xs
xsm
sm
md
lg

“ธปท.” โยนคณะทำงาน “คลัง” ตัดสินจะคุมการซื้อขายทองคำหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ธปท.” โยนคณะทำงาน “คลัง” ตัดสินจะคุมการซื้อขายทองคำหรือไม่ เผยประชุมนัดแรก ต.ค.นี้ พร้อมย้ำ ศก.ไทยในระยะสั้นยังเติบโตต่อได้

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังปาฐกถาเรื่อง “ระบบเศรษฐกิจการเงินโลกและการปรับตัวของไทย” ในงาน AIT Charity Dinner Talk เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลความเห็นเรื่องการจะเข้าไปกำกับดูแลการซื้อขายทองคำได้ เพราะตอนนี้ทางกระทรวงการคลัง ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะอยู่แล้ว โดยคณะทำงานชุดนี้มี นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธาน

“หากผู้ค้าทองอยากจะเข้าหารือเพื่อเคลียร์ประเด็นต่างๆ คงต้องรอเข้าหารือกับทางคณะทำงานเอง คงไม่ต้องมาหารือกับ ธปท.แล้ว ถามว่าถ้า ธปท.ห่วงการค้าทองคำจะกระทบอัตราแลกเปลี่ยนหรือไม่ หรือเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาคมผู้ค้าทองคำ ที่เสนอให้ตั้งตลาดโกลด์ สปอต ขึ้นมาดูแลจะได้หักชำระราคาไม่ให้กระทบค่าเงินนั้น ผมว่าตอนนี้เรามีคณะทำงานอยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งผู้อำนวยการ สศค.เป็นประธาน ขอให้คณะทำงานได้ทำงานก่อน เพราะประชุมครั้งต่อไปก็ประมาณเดือน ต.ค.นี้”

นายประสาร กล่าวว่า ส่วนการหารือคณะทำงานจะใช้เวลานานแค่ไหน เพราะทางผู้ค้าทองคำก็ต้องการจะรู้กติกาที่ชัดเจนนั้น ผมมองว่าเท่าที่ดูตอนนี้ก็คงไม่น่ามีใครเดือดร้อน ส่วนที่ผู้ค้าทองคำบอกว่าถ้ากติกาในประเทศไทยไม่ชัดเจนอาจจะมีการย้ายโบรเกอร์การค้าทองคำไปที่ประเทศสิงคโปร์นั้น ผมคิดว่าให้คณะทำงานเป็นคนพูดเป็นคนชี้แจงจะดีกว่า

นอกจากนี้ นายประสาร แสดงปาฐกถาในงานสมาคมนักเรียนเก่าสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจุบันที่มีความผันผวนในตลาดการเงินโลกค่อนข้างมาก จนทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น มองว่าแนวคิดเรื่องการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณเงิน (คิวอี) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) น่าจะค่อยเป็นค่อยไปตามภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ปรับดีขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุด แม้เฟดยังยืนยันที่จะทำคิวอีที่ระดับเดิมคือ 8.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ด้วยความอ่อนไหวต่อข่าวสารของตลาดการเงิน ยังทำให้ธนาคารกลางกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ รวมทั้ง ธปท.ยังต้องระมัดระวัง และคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลความผันผวนไม่ให้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อภาคเศรษฐกิจจริง

“การแก้ไขปัญหาของสหรัฐฯ ถึงที่สุดต้องยึดผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง แม้ช่วงหลังจะคำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศเล็กบ้าง จึงได้มีการย้ำตลาดให้ทราบถึงแผนการปรับนโยบายอยู่เนืองๆ แต่ก็มีการดำเนินนโยบายที่พลิกโผเช่นนี้ผ่านมา ไม่ได้ปรับลดคิวอีตามที่ตลาดคาด ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ เราต้องรักษาความยืดหยุ่นของนโยบายที่มีอยู่ โดยรักษาให้มีพื้นที่ที่เพียงพอในการทำนโยบาย (policy space) ในแง่ของนโยบายการเงินก็ต้องสามารถจะลดดอกเบี้ยได้อย่างเหมาะสมตามสภาวะเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการมีเครื่องมือ และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน และในแง่ของนโยบายการการคลัง คือ สามารถในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจำเป็นต้องรักษาการขาดดุล และระดับหนี้สาธารณะไม่ให้สูงจนเกินไป”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องท้าทายกับภาวะที่เศรษฐกิจเอเชียดูเหมือนจะไม่เข้มแข็งเท่ากับที่เคยคาดการณ์ไว้ สะท้อนจากจีนชะลอ อินเดีย และอินโดนีเซียมีปัญหาขาดดุลการชาระเงิน การฟื้นตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักก็ยังมีความไม่แน่นอน และล่าช้ากว่าที่คิด ทั้งหมดนี้ ส่งผลย้อนให้ภาพการส่งออกของไทยเปลี่ยนแปลงไปจากที่คาด และเมื่อรวมกับการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลงหลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเริ่มทยอยหมดลง ทำให้แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเองไม่สดใสเหมือนที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องดูแลปรับปรุงเครื่องจักรที่ขับเคลื่อนการเติบโต (driver of growth) ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ และรากฐานที่ดีให้แก่เศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ธปท.ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงบ้าง แต่คงไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างที่หลายคนมีความกังวล ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน ในระยะหลังมานี้การขยายตัวของสินเชื่อก็ลดความร้อนแรงลง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนลงได้บ้าง ทั้งนี้ สถาบันการเงินส่วนใหญ่เห็นว่าสินเชื่อจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าผู้ประกอบการ และประชาชนจะยังมีสภาพคล่องหล่อเลี้ยงในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว

สำหรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ธปท.ยังติดตามดูอย่างใกล้ชิด จึงขอให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจการเงินไทยในวันนี้แตกต่างจากสถานการณ์ปี 2540 อย่างสิ้นเชิง เพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่น สถาบันการเงินก็เข้มแข็ง มีระบบกำกับตรวจสอบที่ดูแลความเสี่ยงที่รอบด้านมากขึ้น มีกันสำรองอย่างเพียงพอ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูง ตลอดจนพื้นฐานระบบเศรษฐกิจการเงินไทยในปัจจุบันก็มีความยืดหยุ่น และมีประสิทธิภาพเพียงพอในการรับมือกับความผันผวนของเงินทุนได้ และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพในระยะสั้น แต่เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เพื่อก้าวให้พ้นจากกับดักของประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ผลสำรวจของ World Economic Forum ล่าสุด เมื่อต้นเดือน ก.ย.นี้ พบว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 37 แต่เมื่อมองลึกลงไปในรายละเอียดของ 3 ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขัน จะพบว่า ไทยเป็นประเทศที่คะแนนด้านปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยการเพิ่มประสิทธิภาพอยู่ในระดับสูง แต่ปัจจัยนวัตกรรมและศักยภาพทางธุรกิจไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 3.83 จากคะแนนเต็ม 7 เมื่อเทียบกับคะแนนของประเทศสิงคโปร์ที่ 5.17 หรือมาเลเซีย 4.70 หัวใจสำคัญของการยกระดับเศรษฐกิจของไทยจึงน่าจะเป็นการปรับตัวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น