย่างเป็นทางการ นักธุรกิจจะต้องเดินทางไปเยี่ยมเยือนลูกค้าและหุ้นส่วนสำคัญพร้อมกับของขวัญ” เจิ่น แม็งห์ เกื่อง ผู้อำนวยการบริษัท BTES กล่าว
เกื่อง ระบุว่า เขาต้องจ่ายค่าเสียเวลาให้แก่พนักงานที่ทำงานล่วงเวลา และเพื่อให้กิจการดำเนินต่อไปในช่วงวันหยุด และเขาต้องพยายามอธิบายถึงความล่าช้า และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเหล่านี้ให้แก่ลูกค้าญี่ปุ่นของเขา
“วันหยุดสั้นลงอาจจะดีกว่า” เกื่อง กล่าว
คำแถลงอย่างเป็นทางการของรัฐ ระบุว่า วันหยุดที่เพิ่มขึ้นมีเป้าหมายที่จะอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และมีเวลาร่วมพิธีกรรมวันเต๊ตกับครอบครัว
แต่โจนาธาน ลอนดอน จากภาควิชาเอเชียและต่างประเทศศึกษา ของมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า วันหยุดที่ยาวนานเช่นนี้อาจช่วยเพิ่มการสนับสนุนให้แก่ผู้นำของประเทศที่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมในเวลานี้
“วันหยุดยาวสำหรับพนักงานรัฐเป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนความร่วมมือทางการเมืองของเวียดนาม เนื่องจากพนักงานรัฐทั้งหมดนั้นเป็นคะแนนเสียงทางการเมืองสำคัญ” โจนาธาน ลอนดอน กล่าว
ขณะเดียวกัน คาร์ล เธเยอร์ กล่าวว่า วันหยุดยาวนานในปีนี้อาจมีขึ้นเพื่อลดความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล
เวียดนามมีวันหยุดราชการเพียง 10 วันต่อปี เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชาที่มีวันหยุด 27 วัน ไทย 14 วัน และจีน 11 วัน และวันชดเชยอีก 5 วัน.